โอกาสการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและผลจากการเก็บภาษี
- กฎหมายที่เกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชาในไทยยังเอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจ แม้การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มส่งผลต่อการปรับขึ้นค่าเรียน และยิ่งเพิ่มการกระจุกตัวของโรงเรียนกวดวิชาตามหัวเมืองหลักมากกว่าหัวเมืองรอง แต่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชายังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในอนาคตจากสัดส่วนนักเรียนกวดวิชาที่ยังไม่มากและระบบการศึกษาที่ยังเน้นการวัดผลจากการสอบ - ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาจะต้องลงทุนทำระบบบัญชีและวางแผนภาษีเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าระบบภาษี และมีแนวโน้มวางแผนการบริหารเป็นธุรกิจมากขึ้น ผู้ประกอบการควรสร้างความแตกต่างออกไปจากเดิมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น
ผู้เขียน: ลภัส อัครพันธุ์
|
|
กฎหมายที่เกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชาในไทยถือว่าไม่ได้เข้มงวดนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจ โดยกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างออกไปตามการให้ความสำคัญของรัฐบาลต่อโรงเรียนกวดวิชาในประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่ารัฐบาลยังเห็นความสำคัญของโรงเรียนกวดวิชาต่อระบบการศึกษาทำให้กฎหมายยังเปิดกว้างต่อการทำธุรกิจ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำในเอเชียที่มีการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาแล้ว ยังถือว่าการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาของไทยนั้นยังมีข้อจำกัดน้อย ญี่ปุ่นและสิงคโปร์นั้นมีการตั้งคณะกรรมการแยกออกจากกระทรวงศึกษาเพื่อกำกับและตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาโดยเฉพาะ ซึ่งในสิงคโปร์มีการกำหนดคุณสมบัติของครูที่จะมาสอนพิเศษของแต่ละระดับชั้น และการควบคุมการโฆษณาที่ไม่ให้เกินจริง นอกจากนี้เกาหลีใต้และฮ่องกงได้มีการจำกัดจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องเรียนเพื่อให้การเรียนกวดวิชามีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ การประกาศเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเป็นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระบบ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบและควบคุมค่าเรียนของโรงเรียนกวดวิชาได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีข้อปฏิบัติกำหนดให้โรงเรียนกวดวิชามีกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ประมาณ 20% ซึ่งเมื่อประกอบกับกฎหมายที่ไม่เข้มงวดมากนักแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่โรงเรียนกวดวิชาในไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มการปรับขึ้นค่าเรียน และยิ่งเพิ่มการกระจุกตัวของโรงเรียนกวดวิชาตามหัวเมืองหลักมากกว่าหัวเมืองรอง จากปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ค่าเรียนพิเศษได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% และคาดว่าโรงเรียนกวดวิชามีแนวโน้มปรับราคาค่าเรียนเพิ่มขึ้นเมื่อมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาระภาษีที่ต้องเสีย โดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาที่มีแผนธุรกิจที่เน้นการขายแฟรนไชส์ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนเหล่านี้เน้นขยายสาขาเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนนักเรียนและไม่ปรับเพิ่มค่าเรียนมากนัก เช่น Kumon ที่ค่าเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นเพียง 7% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับขึ้นค่าเรียนเพราะต้นทุนภาระภาษีที่เพิ่มเข้ามา ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาอื่นๆ มีการปรับขึ้นค่าเรียนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การปรับเพิ่มราคาค่าเรียนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้โรงเรียนกวดวิชาต้องระวังการลงทุนในการขยายสาขามากขึ้นด้วย โดยมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะเลือกทำเลสถานที่ที่มีความหนาแน่นของนักเรียนที่มีความสามารถในการจ่ายค่าเรียนพิเศษที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื่องให้การเข้าถึงโรงเรียนกวดวิชาของนักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อยจะทำได้ยากขึ้น ปัจจุบันจำนวนนักเรียนที่เรียนพิเศษส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 39% ของนักเรียนที่เรียนพิเศษทั้งประเทศ การเลือกทำเลที่ตั้งสาขาใหม่ๆ นั้นจึงจะยิ่งทำให้มีการกระจุกตัวของโรงเรียนกวดวิชาตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ มากกว่าหัวเมืองรอง
สัดส่วนนักเรียนกวดวิชาต่อนักเรียนในระบบที่ยังไม่มากทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชายังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในอนาคต โดยรายได้ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาทั้งระบบมีประมาณ 10,000 ล้านบาท จากจำนวนนักเรียนราว 535,000 คน โดยถ้าคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จะพบว่าสัดส่วนนักเรียนกวดวิชามีเพียง 14% แต่ถ้าเทียบเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็จะมีสัดส่วนนักเรียนกวดวิชาประมาณ 55% ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น เกาหลีใต้มีสัดส่วนนักเรียนกวดวิชาเทียบกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาประมาณ 74% ญี่ปุ่นประมาณ 70% และ สิงคโปร์มีถึง 90% นอกจากนี้ครอบครัวในเกาหลีใต้ยังมีอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเรียนกวดวิชาที่ 16% ในขณะที่ครอบครัวไทยใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษเพียง 2% - 3% ต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีการขยายตัวของจำนวนโรงเรียนและนักเรียนกวดวิชาแบบก้าวกระโดด ซึ่งช่วงปี 2007 - 2013 โรงเรียนกวดวิชาในต่างจังหวัดเติบโต 139% เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่เติบโต 69% และจำนวนนักเรียนที่เรียนพิเศษในต่างจังหวัดขยายตัว 58% เทียบกับในกรุงเทพฯ ที่ขยายตัว 42% แสดงให้เห็นว่าศักยภาพการขยายตัวในต่างจังหวัดนั้นมีมากกว่า และเมื่อคำนึงถึงสัดส่วนต่อจำนวนประชากรแล้วโอกาสการเติบโตในต่างจังหวัดยังมีอยู่มาก
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่ยังเน้นการวัดผลจากการสอบ โดยเฉพาะการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้นจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเติบโตยิ่งขึ้น วัฒนธรรมการศึกษาของไทยนั้นส่งเสริมและเน้นการวัดผลจากคะแนนสอบเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา หรือการสมัครเข้าทำงานก็มักจะถูกคัดกรองจากผลการศึกษาและอันดับของสถาบันที่ผู้สมัครได้รับการศึกษามาในอดีต จากการเก็บสถิติเปรียบเทียบปัจจัยที่นำมาเป็นตัววัดผลในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในไทยให้ความสำคัญกับคะแนนสอบเข้าและผลสอบในอดีตเป็นหลัก แต่คำนึงถึงประสบการณ์ของนักศึกษาในด้านอื่นๆ ค่อนข้างน้อย โดยประเทศในแถบตะวันตกและเอเชียเช่นเกาหลีใต้และมาเลเซียนั้นจะมีการวัดผลในการคัดเลือกนักเรียนที่หลากหลายกว่าเช่น การนำประวัติการทำงานหรือฝึกงาน และการทำงานเป็นอาสาสมัครมาเป็นตัวแปรในการคัดเลือกด้วย นอกจากนี้สถิติปี 2013 ชี้ว่าจำนวนนักเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 อันดับของไทยรับเข้าศึกษาคิดเป็นเพียง 7.8% ของนักเรียนระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันของการศึกษาในไทยนั้นสูงมาก ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อในมหาลัยชั้นนำจำเป็นต้องเรียนกวดวิชาเพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบในการเตรียมตัวสอบให้เหนือกว่านักเรียนคนอื่นๆ
![]() |
|
|
รูปที่ 1: ตารางเปรียบเทียบกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโรงเรียนกวดวิชา
|
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ NCSPE, CPE Singapore, และ UNESCO
รูปที่ 2: ค่าเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28% ตั้งแต่ปี 2010–ปัจจุบัน |
รูปที่ 3: จำนวนนักเรียนที่เรียนพิเศษส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ |
หน่วย: บาท ต่อ คอร์ส | หน่วย: % นักเรียน |
![]() |
![]() |
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการและเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ
รูปที่ 4: สัดส่วนจำนวนนักเรียนที่เรียนพิเศษต่อนักเรียนมัธยมของไทยยังน้อย
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ และ UNESCO
รูปที่ 5: การขยายตัวของจำนวนโรงเรียนกวดวิชาและนักเรียนโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทย
หน่วย: แห่ง, คน
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ
รูปที่ 6: สัดส่วนจำนวนนิสิตในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศต่อนักเรียนระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ทั่วประเทศ ปี 2013
หน่วย: %
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ
รูปที่ 7: ปัจจัยที่มหาวิทยาลัยแต่ละประเทศใช้ในการคัดเลือกรับนักเรียนเข้าเรียน
|
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ OECD