SHARE
SCB EIC ARTICLE
18 มีนาคม 2013

จับตาอนาคตบรูไน…หลังยุค Oil-rich economy?

ผู้เขียน:  SCB Economic Intelligence Center (EIC)

 162597634.jpg

เมื่อเอ่ยถึง "เนการาบรูไนดารุสซาลาม" หรือ "ประเทศบรูไน" เชื่อว่าจินตนาการแรกที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงคือ ประเทศเล็กๆในอาเซียนที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูง ร่ำรวยไปด้วยแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ มีรัฐสวัสดิการที่ดีเลิศ ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูงและมีความอยู่ดีกินดีในลำดับต้นๆ ของโลก ... ซึ่งแน่นอนว่า ความเป็นสวรรค์บนดินของบรูไนดังที่ได้กล่าวมานี้ ล้วนมีรากฐานสำคัญมาจากความอุดมสมบูรณ์ของ "น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ" ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ใต้ดินนั่นเอง แต่สิ่งที่ทำให้เราต้องกลับมาหยุดคิดและกลายเป็นคำถามตัวโตๆ คือ แล้วอนาคตของประเทศบรูไนจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่แหล่งพลังงานเหล่านี้กำลังเริ่มร่อยหรอลงทุกขณะและกำลังจะหมดลงในไม่ช้า รวมทั้ง "อะไร" จะกลายเป็นหัวจักรสำคัญตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศและประชาชนชาวบรูไนในอีกราว 2 ทศวรรษข้างหน้าต่อจากนี้ไป



ร่ำรวยไปด้วยขุมทรัพย์ใต้ดิน
...ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า จุดแข็งของประเทศบรูไนที่หลายประเทศทั่วโลกต่างอิจฉาคือ ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรหลักของประเทศ รวมทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกหลักซึ่งสร้างรายได้จำนวนมหาศาลเข้าประเทศในช่วงกว่า 80 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่ารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนมากถึงกว่า 95% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ หรือคิดเป็นกว่า 60% ของ GDP และราว 94% ของรายได้ภาครัฐในแต่ละปีเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกที่วงจรเศรษฐกิจของบรูไนมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาพลังงานในตลาดโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า บรูไนเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ราว 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น บรูไนยังเป็นประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquid Natural Gas: LNG) รายใหญ่อันดับ 4 ของโลกอีกด้วย โดยมีบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (Brunei National Petroleum Company Sedirian Berhad หรือ Petroleum BRUNEI) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ด้วยการนำรายได้จากการส่งออกน้ำมันและพลังงานไปลงทุนหรือร่วมทุนในต่างประเทศ



จำนวนประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน แต่รายได้ต่อหัวสูงติดอับดับ 5 ของโลก

แม้ว่าบรูไนจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเป็นอับดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมีจำนวนประชากรที่น้อยที่สุดในกลุ่มและน้อยกว่าไทยถึงราว 165 เท่าตัวก็ตาม แต่รายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลับทำให้บรูไนถูกจัดให้เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Upper income class และมีรายได้ประชากรต่อหัว (Income per capita) สูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มอาเซียน โดยพบว่าชาวบรูไนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่า 49,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งสูงกว่ารายได้ต่อหัวของคนไทยถึงกว่า 5 เท่าตัวเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อจำนวนมหาศาลของผู้บริโภคชาวบรูไน รวมทั้งโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจด้านต่างๆ อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทธุรกิจค้าปลีก  ยิ่งไปกว่านั้น บรูไนยังมีจำนวนประชากรในวัยทำงาน หรือ กลุ่ม Labor force มากถึงราว 70% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มตอบสนองต่อกลยุทธ์ทางการตลาดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

At the crossroads of change ... มุ่งสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

แน่นอนว่า ความท้าทายสำคัญที่ประเทศบรูไนกำลังจะต้องเผชิญในอีกราว 25 ปีนับจากนี้ คือ การหมดลงของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติซึ่งเปรียบเสมือนขุมทองที่สร้างรายได้เข้าประเทศมาอย่างยาวนาน ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำประเทศและรัฐบาลบรูไนจำเป็นต้องเตรียมรับมืออย่างเร่งด่วนเพื่อชดเชยกับรายได้จำนวนมหาศาลที่กำลังจะหายไปในอนาคต คือ การปรับเปลี่ยนและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น (Economic diversification) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศที่มีชื่อว่า "วิสัยทัศน์บรูไน 2578" หรือ "Wawasan Brunei 2035" ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ "non-energy based sectors" ควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้  priority area ที่รัฐบาลบรูไนมุ่งให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ คือ การติดเขี้ยวเล็บและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ทั้งป่าไม้ ประมง และแร่ทรายขาว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลบรูไนต้องการผลักดันและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่งคั่งและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคที่ไร้น้ำมัน

นอกจากนี้ มาตรการและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่มีส่วนช่วยสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและการร่วมทุนกับต่างชาติ สนับสนุนการแปรรูปรัฐสาหกิจ สนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ขยายฐานการจัดเก็บภาษี ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนในต่างประเทศ โดยหันมาลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมไปถึงการขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และสร้างความแข็งแกร่งของระบบการเงินภายในประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น  

 

แต่ "Vision Brunei" คงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก ท่ามกลางความท้าทายและข้อจำกัดในประเทศอีกหลายด้าน

แม้ว่ารัฐบาลบรูไนจะตั้งเป้ายุทธศาสตร์ระยะยาวและวาดฝันอันสวยหรูในการพัฒนาประเทศด้วยการมุ่งสร้างความหลากหลายทางโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการเศรษฐกิจภาคพลังงานอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ตาม แต่เราเชื่อในอนาคตอันใกล้ เป้าหมายดังกล่าวคงจะประสบความสำเร็จได้ไม่ง่ายนัก จากข้อจำกัดและความไม่พร้อมหลายๆ ประการของประเทศบรูไนเอง

ความท้าทายสำคัญประการแรก คือ "ปัญหาขาดแคลนแรงงาน" โดยเฉพาะช่างฝีมือ เพราะแม้ว่าบรูไนจะมีจำนวนประชากรที่ได้รับการศึกษาและมีอัตราการรู้หนังสือ (Literacy rate) อยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่บุคคลากรเหล่านี้กลับไม่มีความรู้ความสามารถในระดับมาตรฐานสากล และไม่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในการปฏิบัติงาน เนื่องจากชาวบรูไนส่วนใหญ่ยังคงนิยมเลือกเรียนในสาขามนุษยศาสตร์ ศาสนา หรือนโยบายสาธารณะมากกว่า ขณะที่ผู้ที่เลือกเรียนในสาขาเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือวิศวกรรม ยังถือว่ามีอยู่น้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อยมากจึงทำให้มีจำนวนแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศน้อยตามไปด้วย และไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้บริษัทภาคเอกชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราเชื่อว่าการพัฒนาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของบรูไนในระยะเริ่มต้น คงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานฝีมือจากต่างชาติที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การเตรียมความพร้อม รวมทั้งเร่งยกระดับและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและแรงงานบรูไนให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพต่อไป 

            ประการถัดมาคือ "ข้อจำกัดในด้านพื้นที่" ด้วยลักษณะประเทศของบรูไนที่มีขนาดเล็ก จึงทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น บรูไนจึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้หลากหลายด้านไปพร้อมกัน รวมทั้งควรมีการประเมินความเหมาะสมและผลตอบแทนของกิจการอย่างเหมาะสม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด

            และความท้าทายประการสุดท้ายคือ "ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก"  แม้ว่าชาวบรูไนจะได้ชื่อว่ามีกำลังซื้อและรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับสองของกลุ่มอาเซียนและติดลำดับต้นๆ ของโลกก็ตาม และมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งก็ตาม แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อยมาก จึงอาจทำให้บรูไนไม่ใช่ตลาดที่น่าสนใจมากนักสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่คิดจะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเพื่อเปิดตลาดในประเทศแห่งนี้ หรือแม้กระทั่งในฐานะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บรูไนเสียเปรียบชาติอื่นๆ ในการเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

แล้วโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ไหน ?        

          ต้องยอมรับว่าบรูไนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากนโยบายด้านการลงทุนที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเสรี ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ต่างชาติสามารถลงทุนและถือหุ้นได้ 100% ในเกือบทุกสาขา หรือแม้แต่การให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจด้านน้ำมันนานถึง 8 ปี รวมทั้งการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดธุรกิจข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนในบรูไน

ทั้งนี้ นอกจากโอกาสด้านการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานซึ่งเปรียบเสมือนแม่เหล็กดูดเงินลงทุนในปัจจุบันแล้ว อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพด้านการลงทุนในบรูไนยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก (Export-oriented industry) และภาคบริการ ซึ่งเป็นสาขาการลงทุนที่รัฐบาลบรูไนให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนมากเป็นพิเศษ รวมไปถึงโอกาสด้านการลงทุนในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งธุรกิจบริการขนส่งและโทรคมนาคม ซึ่งเราน่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในระยะต่อไป

อนึ่ง จากการประเมินโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง การมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของภูมิภาคคือโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นการต่อยอดในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ (Downstream industry) ของธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นสาขาที่บรูไนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษและมีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่แล้ว รวมทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีส่วนช่วยสร้างงานในประเทศจำนวนมาก และเป็นช่องทางในการสร้างฐานความรู้และทักษะด้านวิศวกรรมให้กับแรงงานภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ และประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหรรมการผลิตอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอีกด้วย   

Key takeaways:

  • แม้ว่าบรูไนจะเป็นประเทศที่มีมั่งคั่งไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงาน และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก
  • ปัจจุบันรัฐบาลบรูไนกำลังอยู่ระหว่างการเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศที่มีชื่อว่า "วิสัยทัศน์บรูไน 2578" โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะ non-energy based sector ควบคู่กันไปด้วย
  • "อุตสาหกรรมปิโตรเคมี" ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพราะเป็นการต่อยอดการเติบโตจากธุรกิจน้ำมันซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ ไปสู่อุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
  • รัฐบาลบรูไนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะสาขาบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อป้อนแรงงานที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน รองรับการปฏิรูปประเทศในอนาคต

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ