เงินบาทแข็งค่าใครได้ ใครเสีย ?
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกในปี 2553 และอาจเห็นตัวเลขค่าเงินบาท 32 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงอีก เพราะปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ การอัดฉีดเม็ดเงินดอลลาร์เพื่อ เพิ่มสภาพคล่องอย่างมากมาย และดุลการคลังที่ติดลบอย่างมหาศาล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลายคนอาจตั้งความหวังว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า แต่จากตัวเลขในอดีตจะพบว่า ธปท.ไม่อาจฝืนแนวโน้มได้มากนัก เพราะการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
ผู้เขียน: EIC - Economic Intelligence Center
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกในปี 2553 และอาจเห็นตัวเลขค่าเงินบาท 32 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ทั้งนี้เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงอีก เพราะปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ การอัดฉีดเม็ดเงินดอลลาร์เพื่อ เพิ่มสภาพคล่องอย่างมากมาย และดุลการคลังที่ติดลบอย่างมหาศาล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
หลายคนอาจตั้งความหวังว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า
แต่จากตัวเลขในอดีตจะพบว่า ธปท.ไม่อาจฝืนแนวโน้มได้มากนัก เพราะการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
อย่างเช่นในปี 2550 แม้ว่า ธปท.จะเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศจนเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่า
ขึ้นราว 9%
สิ่งที่ ธปท.ทำได้ น่าจะเป็นการทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระดับใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ผู้ประกอบการไม่ควรคาดหวังว่า ธปท.จะสามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเพื่อช่วยการส่งออกได้
นอกจากนี้ต้นทุนของการเข้ามาแทรกแซงก็สูงมากอีกด้วยอย่างในปี 2550 ดังกล่าว ธปท.ก็ต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนถึงราว 1.4 หมื่นล้านบาท
การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสัดส่วนการนำเข้า (import content) และสัดส่วนการส่งออก (export content) ใครที่เน้นนำเข้าวัตถุดิบ พอเงินบาทแข็งก็จะมีค่าใช้จ่ายถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินบาท ส่วนผู้ที่เน้นส่งออก พอเงินบาทแข็งค่าก็จะมีรายได้ลดลงเมื่อนำรายได้ที่เป็นเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาท
ดังนั้นเราจึงแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มตามสัดส่วนการนำเข้าและส่งออก ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยแต่สัดส่วนของผลผลิตที่ส่งออกสูง กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเสียประโยชน์จากการ แข็งค่า
ของเงินบาท เพราะค่าเงินบาทที่แข็งไม่ได้ช่วยลดต้นทุนเท่าไร แต่รายได้จากการส่งออกเมื่อแลกเป็นเงินบาทแล้วจะเหลือน้อยลง
ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร โรงแรม น้ำตาล ผ้า โรงสีข้าว และเครื่องหนัง เป็นต้น
- กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบสูงและมีสัดส่วนของผลผลิตที่ส่งออกสูงเช่นกัน ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าและรายรับเมื่อคิดเป็นเงินบาทลดลง พร้อม ๆ กัน
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเกิดผลกระทบสุทธิจากการเปลี่ยนแปลง ของค่าเงินอาจไม่มากนัก แต่การที่ธุรกิจในกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
ค่าเงินค่อนข้างมากทั้งด้านต้นทุน และด้านรายรับ จึงมีโอกาสที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการ
เปลี่ยนแปลงของค่าเงิน
ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรงกลั่น ผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์พื้นฐาน รถยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
- กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและสัดส่วนของผลผลิตที่ส่งออกก็น้อย
พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับการนำเข้าและ ส่งออกเท่าใดนัก จึงไม่ค่อยจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอยู่แล้ว
ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ ภาคการเงินการธนาคาร เครื่องดื่ม บุหรี่ อสังหาริมทรัพย์ และการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
- กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบสูงแต่มีสัดส่วนการส่งออกผลผลิตน้อย กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากการ แข็งค่า
ของเงินบาทอยู่แล้ว เพราะช่วยลดต้นทุนของการนำเข้าวัตถุดิบ
ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ผลิตเหล็กกล้า ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น
จากแผนภูมิข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนการนำเข้า และสัดส่วนการส่งออกของธุรกิจต่างๆ
ลองมาดูตัวอย่างผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิ (กลุ่มที่ 1) เช่น ผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางจำพวกยางพารา ว่าน่าจะมีวิธีแก้ปัญหาจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างไร เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบทางด้านรายรับที่ลดลง ยังต้องเจอกับความเสี่ยงที่เกิดจากระยะเวลาในการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า
ซึ่งธุรกิจส่งออกยางพาราดังกล่าวมีระยะเวลาเรียกเก็บเงินนานถึง 60-90 วันหลังจากวันที่ได้รับคำสั่งซื้อ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอีก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินอาจผันผวน ซึ่งถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้รายรับเมื่อคิดเป็นเงินบาทแล้วลดน้อยลงไปอีก
ทางแก้ปัญหาของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ สามารถป้องกัน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้หลายวิธี เช่น ทำสัญญาแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (forward contract) ในส่วนของยอดรอเรียกเก็บจากลูกหนี้การค้า (receivables)
หรือถ้าบริษัทมีหนี้สินที่เป็นเงินบาทอยู่ก็อาจใช้วิธีทำสัญญาแปลงหนี้สินเป็นเงินดอลลาร์ เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ดอลลาร์ที่จะเข้ามาในอนาคต ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้
ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้าสุทธิ (กลุ่มที่ 4) อย่างเช่น ผู้ผลิตเหล็กกล้า ซึ่งมีต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่การนำเข้าวัตถุดิบจาก ต่างประเทศ และน่าจะได้รับผลดีจากการแข็งค่าของเงินบาทก็ไม่ควรละเลยการป้องกันความเสี่ยง
เพราะระยะเวลาในการชำระค่าวัตถุดิบซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60 วันหลังจากส่งคำสั่งซื้อ ทำให้ต้นทุนอาจถูกกระทบจากค่าเงินที่ผันผวนได้ เพราะถึงแม้ว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว แต่อาจมีบางจังหวะที่ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้
อย่างล่าสุดกรณีที่มีข่าวว่าดูไบเวิลด์อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทำให้นักลงทุนตกใจและโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์ กลับมาแข็งขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังไม่น่าไว้วางใจ อย่างในยุโรป ก็ยังมีปัญหาเรื่องการลดอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ภาครัฐของประเทศกรีซ
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรคำนึงถึงการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งช่วงนี้อาจเป็นจังหวะที่ดี เพราะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำเทียบกับในอดีต ทำให้ค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงไม่น่าจะสูงเกินไป
สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มที่ปกติจะได้รับผลดีจากการแข็งค่าของเงินบาท อย่างกรณีของผู้ผลิตเหล็กกล้า ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงต่อการผันผวนของเงินบาทได้ โดยทำสัญญาซื้อเงินตราล่วงหน้าให้พอเหมาะกับค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินดอลลาร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเลือกจังหวะให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถกำหนดต้นทุนไม่ให้ผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว