SHARE
INSIGHT
18 กรกฏาคม 2013

ปรับมุมมอง ส่องธุรกิจในยุค Connectivity

การเชื่อมโยงที่มีมากขึ้นทั้งในไทย และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นับเป็นการพลิกโฉมการทำธุรกิจที่สำคัญ และเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่แบบก้าวกระโดดที่ภาคเอกชนไม่อาจมองข้ามได้ ความตั้งใจของรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ จะเป็นตัวเร่งสำคัญที่เอื้อให้เกิดโอกาสในการทำธุรกิจของภาคเอกชนในหลายด้าน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อช่วยแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของตน ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป


5887_20130715163209.jpg

ปรับมุมมอง ส่องธุรกิจในยุค Connectivity

การเชื่อมโยงที่มีมากขึ้นทั้งในไทย และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นับเป็นการพลิกโฉมการทำธุรกิจที่สำคัญ และเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่แบบก้าวกระโดดที่ภาคเอกชนไม่อาจมองข้ามได้ ความตั้งใจของรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ จะเป็นตัวเร่งสำคัญที่เอื้อให้เกิดโอกาสในการทำธุรกิจของภาคเอกชนในหลายด้าน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อช่วยแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของตน ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป  

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับภาษาไทย

เรื่องในเล่ม

1034_20100719093921.gif  ส่องโอกาสทางธุรกิจ...จากความเชื่อมโยง ด้านคมนาคมขนส่ง (Transportation connectivity) 
ความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง (Transportation connectivity) ความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง  รวมไปถึงความตกลงต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งระหว่างประเทศ จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของไทยอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงทางถนนกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายต่อไปยังจีน อินเดีย สนับสนุนให้ไทยก้าวไปเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค หรือการขนส่งระบบรางที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ช่วยผลักดันและอำนวยความสะดวกด้านการค้าภายในภูมิภาค การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิต อีกทั้งจะเป็นโอกาสของธุรกิจต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดที่มีศักยภาพ มีเส้นทางคมนาคมตัดผ่าน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายตลาดและการลงทุนให้กับธุรกิจ  

 

1034_20100719093921.gif Cross-border trade mechanism... อีกหนึ่ง กลไกของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
ความเชื่อมโยงด้านการค้าข้ามประเทศ (Cross-border trade connectivity) การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี (free flow of goods) นับเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญในการมุ่งไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน รวมทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายการผลิตภายในภูมิภาคและส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก หรือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ทั้งนี้ นับตั้งแต่อาเซียนได้เริ่มเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 1993 เป็นต้นมา อุปสรรคทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษีได้ถูกทยอยยกเลิกหรือลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเป็นลำดับ เพื่อก่อให้เกิดการค้าเสรีและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันภายในกลุ่ม

 

1034_20100719093921.gif ความเชื่อมโยงออนไลน์ (Virtual connectivity) ... ช่องทางที่ไม่ควรมองข้ามในการเข้าถึงลูกค้าในยุคดิจิตอล 
เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ทำให้เกิดความเชื่อมโยงออนไลน์ (Virtual connectivity) ระหว่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) และการพูดคุยผ่านเว็บบอร์ดต่างๆ และปัจจุบันได้พัฒนากลายมาเป็นการสื่อสารผ่านเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ จากข้อดีที่การสื่อสารดังกล่าวมีทุนที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่องแต่สามารถให้ผลลัพธ์ในการสื่อสารได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และเข้าถึงประชาชนได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่และทุกเวลา ทำให้ภูมิทัศน์ของการทำธุรกิจในยุคใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยการเชื่อมโยงสังคมออนไลน์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจในยุคใหม่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการแต่ละรายจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้

 

1034_20100719093921.gif การเชื่อมโยงด้านแรงงาน (Labor connectivity) กับโอกาสการจ้างงานและการทำธุรกิจของภาคเอกชน
ในส่วนของการพัฒนาด้านแรงงานนั้น ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้ผลักดันให้มีการเชื่อมโยงด้านแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้ร่วมแผนสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี ผ่านการผ่อนคลายกฎระเบียบในเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน และการรับรองฝีมือแรงงานข้ามชาติ การผ่อนปรนและสนับสนุนดังกล่าวส่งผลให้เกิดโอกาสสำหรับภาคเอกชน ทั้งในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และโอกาสในการทำธุรกิจที่มีมากขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนจึงควรเตรียมพร้อมและปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันหากภาคเอกชนต้องการดึงดูดแรงงานฝีมือต่างชาติมาทำงานในองค์กร ภาคเอกชนก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญในการจ้างแรงงานฝีมือต่างชาติมาประกอบด้วย อาทิเช่น การออกแบบโครงสร้างผลตอบแทนการทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติที่มีความน่าสนใจเพียงพอ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และการหลอมรวมความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมในการทำงานเข้าด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการปรับตัว ก็ย่อมจะเชื่อได้ว่า ภาคเอกชนไทยจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านแรงงานต่างๆ ที่ชาติสมาชิกอาเซียนต้องการทำให้บรรลุผล

 

1034_20100719093921.gif ความเชื่อมโยงด้านเงินทุน (Capital connectivity) สะดวกมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจอย่างไร
ภาคเศรษฐกิจจริงที่มีการเปิดเสรีและเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงด้านเงินทุนเพื่อสนับสนุนทั้งการค้าและการลงทุนมากขึ้นด้วย และแม้การเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีเต็มที่ในอาเซียนจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ปัจจุบันธุรกิจก็มีช่องทางบริหารจัดการเงินทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การระดมทุนด้วยการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศซึ่งมีการเอื้ออำนวยความสะดวกมากขึ้นจากการตกลงยอมรับมาตรฐานบัญชี IFRS การออกพันธบัตรในสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งอนุญาตทั้งธุรกิจไทย หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างของระดับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศในอาเซียน ส่งผลให้ยังมีอีกหลายด้านของการผ่อนปรนและอำนวยความสะดวกด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่ยังต้องดำเนินการอีกมากและคงทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการเงินทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

1034_20100719093921.gif ความแตกต่างของระบบภาษี...อีกโอกาสในการปรับโครงสร้างธุรกิจ 
การทำธุรกิจข้ามชาติกระตุ้นให้บริษัทต้องมีการปรับตัวเชิงองค์กร  ซึ่งนอกเหนือไปจากประเด็นการเพิ่มศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคล และการหาช่องทางบริหารจัดการเงินทุนแล้ว  บริษัทควรมีการจัดโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการลดต้นทุนอีกด้วย โดยหนึ่งในแรงกดดันที่สำคัญคือ การที่บริษัทจะต้องเผชิญกับระบบภาษีที่แต่งต่างจากไทยในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าวมักมีผลโดยตรงต่อต้นทุนการดำเนินงาน และเป็นตัวแปรกำหนดราคาสินค้าและรูปแบบการทำธุรกิจที่สำคัญจึงกลายเป็นความจำเป็นของผู้ประกอบการที่ต้องมีการวางแผนทางภาษีควบคู่ไปกับการศึกษาศักยภาพของตลาดก่อนตัดสินใจเลือกเข้าลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง อนึ่ง การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อลดภาษีการค้าระหว่างกันได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ส่งออกในระดับหนึ่ง  ในขณะที่กฎหมายลงทุนในแต่ละประเทศในอาเซียนก็ให้เอกสิทธิทางภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติเช่นกัน  อย่างไรก็ดี ยังมีแนวทางการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีแนวทางอื่น เช่น การตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุน (investment holding company) หรือการใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Tax Agreement: DTA) เป็นต้น ซึ่งเมื่อบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเพื่อลดต้นทุนภาษีลงได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็ย่อมมีความมั่นใจมากขึ้นในผลตอบแทนจากการทำธุรกิจในอาเซียนภายใต้แรงผลักดันจากการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค

 

1034_20100719093921.gif ความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้น...บทสรุปและโจทย์ข้อต่อไปของภาคเอกชน  
ความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่มีมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคเอกชนไทยในการกระจายสินค้าและบริการภายในประเทศ ขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการระดมทุน หรือความสามารถในการหาแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดโอกาสมากมาย แต่ในขณะเดียวกันยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นภาคเอกชนไทยจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมพร้อมในการบริหารความเสี่ยงนั้น


 


Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ