SHARE
SCB EIC ARTICLE
04 มิถุนายน 2015

ตลาดเสื้อผ้ามุสลิมในอาเซียน

ปัจจุบันประเทศในแถบอาเซียนมีประชากรมุสลิมราว 400 ล้านคน โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในอาเซียนอีกทั้งยังมากที่สุดในโลกราว 240 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรมุสลิมทั่วโลก นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว ประเทศมาเลเซียหรือบรูไนก็มีประชากรมุสลิมเกินกว่าครึ่งของประชากรในประเทศ โดยมาเลเซียมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 60% จากประชากร 30 ล้านคน ในขณะที่บรูไน 70% ของประชากรในประเทศ 4.3 แสนคนเป็นชาวมุสลิม สำหรับประเทศสิงคโปร์รวมถึงประเทศไทย แม้ประชากรส่วนใหญ่จะไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ 15% และ 10% ของประชากรในประเทศตามลำดับก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน ดังนั้นด้วยจำนวนประชากรมุสลิมในอาเซียนที่มีอยู่จำนวนมากประกอบกับแนวโน้มของประชากรมุสลิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกถึงปีละ 1.5% ในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า เปรียบเทียบกับประชากรที่นับถือศาสนาอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ต่อปี จากการศึกษาของสถาบันวิจัยพิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา การทำความเข้าใจในวิถีของชาวมุสลิมรวมถึงการผลิตสินค้าและบริการเพื่อรองรับความต้องการของประชากรมุสลิมจึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญเนื่องจากตลาดที่มีขนาดใหญ่

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Post Today ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2015

 

ThinkstockPhotos-123220487-s.jpg

 

ปัจจุบันประเทศในแถบอาเซียนมีประชากรมุสลิมราว 400 ล้านคน โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในอาเซียนอีกทั้งยังมากที่สุดในโลกราว 240 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรมุสลิมทั่วโลก นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว ประเทศมาเลเซียหรือบรูไนก็มีประชากรมุสลิมเกินกว่าครึ่งของประชากรในประเทศ โดยมาเลเซียมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 60% จากประชากร 30 ล้านคน ในขณะที่บรูไน 70% ของประชากรในประเทศ 4.3 แสนคนเป็นชาวมุสลิม สำหรับประเทศสิงคโปร์รวมถึงประเทศไทย แม้ประชากรส่วนใหญ่จะไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ 15% และ 10% ของประชากรในประเทศตามลำดับก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน ดังนั้นด้วยจำนวนประชากรมุสลิมในอาเซียนที่มีอยู่จำนวนมากประกอบกับแนวโน้มของประชากรมุสลิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกถึงปีละ 1.5% ในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า เปรียบเทียบกับประชากรที่นับถือศาสนาอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ต่อปี จากการศึกษาของสถาบันวิจัยพิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา การทำความเข้าใจในวิถีของชาวมุสลิมรวมถึงการผลิตสินค้าและบริการเพื่อรองรับความต้องการของประชากรมุสลิมจึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญเนื่องจากตลาดที่มีขนาดใหญ่

 

ปัจจุบันชาวมุสลิมโดยเฉพาะสตรีเริ่มตื่นตัวและให้ความใส่ใจเกี่ยวกับแฟชั่นการแต่งกายมากขึ้น อันจะเห็นได้จากการที่สตรีชาวมุสลิมมักเลือกใช้เครื่องประดับมาประยุกต์กับเสื้อผ้า หรือ ฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะสตรีอิสลาม) ที่นิยมตกแต่งด้วยลูกปัดหรือคริสตัลกันมากขึ้นเป็นต้น ส่งผลให้ตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมในอาเซียนเติบโตสูงถึง 10-20% ต่อปี โดยปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 4.5 แสนล้านบาท สำหรับแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของวงการแฟชั่นมุสลิมคงหนีไม่พ้นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดอย่างอินโดนีเซีย อินโดนีเซียมีศักยภาพในการผลิตเสื้อผ้ามุสลิมได้มีมูลค่าสูงถึง 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.68 แสนล้านบาท นอกจากนี้กลุ่มนักออกแบบและบริษัทค้าปลีกท้องถิ่นนำโดย Indonesia Islamic Fashion Consortium ได้พยายามปูเส้นทางให้อินโดนีเซียกลายเป็นเมืองหลวงใหม่แห่งแฟชั่นอิสลาม โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการออกเดินสายโชว์สินค้าในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลางเพื่อนำเสนอนักออกแบบหน้าใหม่ให้กับวงการแฟชั่นมุสลิมในตลาดโลก อีกทั้งยังได้ออกไปให้ความรู้แก่นักออกแบบท้องถิ่นในต่างจังหวัดเกี่ยวกับการตลาดและระบบการผลิตสิ่งทอมุสลิม นอกจากนี้ยังได้จัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นอิสลามเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นช่องทางในการผลักดันสินค้าแฟชั่นมุสลิมออกสู่ตลาดโลก โดยคาดว่าตลาดเสื้อผ้ามุสลิมในอินโดนีเซียจะสามารถเติบโตและมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ภายในปี 2563 สำหรับประเทศไทยมีขนาดตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมในอาเซียนเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 12,400 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีขนาดตลาดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,216 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 36,480 ล้านบาทต่อปี

 

ด้วยประชากรมุสลิมที่คาดว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกถึงปีละ 1.5% ประกอบกับความต้องการเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมในแถบอาเซียนที่มีความต้องการสูงขึ้นทุกๆ ปี อีไอซี มองว่า “อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิม” เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต อีกทั้งการเปิดประตูสู่ AEC จะส่งเสริมโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพิ่มมากขึ้นในการส่งออก ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยกว่า 500 รายโดยเฉพาะผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิม และเริ่มมีการขยายการผลิตเพื่อส่งออกไปสู่กลุ่มลูกค้าแฟชั่นมุสลิมนอกประเทศในระดับภูมิภาคเออีซี (AEC) อีไอซี มองว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการออกแบบและผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิมไม่น้อยไปกว่าอินโดนีเซีย จากการที่ผู้ประกอบการไทยมีการผลิตสิ่งทอมุสลิมที่มีคุณภาพสูง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากการใช้ประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมาทำเป็นลวดลายผ้า ส่งผลให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดระดับบนมากขึ้น และสามารถเจาะตลาดในแถบอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ได้มากขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีใน AEC โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซียซึ่งประชาชนมีกำลังซื้อที่สูง (Purchasing Power) ถึง 40,250 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมากกว่ากำลังซื้อของคนไทยเท่าตัว ทั้งนี้ ธุรกิจไทยควรเน้นให้ความสำคัญกับสินค้าเครื่องแต่งกายที่มีคุณภาพมากกว่าราคา และควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดระดับกลางถึงระดับล่างเนื่องจากมีผู้เล่นที่ได้เปรียบจากการใช้เทคโนโลยีการผลิตเป็นปริมาณมากซึ่งมีความได้เปรียบต่อขนาดอยู่แล้วทั้งในอินโดนีเซียและจีน ซึ่งส่งผลให้ผลิตเสื้อผ้ามุสลิมขายได้ในราคาถูก นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังสามารถต่อยอดมองหาตลาดใหม่ๆ เช่นกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากและมีกำลังซื้อสูงเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจเครื่องแต่งกายมุสลิมเพื่อส่งออก นอกจากจะต้องออกแบบเสื้อผ้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมีความระมัดระวังในการออกแบบเสื้อผ้าให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามเนื่องจากวัฒนธรรมของชาวมุสลิมมีข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ห้ามใส่ชุดที่รัดรูปหรือชุดที่ใส่แล้วแลดูหวือหวา เป็นต้น อีกทั้งยังต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ดี ยกตัวอย่างเช่นประเทศมาเลเซียที่มีการนำหลักข้อบังคับการแต่งกายของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า “ออรัต” (Aurat) มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่นห้ามนำรูปสัตว์ใหญ่มาตกแต่งร่างกายทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น นอกจากนี้ชาวมุสลิมในมาเลเซียไม่นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเหลืองเนื่องจากถือว่าเป็นสีของกษัตริย์ แต่จะนิยมเสื้อผ้าสีเข้มเช่นสีเทาหรือน้ำตาล รวมถึงสีดำที่ถือว่าเป็นสีที่เป็นมงคลดังเช่นสีแดงของชาวจีน ดังนั้นผู้ประกอบการที่สนใจจะผลิตสินค้าสำหรับตลาดมุสลิมในมาเลเซียจะต้องศึกษากฎข้อบังคับของออรัตให้ดีเสียก่อน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ