โพแทชคืออะไร? ความสำคัญ ผลกระทบ และอนาคตธุรกิจเหมืองโพแทชในไทย
แร่โพแทชนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเป็นหลัก โดยเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งสามธาตุอาหารหลักของพืชผลที่ใช้ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและป้องกันโรคและแมลง ดังนั้น การขยายตัวของประชากรทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อความต้องการด้านพืชผลทางการเกษตรทำให้ปริมาณความต้องการแร่โพแทชยังสูงต่อเนื่อง โดยมีแคนาดาเป็นตลาดส่งออกหลัก และมีภูมิภาคเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางของตลาดนำเข้าหลักของโลก ในขณะที่ไทยเป็นผู้นำเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย - หากไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าได้จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเหมืองแร่โพแทช เนื่องจากมีจุดแข็งในด้านปริมาณสำรองและคุณภาพของแร่ ตลอดจนความเข้มแข็งของภาคเกษตรและธุรกิจอาหาร แต่ก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น การให้ข้อมูลเพื่ออธิบายถึงผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และการเฟ้นหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการบริหารจัดการเหมืองแร่ จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดและพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชได้อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน: เลิศพงศ์ ลาภชีวะสิทธิ์
โพแทช (Potash) คือกลุ่มแร่อุตสาหกรรมที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญ มักพบรวมกันกับเกลือหิน (rock salt) และเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเป็นหลัก กว่า 90% ของแร่โพแทชที่ผลิตได้ทั่วโลกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามส่วนผสมสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี (นอกเหนือจากไนโตรเจน และฟอสฟอรัส) โดยปุ๋ยโพแทสเซียมมีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มผลผลิตและป้องกันโรคให้แก่พืชผล นอกจากนี้ แร่โพแทชยังสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์บางประเภท เช่นการผลิตแก้ว สบู่และเซรามิก เป็นต้น แต่ไม่แพร่หลายมากนัก แร่โพแทชมักมีส่วนผสมของเกลือในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จึงต้องมีการกระบวนการคัดกรองเกลือออกก่อนจึงจะสามารถนำมาผลิตปุ๋ยได้ โดยเกลือที่แยกออกมาจากแร่โพแทชสามารถนำมาผลิตเกลือที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร หรือสำหรับละลายหิมะตามท้องถนน เป็นต้น
ปัจจุบัน ประเทศแคนาดาเป็นผู้ผลิตและส่งออกโพแทชมากที่สุดในโลก ในขณะที่ทวีปเอเชียนำเข้าโพแทชมากที่สุด ในปัจจุบันแคนาดามีกำลังการผลิตโพแทชประมาณ 30% ของปริมาณการผลิตโพแทชในตลาดโลก รองลงมาคือรัสเซีย เบลารุส และจีน นอกจากนี้ แคนาดายังมีมูลค่าการส่งออกโพแทชสูงที่สุดในโลกหรือร่วม 40% ของการส่งออกทั่วโลก โดยตลาดส่งออกหลักของแคนาดาคือ สหรัฐฯ มากกว่า 50% และทวีปเอเชียประมาณ 30% ในขณะเดียวกัน ตลาดนำเข้าโพแทชที่ใหญ่ที่สุดหนีไม่พ้นทวีปเอเชียซึ่งนำเข้าแร่โพแทชกว่า 40% ของแร่โพแทชในตลาดส่งออกทั้งหมด โดยไทยเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย สังเกตได้ว่า เอเชียมีความต้องการใช้โพแทชอยู่สูงเพราะมีสัดส่วนประชากรที่ทำอาชีพเกษตรกรรมมาก และยังมีอัตราการเติบโตของประชากรที่ค่อนข้างสูง แต่กลับมีอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกโพแทชขนาดใหญ่เพื่อผลิตปุ๋ยสำหรับภาคเกษตรและอาหารอยู่ในจีนเป็นประเทศหลักเพียงประเทศเดียว แม้หลายประเทศในเอเชียมีทรัพยากรแร่โพแทชที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เช่นกัน เช่น เวียดนาม ลาว รวมถึงไทย โดยปัจจุบัน จีนมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 4.4 ล้านตัน และส่งออกได้เพียงประมาณแสนกว่าตัน เมื่อเทียบกับความต้องการใช้โพแทชประมาณ 15 ล้านตันในทวีปเอเชีย ...แล้วอุตสาหกรรมเหมืองโพแทชในไทยเป็นอย่างไร?
ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าโพแทชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย แม้ตามจริงแล้วไทยมีปริมาณสำรองแร่โพแทชในประเทศค่อนข้างสูง แต่ยังไม่เคยมีการขุดนำมาใช้เนื่องจากเกิดแรงต่อต้านค่อนข้างรุนแรง ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชจำนวน 7 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม โดยนำเข้าจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี เป็นหลัก นอกจากนี้แล้ว ยังมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีโดยตรงซึ่งมีส่วนผสมของทั้งไนโตรเจน และฟอสฟอรัสอยู่ด้วยอีกร่วม 5 ล้านตันต่อปี การนำเข้าทั้งโพแทชและปุ๋ยเคมีนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนภาคเกษตรค่อนข้างสูง แม้ตามจริงแล้วไทยมีปริมาณสำรองแร่โพแทชสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกหรือกว่า 4 แสนล้านตัน โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น ชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร และนครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งการผลิตแร่โพแทชได้เองในประเทศจะช่วยลดภาระการนำเข้าได้ระดับหนึ่ง โดยแร่โพแทชที่พบในไทยมีคุณภาพดีอีกเช่นกัน เช่น ที่อุดรธานีมีการสำรวจพบแร่โพแทชชนิดซิลไวต์ค่อนข้างมากซึ่งเป็นชนิดที่มีคุณภาพในการนำไปผลิตปุ๋ยสูงที่สุด นอกจากนี้แล้ว แร่โพแทชยังอยู่ลึกเพียง 150-300 เมตรจากหน้าดิน ทำให้ต้นทุนในการทำเหมืองแร่ในไทยต่ำกว่าผู้เล่นหลายรายในตลาดโลกซึ่งบางแห่งต้องขุดเจาะลึกมากกว่า 1,000 เมตรจากหน้าดิน อย่างไรก็ดี แม้ศักยภาพการขุดเจาะแร่โพแทชของไทยจะสูง แต่ยังไม่มีการขุดขึ้นมาใช้เนื่องจากมีแรงต่อต้านจากภาคประชาชนอย่างหนัก
การทำเหมืองแร่โพแทชในบริเวณเมืองหรือชุมชนที่อยู่อาศัย ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของสังคม เป็นสาเหตุหลักที่การทำเหมืองแร่โพแทชได้รับการต่อต้านมาโดยตลอด ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาหลักที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจและเป็นห่วง เนื่องจากแหล่งแร่โพแทชที่มีศักยภาพจะตั้งอยู่บริเวณต้นลำธาร และใกล้เคียงแหล่งชุมชน จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาแหล่งน้ำเค็มหรือปัญหาดินเค็ม อันเกิดจากกระบวนการแยกเกลือหินออกจากโพแทสเซียมเพื่อนำมาทำปุ๋ย ซึ่งปัญหาน้ำเค็มและดินเค็มมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่พึ่งพิงแหล่งน้ำธรรมชาติในการดำรงชีวิต และพื้นดินในการทำเกษตรกรรม อีกทั้งการขุดแร่โพแทชออกมาจากใต้ดินก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของปัญหาแผ่นดินทรุดตัว หรือแผ่นดินถล่มในอนาคตเช่นกัน นอกจากนี้ ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ การสัมผัสแร่โพแทชในปริมาณมากทำให้เกิดการระคายเคืองและมีผลกระทบต่อระบบขับถ่าย นอกจากนี้ ความเป็นอยู่ของชุมชนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสังคมเปลี่ยนจากภาคเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม และเกิดการแย่งแหล่งน้ำธรรมชาติระหว่างภาคเกษตรและการทำเหมืองเนื่องจากการการขุดเหมืองแร่โพแทชต้องใช้น้ำปริมาณมาก เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน หากอุตสาหกรรมโพแทชได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศ จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศในเชิงธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม ปัจจุบันราคานำเข้าโพแทชอยู่ที่ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในขณะที่ต้นทุนการขุดเจาะแร่โพแทชอยู่ที่ประมาณ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน แม้ราคานำเข้าได้มีการปรับตัวลดลงมาจากระดับ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วงก่อนหน้าวิกฤติการเงินในปี 2008-9 แต่ในระยะยาวแนวโน้มราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งตามดีมานด์ต่อสินค้าเกษตรทั่วโลกที่จะเติบโตรวดเร็วขึ้นตามการเติบโตของประชากรและการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น ดังนั้นหากประเทศสามารถผลิตแร่โพแทชได้เองจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ภาคเกษตรและส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยจะได้วัตถุดิบสำหรับปุ๋ยโพแทสเซียมในราคาต่ำลงและสามารถเพิ่มศักยภาพเป็นฐานการผลิตปุ๋ยที่มีความมั่นคงมากขึ้น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะได้ประโยชน์จากการนำเกลือที่ได้จากการขุดโพแทชไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสบู่ สารซักฟอก และเซรามิก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพืชพลังงานทดแทนจะได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้นเมื่อห่วงโซ่มูลค่าของภาคการเกษตรสามารถเกิดขึ้นในประเทศอย่างครบวงจรเมื่อไทยสามารถขุดแร่โพแทชได้เอง ส่วนในด้านเศรษฐกิจโดยรวมนั้น การทำเหมืองโพแทชจะช่วยให้ไทยลดการนำเข้าแร่โพแทชซึ่งปัจจุบันคิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในระดับล้านล้านบาทหากสามารถลงทุนได้ตามศักยภาพ นอกจากนี้ ในอนาคตหากการขุดเจาะแร่โพแทชและการผลิตปุ๋ยมีปริมาณมากพอยังเป็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการหารายได้เข้าประเทศจากการส่งออกแร่โพแทชหรือปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่ง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น และประชาชนในพื้นที่จะมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น
รูปที่ 1: แคนาดาเป็นผู้ผลิตโพแทชที่สำคัญที่สุดของโลกโดยมีสัดส่วนการผลิตคิดเป็นประมาณ 30% ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ USGS
รูปที่ 2: ทวีปเอเชียมีการนำเข้าแร่โพแทชมากที่สุด โดยไทยจัดเป็นตลาดนำเข้าอันดับที่ 5 ของทวีป
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap
|