กระแสนิยมการออกกำลังกายกับโอกาสของธุรกิจฟิตเนสไทยที่ไม่ควรมองข้าม
ปัจจุบันเทรนด์การรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น หนึ่งในรูปแบบการออกกำลังกายที่กำลังได้รับความนิยมคือการออกกำลังกายใน “ฟิตเนส” โดยกระแสความนิยมการออกกำลังกายยังได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย วันนี้เราจึงถือโอกาสพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับธุรกิจฟิตเนส
ผู้เขียน: กวีพล พันธุ์เพ็ง
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 27 พฤษภาคม 2558
ปัจจุบันเทรนด์การรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น หนึ่งในรูปแบบการออกกำลังกายที่กำลังได้รับความนิยมคือการออกกำลังกายใน “ฟิตเนส” โดยกระแสความนิยมการออกกำลังกายยังได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย วันนี้เราจึงถือโอกาสพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับธุรกิจฟิตเนส
ฟิตเนสเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและมีพื้นที่ในการออกกำลังกายค่อนข้างจำกัดบวกกับการจราจรที่ติดขัด หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศจะพบว่า ประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่จัดสรรสำหรับการออกกำลังกายค่อนข้างน้อย โดยพื้นที่สวนสาธารณะต่อประชากรในเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์คและลอนดอนอยู่ที่ 26 และ 32 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ตามลำดับ ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 5 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน หรือหากจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้นกล่าวคือสำหรับกรุงเทพฯ พื้นที่ออกกำลังกายขนาดเท่ากับหนึ่งสนามฟุตบอลจะต้องรองรับคนออกกำลังกายกว่า 1,500 คน ซึ่งมากกว่านิวยอร์คและลอนดอนที่ต้องรองรับเพียงราว 300 คน
ธุรกิจให้บริการสถานที่ออกกำลังกายหรือ “ฟิตเนส” ในประเทศไทยมีมานานแล้วแต่ในอดีตยังเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีราคาที่สูงและเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ดึงดูดทั้งในแง่ของวิธีการออกกำลังกายที่ยังไม่หลากหลายและในแง่ของเวลา โดยแต่เดิมกลุ่มลูกค้าในฟิตเนสจะเป็นลูกค้าวัยทำงานที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมรักษาสุขภาพหรือต้องการสร้างกล้ามเนื้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยวิธีการออกกำลังกายจะเป็นการยกลูกน้ำหนักร่วมกับการวิ่งบนสายพาน ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเลือกจะใช้เวลาอยู่ในฟิตเนส
ประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่ในอดีตจะไม่นิยมเข้าฟิตเนสเท่าใดนักเนื่องจากใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ออกกำลังกายคือไม่มีเวลา
ในปัจจุบันการออกกำลังกายในฟิตเนสกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นจากเทรนด์การเล่นฟิตเนสแนวใหม่หรือ Functional Training ที่ตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมความเป็นเมืองที่มีความเร่งรีบมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นโมเดลฟิตเนสที่ใช้พื้นที่และเงินลงทุนน้อย ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในสหรัฐฯ ด้วยลักษณะการออกกำลังกายที่เน้นการฝึกด้วยท่าทางในชีวิตประจำวัน เช่น การยกของและการลุกนั่ง ซึ่งเป็นการผสมผสานการออกกำลังกายแบบ แอโรบิค (aerobic) และ แอนาโรบิค (anaerobic) เข้าไปในโปรแกรมการออกกำลังกายทำให้สามารถย่นระยะเวลาการออกกำลังกายจากราว 1-2 ชั่วโมงต่อวัน เหลือเพียง 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และสามารถตอบโจทย์การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและบริหารหัวใจได้ในโปรแกรมเดียว นอกจากนี้ การออกกำลังกายลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำหนักของร่างกายเป็นตัวต้านทาน (body weight training) ทำให้ใช้พื้นที่และเงินลงทุนค่อนข้างน้อย โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ประกอบการรายย่อยเปิดให้บริการฟิตเนสลักษณะดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีกิจการฟิตเนสเปิดใหม่กว่า 50 รายจากจำนวนกิจการเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 150 ราย
ตลาดฟิตเนสไทยมีโอกาสขยายได้อีกมากจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้บริการฟิตเนสมากขึ้น โดยจากแบบสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าสัดส่วนของประชากรไทยในช่วงอายุ 15-59 ปี ออกกำลังกาย เพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2007 เป็น 16% ในปี 2011 โดยเทรนด์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกจากกระแสนิยมการเล่นฟิตเนสที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามของอีไอซีพบว่ากลุ่ม Gen Y (อายุ 15-35 ปี) ระบุว่าใช้บริการฟิตเนสอยู่ที่ 17% อย่างไรก็ตามตลาดฟิตเนสมีศักยภาพในการขยายตัวอีกมาก โดยจากรายงานของ International Health Racquet & Sportsclub Association สัดส่วนของประชากรไทยที่ใช้บริการฟิตเนสมีเพียง 0.6% ของประชากรซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวเลขค่าเฉลี่ยของชาติในทวีปเอเชียซึ่งอยู่ที่ 8%
กระแสความนิยมของการออกกำลังกายยังได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬาที่ยอดขายขยายตัวเฉลี่ยต่อปีกว่า 9% ในปี 2010-2014 ซึ่งขยายตัวเร็วกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ขยายตัวเพียง 5% และยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสดังกล่าวอีก เช่น ธุรกิจอาหารเสริมที่ขยายตัวเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 20% ในปี 2010-2014 ธุรกิจสอนการออกกำลังกายแบบวีดีโอ เช่น T25 ที่พิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วในปี 2014 และ ธุรกิจแอพพลิเคชั่นฟิตเนสบนสมาร์ทโฟนที่กำลังได้รับความนิยม
อีไอซีมองว่าตลาดกลุ่มลูกค้าสูงอายุเป็นอีกหนึ่งโอกาสของธุรกิจฟิตเนสจากอานิสงส์ของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ จากฐานลูกค้ากลุ่มสูงอายุที่กำลังขยายตัว โดยในปี 2030 ไทยจะมีผู้สูงอายุจำนวนกว่า 17 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรไทย และ แนวโน้มการปรับตัวของผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่สนใจการออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อเตรียมกับการเข้าสู่วัยเกษียณ จากแบบสอบถามของอีไอซีในกลุ่มผู้สูงอายุพบว่ากว่า 77% ของกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต (กลุ่มอายุ 40-60 ปี ในปัจจุบัน) ระบุว่าจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น
โมเดลที่แพร่หลายในต่างประเทศคือการให้บริการสถานที่ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในด้านการออกกำลังกาย สุขภาพ และโภชนาการควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างธุรกิจดังกล่าวที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ คือ Welcyon ผู้ให้บริการสถานที่ออกกำลังกายและออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายให้แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งยังมีบริการที่ปรึกษาทางกายภาพและโภชนาการเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพและมีความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างกัน
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้บริโภคนำมาสู่โอกาสขยายตัวของธุรกิจฟิตเนสซึ่งเป็นบทเรียนที่เน้นย้ำว่าโอกาสทางธุรกิจมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเราคงได้เห็นคนไทยทุกเพศทุกวัยมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ