SHARE
IN FOCUS
21 มกราคม 2015

เขตเศรษฐกิจพิเศษ … Roadmap ประเทศ และโอกาสทองที่ต้องจับตาจริงหรือ?

ผู้เขียน: โชติกา ชุ่มมี และ ศรีนรินทร์ เผ่าพงษ์ไพบูลย์

 

 101435190.jpg

 
SEZ.png
  • อีไอซีมองว่าแม่สอด อรัญประเทศ และสะเดา คือ 3 พื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) เนื่องจากมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าพื้นที่อื่นๆ มีฐานการผลิตในอุตสาหกรรมและการค้ารองรับอยู่แล้ว
  • ธุรกิจสิ่งทอ แปรรูปอาหาร ธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลักประเภทอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในขณะที่ธุรกิจบริการและธุรกิจที่รองรับการเติบโตของเมือง เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า บริการด้านโลจิสติกส์ ค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการด้านสาธารณสุขจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของเมือง รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนใน SEZ เช่นกัน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Special Economic Zone (SEZ) ระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ (1) แม่สอด/ตาก (2) อรัญประเทศ/สระแก้ว (3) ตราด (4) มุกดาหาร และ (5) สะเดา/สงขลา(ด่านสะเดาและปาดังเบซาร์) (รูปที่ 1) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อดึงดูด FDI, สร้างงาน, กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, จัดระเบียบบริเวณชายแดน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 รวมทั้งเพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามายังพื้นที่ตอนในของประเทศ ซึ่งทั้ง 5 พื้นที่เป้าหมายดังกล่าว (เนื้อที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่) ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในแง่ความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีฐานการผลิตที่ค่อนข้างโดดเด่น มีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและแรงงาน ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง และไม่มีปัญหาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ลงทุนใน SEZ จะได้รับสิทธิประโยชน์ใหม่ของ BOI โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี (รูปที่ 2) แม้ว่าโดยปกตินโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI จะไม่เน้นสนับสนุนธุรกิจที่ใช้แรงงานแต่มุ่งเน้นสนับสนุนธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก แต่ในกรณีนี้ ธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลักที่ตั้งอยู่ใน SEZ จะได้รับการสนับสนุนตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนด โดยจะเป็นธุรกิจที่แต่ละพื้นที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมรมสิ่งทอ, สินค้าเกษตรแปรรูป, เฟอร์นิเจอร์, การท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

ทั้งนี้ กนพ.ยังมิได้มีการประกาศประเภทกิจการที่ได้รับการสนับสนุนของแต่ละพื้นที่ แต่ได้มีการประกาศสิทธิประโยชน์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 โดยนอกจากจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีและลดหย่อนต่อไปในอัตราร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปีแล้ว นักลงทุนยังสามารถหักลดหย่อนค่าขนส่ง ค่าน้ำไฟเป็น 2 เท่า, หักค่าติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกได้เพิ่มอีกร้อยละ 25 ของที่ลงทุนสร้าง, ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร, ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก, ผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ผีมือ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี เช่น การถือครองที่ดินของนักลงทุนต่างด้าว และการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในรายการของ กนพ. แต่เมื่อตั้งอยู่ใน SEZ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 8 ปี กรณีที่ได้รับยกเว้น 8 ปีอยู่แล้วจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นเดียวกับที่กล่าวมาก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการประกาศประเภทกิจการที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละพื้นที่ของ SEZ ในเดือนมกราคม 2015 ซึ่งจะสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุนมากขึ้น

 

อีไอซี ประเมินว่า 3 ใน 5 พื้นที่นำร่องซึ่งมีความน่าสนใจ และมีศักยภาพในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เติบโตเป็น SEZได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ แม่สอด อรัญประเทศ และสะเดา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่จัดได้ว่ามีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งยังมีฐานการผลิตในอุตสาหกรรมและการค้ารองรับอยู่แล้ว โดยในปี 2013 ทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวนี้มีมูลค่าการค้าชายแดน (border trade) รวมกันสูงถึงเกือบ 6 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดของไทย โดย "แม่สอด" จัดได้ว่ามีความพร้อมมากที่สุดในการจัดตั้งเป็น SEZ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก,ธุรกิจคลังสินค้า,ศูนย์กระจายสินค้า และบริการด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากมีการทำการศึกษา สำรวจพื้นที่ และเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว อีกทั้งยังเป็นประตูหน้าด่านที่สำคัญในการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเข้าสู่กรุงย่างกุ้ง และยังสามารถการเชื่อมโยงด้านการผลิตโดยตรงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีที่ตั้งอยู่ห่างออกไปเพียงประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยส่งเสริมความสามารถในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษคู่ขนานร่วมกันในอนาคต เพื่อสร้างความเข้มแข็งในด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยและเมียนมาร์อีกด้วย ในส่วนของแรงงาน แม่สอดมีความพร้อมในเรื่องแรงงานต่างด้าวจากเมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือที่พร้อมจะป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก (labor-intensive industry) เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง

 

นอกจากนี้ ด้วยความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ในฐานะประตูฝั่งตะวันตกของไทยบนระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ East West Economic Corridor (EWEC) พื้นที่บริเวณนี้จึงมีศักยภาพในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เพื่อจัดตั้งเป็นคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่ง อีไอซี มองว่าเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากในอนาคต

 

เช่นเดียวกับ "อรัญประเทศ" ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักพื้นที่ค้าส่ง-ค้าปลีก รวมทั้งธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าระหว่างประเทศ เพราะเป็นประตูฝั่งตะวันออกของไทยบนระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ หรือ Southern Economic Corridor (SEC) สามารถเชื่อมต่อสู่กัมพูชา ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง และนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อออกสู่ทะเลผ่านท่าเรือของเวียดนามได้ ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อธุรกิจขนส่งสินค้าและคลังสินค้าระหว่างประเทศ

 

ขณะเดียวกัน ยังมีความพร้อมในด้านแรงงานจากกัมพูชา ที่สามารถป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนเพื่อรองรับวัตถุดิบจากประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันสำปะหลัง ซึ่งสามารถนำเข้ามาแปรรูปเป็นมันเส้นและแป้งมันในไทยเพื่อส่งออกต่อไป

 

นอกจากนี้ อ.อรัญประเทศยังเป็นพื้นที่การค้าที่มีความคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณตลาดโรงเกลือ ซึ่งพบว่ามูลค่าการค้าชายแดนที่ผ่านด่านอรัญประเทศมีการอัตราการเติบโตสูงถึง 28% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา

 

ในขณะที่ "อำเภอสะเดา" คืออีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพาราและอาหารทะเล รวมทั้งยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่การค้า และเป็น gateway หลักเพื่อรองรับการส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียต่อไป เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย รวมทั้งยังอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมยางพาราของมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ถุงมือยาง ยางล้อหรือชิ้นส่วนรถยนต์ ในมาเลเซียได้อย่างสะดวก ที่สำคัญด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์ ยังเป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดของประเทศอีกด้วย โดยขณะนี้ทางการไทยกำลังเตรียมปรับขยายด่านศุลกากร และอยู่ระหว่างอนุมัติโครงการถนนมอเตอร์เวย์ ของการทางพิเศษสายหาดใหญ่-ด่านสะเดา พร้อมการพัฒนารถไฟรางคู่ เส้นทาง หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2015

 

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนในพื้นที่ยังเสนอให้มีการจัดพื้นที่เขตปลอดภาษี (duty free) ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเน้นพื้นที่ตามรอยตะเข็บชายแดนด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งรูปแบบจะไม่ใช่แค่อาคารขายสินค้า แต่จะเป็นพื้นที่ที่มีการค้าเชิงพาณิชย์ และร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้คนไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซึ่ง อีไอซี เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อแนวโน้มการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รองรับการก้าวเข้าสู่ AEC อย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า

 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านพบว่าทั้ง 3 พื้นที่นำร่องในไทย มีความได้เปรียบในการดึงดูด FDI ในบรรดา 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีชายแดนติดกับไทยข้างต้น (เมียนมาร์ กัมพูชา และมาเลเซีย) พบว่าประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกิจการที่ลงทุนในฝั่งประเทศของตนในระดับที่เทียบเท่ากับที่ประเทศไทยให้กับกิจการที่ตั้งในฝั่งไทยมีเพียงประเทศกัมพูชาเท่านั้น โดยกิจการที่ได้รับการสนับสนุนในกัมพูชาจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 9 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และได้สิทธิถือครองที่ดิน 99 ปี เป็นต้น ประเด็นนี้ทำให้กัมพูชาเป็นพื้นที่ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว แต่หากคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) รวมถึงสภาพถนน เส้นทางคมนาคมที่ใช้ในการขนส่งสินค้าแล้ว จะพบว่าไทยมีความพร้อมและศักยภาพมากกว่า ซึ่งอีไอซีมองว่าไทยจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

 

อย่างไรก็ดี หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่คาดว่าอาจจะชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือการหาที่ดินในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากราคาที่ดินได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนับตั้งแต่มีการประกาศว่าจะมีการจัดตั้ง SEZ โดยในบางพื้นที่ เช่น อำเภอแม่สอด ล่าสุดพบว่าราคาที่ดินพุ่งขึ้นกว่า 5 เท่าตัวและยังคงมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งต้นทุนที่ดินที่แพงขึ้นมากดังกล่าวอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และอาจกระทบต่อแรงจูงใจของนักลงทุนทั้งในพื้นที่และต่างถิ่นที่เตรียมเข้ามาลงทุนได้

อย่างไรก็ดี เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะต้องมีปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการ
บูรณาการการปฏิบัติงาน ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้า การลงทุน และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การให้สิทธิประโยชน์ตามเขตการส่งเสริมจะทำให้มีการสัญจร มีจำนวนคน การขนส่งและการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ยกตัวอย่างเช่น การขยายถนนจาก 3 เลนเป็น 4 เลนจากตัวเมืองของแต่ละจังหวัดที่มุ่งหน้าสู่ด่านชายแดน, สร้างมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา, รถไฟทางคู่จากพื้นที่เขตส่งเสริมต่างๆ มุ่งหน้าสู่ท่าเรือน้ำลึกที่ใกล้จุดพักรถบรรทุก และปรับปรุงสนามบินแม่สอด การจัดให้มีระบบน้ำประปา ไฟฟ้า และสื่อสารโทรคมนาคมในแต่ละจังหวัดก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องมีเพียงพอและทันท่วงทีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในเมืองการค้าชายแดน

 

เนื่องจากการส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้เน้นให้การสนับสนุนธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการอำนวยความสะดวกและการจัดการแรงงานต่างด้าวและการจัดระเบียบชายแดน รัฐมีแผนงานที่จะให้ใช้แรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ โดยมีการทำบัตรรายวันเข้า-ออกที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วยระบบ smart card พร้อมดูแลเรื่องสาธารณสุขแก่แรงงานต่างด้าวโดยจัดให้บัตรประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งการให้บริการที่มีความบูรณาการและมีระบบแก่ภาคธุรกิจและแก่กลุ่มแรงงานเองจะมีส่วนทำให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเห็นผลรวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยสร้างแรงดึงดูดและความมั่นใจให้แก่นักลงทุนอีกด้วย

รูปที่ 1: รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องใน 5 พื้นที่ชายแดนของไทย ได้แก่ แม่สอด สะเดา มุกดาหาร อรัญประเทศ และตราด

SEZ_1.png

 

ที่มา: ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ และกรมการค้าต่างประเทศ


รูปที่ 2: ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่ตั้งอยู่ใน SEZ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และสามารถลดหย่อนภาษี
ในอัตราร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี

SEZ_2.png

ที่มา: ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

Implication.png

Implication.gif

  • ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ในการลงทุนใน SEZ จะเป็นประเภทอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตและการค้าเดิมอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ และเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ในระยะยาว กิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลักจะมีการย้ายฐานการผลิตไปสู่ SEZ ตามแนวชายแดนมากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการบริหารจัดการจากภาครัฐ ทั้งในส่วนของ one-stop service, การพัฒนาฝีมือแรงงาน,ความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากฐานการผลิตไปยังท่าเรือเพื่อส่งออก หรือขนส่งสู่เมืองที่มีต้นทุนที่ประหยัดกว่า หรือแม้แต่ปัจจัยในเรื่องราคาที่ดิน เนื่องจากคาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น ความคุ้มค่าด้านการลงทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งของกิจการ
  • ธุรกิจต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและการค้าชายแดนในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจะมีอุปสงค์มากขึ้นเป็นลำดับ เช่น กิจการที่อยู่อาศัย, วัสดุก่อสร้าง, กิจการพลังงาน, สื่อสารไร้สาย, การบริการขนส่ง, การค้าส่งค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภค, การบริการด้านการเงินทั้งกับผู้ประกอบกิจการฝั่งไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน, บริการด้านสาธารณสุข, ความงาม, การบริการด้านการศึกษา โดยเฉพาะการอบรมแรงงานให้มีฝีมือ และการบริการด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่จังหวัดตราดคาดว่าจะมีการสนับสนุนธุรกิจและบริการด้านการท่องเที่ยวมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิต โดยธุรกิจที่จะมีอุปสงค์มากขึ้น ได้แก่ รถนำเที่ยว บริษัทตัวแทนจำหน่ายทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น
  • ขณะเดียวกันภาคเอกชนไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจจากการเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มมองหาลู่ทางในการขยายธุรกิจ การหาพันธมิตร หรือร่วมทุนกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อรุกและขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการพัฒนากระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้รองรับการเกิดขึ้นของ SEZ และการเข้าสู่ AEC ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ