SHARE
IN FOCUS
01 เมษายน 2015

นาโนไฟแนนซ์ทางออกของหนี้นอกระบบ?

อีไอซีคาดว่าภายใน 2 – 3 ปีแรก ยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 - 60,000 ล้านบาท โดยแม้ว่านาโนไฟแนนซ์จะเป็นสินเชื่อที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบอาชีพเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น แต่ในช่วงแรกคาดว่าความต้องการขอสินเชื่อจะมาจาก 2 กลุ่มใหญ่หลัก คือ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีไอซีมองว่า มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้แต่คงเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจาก 1) ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก 2) ผู้ประกอบการไม่มีความคุ้นเคยกับลูกหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ และ 3) แม้จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นแต่ผู้ประกอบการยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ใหม่

ผู้เขียน: ปิยากร ชลวร และ ภคณี พงศ์พิโรดม 

 

nanofiance_pic.jpg
 

 

thubnail_nanaofinance.jpg

  • อีไอซีคาดว่าภายใน 2 – 3 ปีแรก ยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 - 60,000 ล้านบาท โดยแม้ว่านาโนไฟแนนซ์จะเป็นสินเชื่อที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบอาชีพเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น แต่ในช่วงแรกคาดว่าความต้องการขอสินเชื่อจะมาจาก 2 กลุ่มใหญ่หลัก คือ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

  • อีไอซีมองว่า มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้แต่คงเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจาก 1) ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก 2) ผู้ประกอบการไม่มีความคุ้นเคยกับลูกหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ และ 3) แม้จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นแต่ผู้ประกอบการยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ใหม่

 

นาโนไฟแนนซ์เป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งปัจจุบันมีปริมาณยอดหนี้กว่า 5 ล้านล้านบาท และเป็นภาระหนักของกว่า 8 ล้านครัวเรือนไทย ในปี 2557 จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายมีสูงถึง 8 ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน1 โดยแต่ละครัวเรือนมีหนี้นอกระบบสูงถึงครัวเรือนละ 600,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จึงได้พยายามออกมาตรการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกโครงการโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้น จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น โดยผู้ที่ประสงค์จะขอสินเชื่อดังกล่าวสามารถกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี โดยผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ส่วนทางด้านผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ไม่เกิน 7 เท่า (รูปที่ 1)

สาเหตุของปัญหาหนี้นอกระบบที่สำคัญคือ การที่ผู้กู้ไม่คำนึงถึงความสามารถของตนในการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมการหมุนหนี้ไปเรื่อยๆ จากงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย2 ประชาชนต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบด้วยหลายสาเหตุ ทั้งการไม่มีวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามกระแสบริโภคนิยมจนทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และยังนำไปสู่พฤติกรรม “การหมุนหนี้” กล่าวคือ เป็นพฤติกรรมที่ผู้กู้มักจะกู้ยืมเพื่อนำเงินจากแหล่งเงินกู้หนึ่งไปใช้คืนแหล่งกู้ยืมอีกแห่งหนึ่งที่เร่งรัดมากกว่า จึงทำให้ผู้กู้มีสภาพความเป็นหนี้ที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้จากมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย3 ปัจจัยที่เป็นรากของพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้องได้แก่ 1) ความยากจน ซึ่งทำให้ประชาชนมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของตนและนำไปสู่การเป็นหนี้ 2) การเติบโตของลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งนำไปสู่การใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง และ 3) ขาดความสนใจในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางการเงิน ส่งผลให้การส่งเสริมความรู้ทางการเงินไม่ประสบผลสำเร็จ ปัจจัยทั้งสามทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องหันไปพึ่งพิงการก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นการสร้างภาระดอกเบี้ยที่สูงมากแก่ประชาชน

สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะเข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่จะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาลเลือกที่จะใช้สถาบันการเงินของรัฐหรือธนาคารของรัฐเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (รูปที่ 2) ตัวอย่างเช่น “โครงการธนาคารประชาชน” โดยธนาคารออมสิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและชำระหนี้อื่นๆ แก่ประชาชน หรือ “โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน” โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ออกมาเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินของเกษตรกรอันเกิดจากเหตุจำเป็นที่สุจริต เป็นต้น อย่างไรก็ดีแม้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะมีมาตรการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในหลายรูปแบบ แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างเพียงบางส่วน สำหรับมาตรการล่าสุดที่ถูกนำมาใช้ คือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลต่างมุ่งหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้นและบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุดมากขึ้น เพราะลักษณะเด่นของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ คือ กระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กล่าวคือไม่จำเป็นต้องมีรายได้ประจำ สลิปเงินเดือน หรือเคยเดินบัญชีกับธนาคารมาก่อน ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน รวมถึงหากผู้กู้เคยติดเครดิตบูโรมาก่อนก็จะพิจารณาผ่อนผันให้ เป็นต้น (รูปที่ 3)

อีไอซีมองว่ายอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายใน 2 – 3 ปีแรก น่าจะอยู่ที่ราว 35,000 - 60,000 ล้านบาท โดยความต้องการขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สำหรับกลุ่มแรก กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ อีไอซีคาดว่าลูกหนี้ในกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 0.5% - 1% ของปริมาณหนี้นอกระบบทั้งหมด หรือประมาณ 25,000 - 50,000 ล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญที่มองว่าสัดส่วนของหนี้นอกระบบที่จะเข้ามาในระบบมีไม่มากนักคือ กลุ่มลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายและไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนกับการกู้ยืมเงินในระบบแม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เลือกที่จะเข้ามากู้ในระบบ แต่หากเป็นเพียงการกู้เงินเพื่อที่จะนำไปใช้ชำระหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียวแทนที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ สุดท้ายเงินที่ได้มาก็จะหมดไปและต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบอีกครั้ง สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินแต่จัดอยู่ในชั้นสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) คือ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เกินกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน (รูปที่ 4) ซึ่งกลุ่มนี้มีความต้องการเงินเพื่อนำไปใช้ในการหมุนหนี้ที่ตนมีอยู่ในระบบเพื่อไม่ให้เสียเครดิตบูโรจนไม่สามารถที่จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบได้อีก ปัจจุบันยอดหนี้ของลูกหนี้ที่จัดอยู่ในชั้นนี้มียอดสินเชื่อ ณ ปลายปี 2557 ราว 32,700 ล้านบาท โดยอีไอซีคาดว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นราว 30% ของปริมาณสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ โดยลูกหนี้กลุ่มนี้น่าจะเข้ามาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แทนการไปกู้นอกระบบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์สูงสุดที่ร้อยละ 36 ต่อปีนั้นถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบมาก

อย่างไรก็ดีการจะขจัดปัญหาหนี้นอกระบบให้เห็นเป็นรูปธรรมยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน แม้มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะสามารถเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวแต่ยังมีเงื่อนไขที่จะบรรลุผลอยู่พอสมควร อีไอซีมองว่าการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ยังต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาให้บริการ ซึ่งจะทำให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เกิดในอัตราที่ไม่สูงนักเนื่องจาก 1) จากผู้ประกอบการหลายรายที่ได้แสดงความสนใจยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จาก ธปท. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก(รูปที่5) และผู้ประกอบการต่างตระหนักว่าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่ผู้กู้จะผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงของตน คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการมีความคุ้นเคยอยู่แล้วมากกว่า ก่อนจะเริ่มขยายการปล่อยสินเชื่อไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ 2)ผู้ประกอบการไม่มีความคุ้นเคยกับลูกหนี้รวมถึงไม่มีช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกหนี้ได้กว้างขวางเหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ 3)มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แม้จะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่น แต่สินเชื่อดังกล่าวยังมีความเสี่ยงอยู่มากจากการที่ไม่มีหลักประกันการกู้ยืมให้กับผู้ปล่อยกู้ ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ประกอบการน่าจะมีวิธีการพิจารณาการให้สินเชื่อโดยตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเข้มงวด ส่งผลให้การเข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของประชาชนยังเป็นไปได้ยากอยู่ดี ดังนั้นเมื่อพิจารณาปัจจัยทั้ง 3 จะเห็นว่า การเคลื่อนย้ายของหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบนั้นคงเป็นไปอย่างช้าๆ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมความรู้ในเรื่องการออมและการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ถูกต้องให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น การติดตามแก้ไขพฤติกรรมลูกหนี้หลังจากได้รับความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญคือการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน


1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2 ไผทชิต เอกจริยกร อ้างอิงในบทความปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย

3 https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Speeches/Gov/SpeechGov_%2016Dec%202014.pdf


 

Implication.png

Implication.gif

  • สำหรับประชาชน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นทางเลือกให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ (รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ใหม่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตน รวมถึงต้องมีวินัยทางการเงิน รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินตัว สำหรับแนวทางการแก้ไขในระยะยาวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน รวมถึงธนาคารต่างๆ ของรัฐ ควรเข้าไปให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการประกอบอาชีพ รวมถึงความรู้ในเรื่องการเงิน โดยจะต้องมีความเป็นรูปธรรมให้เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก

  • สำหรับผู้ประกอบการ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มลีสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคล อีไอซีมองว่าผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งน่าจะมีความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เนื่องจากมีกลุ่มฐานลูกค้าเดิมเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว อีกทั้งมีประสบการณ์และมีความคุ้นเคยกับกลุ่มลูกหนี้มาก่อน ดังนั้นการจะขยายฐานลูกค้าเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่น่าจะทำได้ง่ายกว่า เพราะมีประสบการณ์ในการคัดเลือกลูกค้า คุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมาย และมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ส่วนด้านผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบในเรื่องช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีช่องทางการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีความชำนาญในการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมาก่อน รวมถึงวิธีการติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบงานที่สำคัญของการประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

 

 

รูปที่ 1: คุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประสงค์ขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

ด้านผู้ประกอบธุรกิจ ด้านประชาชน
ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ผู้ที่ประสงค์ขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน เป็นบุคคลธรรมดา เช่น ผู้ประกอบธุรกิจใหม่ ที่อาจไม่มีรายได้ประจำไม่มี Slip เงินเดือน ไม่เคยเดินบัญชีกับธนาคาร แต่เป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้
มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท สามารถกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย
อัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ไม่เกิน 7
(หากมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเกินกว่า 7 เท่า เมื่อได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการลดอัตราส่วนดังกล่าวให้ไม่เกินอัตราที่กำหนด ภายใน 1 ปี (23 มกราคม 2558))
ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม รวมกันไม่เกินร้อยละ 36% ต่อปี (Effective rate)
สามารถจัดหาเงินทุนจากประชาชนได้จากการออกตั๋วเงินและเสนอขายต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement: PP) และการออกหุ้นกู้ ไม่มีหลักประกัน
  อายุสินเชื่อขึ้นกับผู้ประกอบการกำหนดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้


ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ธปท.

 

รูปที่ 2: ลำดับเหตุการณ์การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล

เดือน/ปี โครงการ หน่วยงานเจ้าของโครงการ รายละเอียด
มิ.ย. 2544 โครงการธนาคารประชาชน ธนาคารออมสิน ธนาคารออมสินออก “โครงการธนาคารประชาชน” เพื่อให้เงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและชำระหนี้อื่นๆ โดยธนาคารจะให้กู้ได้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืนไม่เกินรายละ 200,000 บาท นับตั้งแต่ธนาคารออมสินดำเนินโครงการธนาคารประชาชนจนถึงต้นปี 2556 มีวงเงินสินเชื่อรวม 190,000 ล้านบาท
พ.ย. 2546 ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 โดยมีวัตถุประสงค์ไว้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความสมดุลพอดีและความพอประมาณอย่างมีเหตุมีผลภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ธ.ค. 2546 โครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทย รัฐบาลเปิดให้ประชาชนที่มีปัญหาหนี้สินมาลงทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย โดยในระยะแรกเป็นการจัดทำฐานข้อมูลและการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบและหนี้ในระบบธนาคารของรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ม.ค. 2550 โครงการปราบปรามผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่ได้รับอนุญาต ธปท. ธปท. จัดทำโครงการปราบปรามผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่
ไม่ได้รับอนุญาต โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปราบปรามธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบและผิดกฎหมาย อันเกิดจากการปล่อยสินเชื่อบุคคลโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่กฎหมายระบุให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังและอยู่ภายในการกำกับของ ธปท.
ธ.ค. 2552 โครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ กระทรวงการคลัง รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบผ่านธนาคารรัฐ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
มี.ค. 2553 โครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) โดยให้ชุมชนคัดเลือกผู้ที่มีจิตอาสา มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับนับถือและไว้วางใจของคนในชุมชน มาอบรมให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
มิ.ย. 2553 โครงการธนาคารชุมชน ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เริ่มดำเนิน “โครงการธนาคารชุมชน” โดยจัดตั้งธนาคารชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อ ธนาคารชุมชนศรีฐาน ที่จังหวัดเลย
ส.ค. 2553 โครงการบัตรลดหนี้ วินัยดีมีเงิน กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังออก “โครงการบัตรลดหนี้ วินัยดีมีเงิน” สำหรับลูกหนี้ที่เข้าสู่ระบบจากโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมี ประวัติการชำระตรงตามกำหนดตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบอีกต่อไป
ก.ย. 2553 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.ยธ.) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ โดยทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนมาพิจารณา แนวทางให้ความช่วยเหลือ และประสานกับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม
ธ.ค. 2553 โครงการคลังในบ้าน กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังจัดทำ “โครงการคลังในบ้าน" โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อแบบโฮลเซล แก่องค์กรการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ธนาคารชุมชน เพื่อให้สถาบันเหล่านี้ นำไปปล่อยกู้ต่อแก่สมาชิก พร้อมกำหนดเงื่อนไขการกู้ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่าย
ม.ค. 2554 โครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบผ่านธนาคารรัฐ 6 แห่ง ในระยะที่ 2
มิ.ย. 2554 โครงการสินเชื่อ Microfinance กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังจัดทำโครงการสินเชื่อ Microfinance โดยเป็นสินเชื่อที่ให้เพื่อการประกอบอาชีพในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 28 ต่อปี
ม.ค. 2555 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ธปท. จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบด้วย
ปี 2555 โครงการสำรวจผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ธปท. ธปท. ผลักดันให้หนี้นอกระบบกลายเป็นหนี้ในระบบ โดย ธปท. ได้ออกสำรวจผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับในพื้นที่ 29 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภาค อาทิ ร้านทอง และร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในต่างจังหวัด ซึ่งมักปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าที่เป็นคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว เพื่อชักจูงให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามายื่นจดทะเบียนและขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
ก.ย. 2557 โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออก “โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน” เพื่อลดภาระหนี้ของเกษตรกรโดยเฉพาะมูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี
ม.ค. 2558 โครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังจัดทำโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์โดยมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ธปท. กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม

 

รูปที่ 3: ตารางเปรียบเทียบสินเชื่อนอกระบบ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล

  สินเชื่อนอกระบบ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อส่วนบุคคล
อัตราดอกเบี้ย
(รวม ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ)
ประมาณ 120% - 240% ต่อปี
(10% - 20% ต่อเดือน)
ไม่เกิน 36% ต่อปี ไม่เกิน 28% ต่อปี
การคำนวณดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยคงที่ อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก
ยอดการปล่อยสินเชื่อ 2,000 บาท - 100,000 บาทขึ้นไป ไม่เกิน 100,000 บาท 5 เท่าของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 1-2 ล้าน แล้วแต่เงินอนุมัติสูงสุดของแต่ละธนาคาร
จุดประสงค์ในการให้สินเชื่อ
  • นำเงินไปใช้ส่วนบุคคล
  • ต้องการเงินด่วน/นำเงินไปใช้ในยามฉุกเฉิน
  • ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
  • เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ
  • บรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบ
นำเงินไปใช้ส่วนบุคคล
กลุ่มเป้าหมาย
  • ผู้ที่มีรายได้ต่ำ/ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ของสถาบันการเงินในการให้กู้ยืมเงิน
  • ผู้ที่ต้องการเงินด่วน
  • ผู้ประกอบธุรกิจใหม่ ที่อาจไม่มีรายได้ประจำ ไม่มี Slip เงินเดือน ไม่เคยเดินบัญชีกับธนาคาร
  • ผู้ที่มีรายได้ต่ำ/ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ของสถาบันการเงินในการให้กู้ยืมเงิน
เป็นผู้ที่มีรายได้แน่นอน
คุณสมบัติของผู้กู้ ไม่กำหนด เป็นบุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้
  • เป็นผู้ที่มีรายได้แน่นอน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
    • ผู้ที่มีรายได้ประจำเกินกว่า 15,000-20,000 บาท
    • ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว รายได้สุทธิต่อเดือนตั้งแต่ 20,000-30,000 บาทขึ้นไป
  • อายุ 20 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 65 ปี
  • สัญชาติไทย
  • มีเบอร์โทรศัพท์พื้นฐานที่สามารถติดต่อได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
หลักประกัน ไม่มีหลักประกัน ไม่มีหลักประกัน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน
วิธีการติดตามทวงถามหนี้
  • อาจใช้วิธีการรุนแรงและผิดกฎหมายในการติดตามหนี้
  • ชำระคืนเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ตามแต่เจ้าหนี้และลูกหนี้จะตกลงกัน โดยเจ้าหนี้มักจะส่งคนไปเก็บเงินกับลูกหนี้เอง
จัดทำใบแจ้งหนี้เพื่อแจ้งให้ลูกหนี้ทราบพร้อมวันถึงกำหนดชำระ หรือหักบัญชีในแต่ละงวดตามรูปแบบและช่องทางที่ได้ตกลงกันไว้กับลูกหนี้ ทั้งนี้วิธีการติดตามทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติตามแนวทางของ ธปท. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำใบแจ้งหนี้เพื่อแจ้งให้ลูกหนี้ทราบพร้อมวันถึงกำหนดชำระ หรือหักบัญชีในแต่ละงวดชำระคืนเป็นรายเดือน
1) ชำระคืนแบบเต็มจำนวน
2) ชำระคืนขั้นต่ำประมาณ 5% - 8% ของยอดใช้จ่าย หรือ 500 บาท
3) ชำระเงินเกินกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด
ข้อเสีย 1) อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 120% - 240% ต่อปี จึงเป็นการยากที่ลูกหนี้จะสามารถชำระคืนได้
2) ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
3) มักใช้วิธีการรุนแรงในการติดตามหนี้
1) อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 36% ต่อปี
2) เสียเครดิตบูโรหากไม่ชำระคืน
1) อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 28% ต่อปี
2) ต้องมีรายได้ประจำเท่านั้น
3) เสียเครดิตบูโรหากไม่ชำระคืน

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ธปท. และเว็บไซด์ของธนาคารพาณิชย์

 

รูปที่ 4: ยอดคงค้างสินเชื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ และเปอร์เซนต์สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ

note_010458.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ธปท.

 

รูปที่ 5: ผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขอหรือมีข่าวว่าจะยื่นขออนุญาตประกอบการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

บริษัท ลักษณะธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย ทุนจดทะเบียน
(ลบ.)
สินทรัพย์รวม
(ลบ.)
หนี้สิน
(ลบ.)
ส่วนผู้ถือหุ้น
(ลบ.)
สัดส่วนหนี้ต่อทุน
(เท่า)
ช่องทางการขยายฐานลูกค้า
บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถกระบะ และรถเพื่อการเกษตร กลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัท 2,120 8,777 3,671 5,106 0.72 สาขา 602 แห่ง
โดยเฉพาะ ภาคกลาง เหนือ อีสาน และตะวันออก
บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถบรรทุก รถบัสโดยสาร และรถใช้งานเพื่อการเกษตร/สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ กลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัท 1,000 8,592 5,160 3,432 1.50 สาขา 1,000 แห่ง
กรุงเทพ ปริมณฑล ทุกภูมิภาค
บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก และรถแทรกเตอร์/สินเชื่อตลาดสด พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้รับจ้างทั่วไป   10,366 8,801 1,555 5.66 สาขา 163 แห่ง
กระจายทั่วทุกภูมิภาค
บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ บริการเร่งรัดติดตามหนี้ Mr.Speed สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถกระบะ (โดยเฉพาะมือสองเน้นลูกค้าเกรด B,C (ค้างชำระ)) สินเชื่อส่วนบุคคล ผู้ค้ามือถือใน IT Junction (ศูนย์จำหน่ายมือถือครบวงจรของบริษัท)
และกลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัท
300 2,221 1,539 682 2.26 JMT สาขา 8 แห่ง + JAYMART สาขา 163 แห่ง
โดยเฉพาะ กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง เหนือ
และอีสาน
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ และรถเพื่อการพาณิชย์ กลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัท 500 8,767 4,765 3,995 1.19 สาขา 90 แห่ง
โดยเฉพาะ กรุงเทพ ปริมณฑล ภาคตะวันออก
บริษัท ไอร่า แอนด์ไอฟุล จำกัด (มหาชน) บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ลูกค้าต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพรายได้ 15,000 บาทขึ้นไป และกลุ่มสาวโรงงาน โดยเฉพาะในเครือซัมมิท 1,000          
บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์   288          
บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) จำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่น              
บริษัท วัฒนาธนสินทรัพย์ จำกัด บริการสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล              
บริษัท ทิฐิวิสุทธิ์ จำกัด บริการสินเชื่อเช่าซื้อ              
บริษัท กรุงไทยออโต้ลีส จำกัด บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกชนิด              


ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ SETTRADE และเว็บไซต์ของบริษัท

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ