SHARE
SCB EIC ARTICLE
20 กุมภาพันธ์ 2015

Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB)

Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB)
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558
โดย: เขมรัฐ ทรงอยู่

 

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตียวหยู่ไถ กรุงปักกิ่ง"

ที่มา: กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

 

AIIB เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) หรือธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย ถูกก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดริเริ่มของทางการจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วงปลายปี 2556 ที่ต้องการเสนอความช่วยเหลือด้านการเงินและแหล่งเงินทุนทางเลือกให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โครงข่ายการคมนาคม และการสื่อสารโทรคมนาคม โดยปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกในเอเชียได้ให้ความสนใจและลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคาร AIIB แล้วถึง 21 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา จีน อินเดีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า เนปาล โอมาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ สิงคโปร์ ศรีลังกา อุซเบกิสถาน เวียดนาม และไทย ในส่วนของไทยนั้น รัฐมนตรีคลังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจอย่างเป็นทางการ ในการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปก (APEC) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557
ทั้งนี้ สำนักงานอย่างเป็นทางการของ AIIB จะถูกตั้งขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของประเทศจีน โดยคาดว่าจะสามารถรวบรวมเงินลงทุนจากชาติสมาชิกเสร็จสิ้นและเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2015 ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกันกับการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

จุดประสงค์ในการตั้งธนาคาร AIIB ของจีนคืออะไร ?

การเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้ง AIIB ของจีนนั้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และถือโอกาสนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มหาศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการลงทุนและการเมืองระหว่างประเทศ โดยในปัจจุบัน จีนถือเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินทุนสำรองส่วนใหญ่นั้น กลับถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเพียง 2-3% ต่อปี เช่น พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่จีนถือครองอยู่กว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทางการจีนมองหาช่องทางในการใช้ทุนสำรองผ่านการลงทุนรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร อย่างการจัดตั้งธนาคารหรือการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ จำนวนมากแล้ว ยังเปิดโอกาสให้จีนผลักดันเงินหยวนสู่การเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก (RMB Internationalization) ไปพร้อมกันอีกด้วย
ไม่เพียงแต่การจัดตั้งธนาคาร AIIB เท่านั้น จีนยังได้จับมือกับชาติพันธมิตรในกลุ่มบริกส์ (BRICS) ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เพื่อจัดตั้งธนาคาร New Development Bank (NDB) และกองทุนเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement: CRA) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดความสำคัญของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-dollarization) และคานบทบาทขององค์กรทางการเงินหลักของโลกอย่างธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ที่สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มีบทบาทนำในปัจจุบัน
นอกจากนี้ จีนยังจะได้รับผลพลอยได้จากการผลักดันวิสาหกิจสัญชาติจีนออกไปสู่ตลาดประเทศสมาชิกที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคาร AIIB โดยคาดว่าจีนจะยื่นข้อเสนอแก่ประเทศสมาชิก ให้มีการทำข้อตกลงว่าจ้างวิสาหกิจจีนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง พร้อมทั้งใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันรูปเงินหยวน ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางให้บรรดาบริษัทเอกชนของจีนได้รับงานโครงการก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศสมาชิก และยังเพิ่มโอกาสให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงอีกด้วย

 

AIIB มีการสรรหาและจัดสรรเงินลงทุนกันอย่างไร?

 

ตามกรอบแผนการดำเนินงานเบื้องต้นนั้น AIIB จะมีวงเงินพื้นฐานตั้งต้นอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะถัดไป โดยทางการจีนจะเป็นผู้ออกเงินก้อนแรกให้ถึง 50% ของเงินตั้งต้น หรือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นจะรวบรวมเงินส่วนที่เหลือจากชาติสมาชิกตามสัดส่วนของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งในส่วนของไทยนั้น คาดว่าจะสามารถร่วมสนับสนุนเงินลงทุนได้ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1.5 แสนล้านบาท โดยในเบื้องต้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่าจะใช้เวลาในการระดมทุนในส่วนของไทยประมาณ 5-7 ปีผ่านการออกพันธบัตรระดมทุน และทยอยชำระเป็นงวดๆ
อย่างไรก็ดี วงเงินตั้งต้น 1 แสนล้านบาทของธนาคาร AIIB นั้น ยังถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาอื่นๆ เช่น ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ที่มีวงเงินถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

 

AIIB จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียและไทยอย่างไร?

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียได้หันมาพุ่งเป้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ จีน ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาลในการสร้างรถไฟความเร็วสูง จนประสบความสำเร็จด้านการคมนาคม และได้กลายเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงของลาว และรถไฟรางคู่ของไทย
แน่นอนว่า AIIB จะกลายเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลและยากต่อการะดมทุนจากในประเทศเพียงอย่างเดียว และหากมองในระยะยาวสำหรับภูมิภาคเอเชียแล้ว แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถรองรับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2020 การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียจะต้องใช้วงเงินลงทุนถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หากมองด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยจะพบว่า ในช่วงปี 2558-2565 ไทยจะมีความต้องการเงินลงทุนอย่างมากตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางถนนกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาท่าเรือและการขนส่งทางน้ำ การเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงก้าวแรกของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในไทยเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงการพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้ทัดเทียมกับระดับการขนส่งมาตรฐานเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สาธารณูปโภคที่จำเป็น และการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะสร้างความต้องการเงินลงทุนถึงกว่า 5 ล้านล้านบาทตามการประเมินของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ดังนั้น ธนาคาร AIIB จึงถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยได้ในอนาคต นอกจากนี้ ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ไทยอาจได้รับสิทธิพิเศษทางด้านดอกเบี้ย และเงื่อนไขพิเศษทางการเงินอื่นๆ ที่คาดว่าทางการจีนจะเสนอให้ เนื่องจากจีนจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในไทยและการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน

 

Tags
ASIABank
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ