SHARE
SCB EIC ARTICLE
30 มกราคม 2015

ราคาน้ำมันถูกช่วยเศรษฐกิจไทยจริงหรือ?

ราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2014 จนถึงปัจจุบันนั้นมีสาเหตุมาจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ขยายตัวได้ดีตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่การเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างน่าผิดหวัง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ตรงข้ามกับฝั่งผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ยังคงผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม OPEC อย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันในชั้นหินดินดาน (Shale oil) ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้นและเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันตกต่ำลงต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้น กลุ่ม OPEC ก็ไม่ได้สวมบทบาทเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันดิบโลกอย่างเช่นในอดีต แต่กลับยืนยันว่าจะไม่ปรับลดกำลังการผลิตของตนเองลงเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ตกต่ำลงแต่อย่างใด เนื่องจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงจะทำให้ประเทศกลุ่ม OPEC สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่ประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม OPEC ได้

ผู้เขียน: ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

 

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 มกราคม 2558

 

178989519.jpg  

ราคาน้ำมันถูกช่วยเศรษฐกิจไทยจริงหรือ?

ราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2014 จนถึงปัจจุบันนั้นมีสาเหตุมาจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ขยายตัวได้ดีตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่การเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างน่าผิดหวัง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ตรงข้ามกับฝั่งผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ยังคงผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม OPEC อย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันในชั้นหินดินดาน (Shale oil) ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้นและเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันตกต่ำลงต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้น กลุ่ม OPEC ก็ไม่ได้สวมบทบาทเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันดิบโลกอย่างเช่นในอดีต แต่กลับยืนยันว่าจะไม่ปรับลดกำลังการผลิตของตนเองลงเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ตกต่ำลงแต่อย่างใด เนื่องจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงจะทำให้ประเทศกลุ่ม OPEC สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่ประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม OPEC ได้


เศรษฐกิจโลกในภาพรวมได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง โดย IMF ได้ประมาณการว่าราคาน้ำมันที่ลดลงเฉพาะส่วนที่เกิดจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุน GDP โลกให้เติบโตได้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.7% ทั้งนี้ เนื่องจากว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 60% ของเศรษฐกิจโลกต่างก็เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และภาคธุรกิจก็มีต้นทุนลดลง ส่วนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบอย่างประเทศในกลุ่ม OPEC ที่เป็นผู้เสียประโยชน์นั้นมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่เท่าไรนัก


ประเทศไทยเราก็น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงสุทธิประมาณ 8% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าจีน และอินเดีย หรือคิดเป็นการนำเข้าปีละประมาณ 320 ล้านบาร์เรล ทำให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้าน้ำมันดิบได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือหากมองในมุมของผู้ใช้พลังงาน นั่นคือ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลต่อปีอยู่ที่ 29,000 ล้านลิตร ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองภาคส่วนประหยัดได้ถึง 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยให้ GDP ของไทยในปี 2015 เติบโตเพิ่มขึ้น 0.2 percentage point (pp) และทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.8 pp ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงทำให้ไม่มีอุปสรรคในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำลง ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม


สิ่งที่ต้องติดตามอย่างแรก คือ ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศในแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากประเทศในตะวันออกกลางส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบ ดังนั้น การที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศเหล่านี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียสูงเป็นอันดับ 3 ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันที่ลดลงก็เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ


ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างครัวเรือนในเมืองและในชนบทที่จะมีเพิ่มขึ้น (Urban-Rural divide) เนื่องจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงก็คือ ผู้ที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงที่อาศัยอยู่ในเมืองและใช้รถยนต์ในการเดินทางเป็นประจำ เพราะไม่เพียงแต่คนกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงแล้ว การปรับลดลงของราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่มากกว่าน้ำมันดีเซลยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่รายได้ของคนในเมืองส่วนใหญ่เป็นรายได้ประจำจึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเท่าไรนัก ทำให้โดยรวมแล้วครัวเรือนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากราคาน้ำมันที่ลดลง


ในทางกลับกัน ผู้ที่เสียประโยชน์ คือ ผู้ที่ทำอาชีพเกษตรกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่ชนบท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ยางพารา อ้อย ปาล์ม เป็นต้น โดยเฉพาะยางพาราที่ปัจจุบันราคาต่ำสุดในรอบ 5 ปี และยังคงถูกแรงกดดันจากราคายางสังเคราะห์ที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ทำให้ราคายางพาราไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้หากราคายางสังเคราะห์ที่เป็นสินค้าทดแทนได้ยังตกต่ำ ขณะเดียวกัน ความต้องการใช้พลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซลที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันโลกลดลงมามาก ก็ส่งผลกระทบต่อราคาอ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเช่นเดียวกัน รวมถึงจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของการส่งออกไทยทั้งหมดลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลกอีกด้วย ดังนั้น ครัวเรือนภาคเกษตรนอกจากจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในการเดินทางเป็นประจำแล้วยังได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงมากกว่ากลุ่มอื่นอีกด้วย


นอกจากนี้ Urban-Rural divide ยังเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของรัสเซียที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก และทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงมากกว่า 50% โดยค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงนี้ส่งผลให้แนวโน้มนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางไปต่างประเทศลดลงเนื่องจากค่าใช้จ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียจัดว่ามีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย โดยเฉพาะในพัทยาและภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมากถึง 23% และ 19% ตามลำดับ ซึ่งผลกระทบนั้นเห็นได้ชัดแล้วจากจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาไทยลดลงกว่า 20%YOY ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 ในขณะที่การท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่า จึงยิ่งเป็นการเพิ่มความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น


เมื่อความแตกต่างระหว่างครัวเรือนในเมืองกับครัวเรือนในชนบทมีมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงไม่สามารถมองข้ามได้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงไม่ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเท่าไรนัก แต่กลับเป็นการเพิ่มความไม่เท่าเทียมของคนเมืองและคนชนบทมากขึ้น สุดท้ายจึงยังต้องหวังพึ่งภาครัฐบาลให้เป็นตัวเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการกระจายงบประมาณลงไปสู่ภูมิภาคเพื่อสร้างรายได้ และเกิดการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงด้วย

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ