การท่องเที่ยวไทย...จะไปต่อยังไงหลังเหตุการณ์ระเบิด?
เหตุการณ์ระเบิด 3 จุดในซอยสุขุมวิท 71 ในวันวาเลนไทน์ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจไม่น้อยและกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งที่อยู่ในไทยอยู่แล้วและที่กำลังวางแผนจะมา จากนี้คงต้องเฝ้าดูกันต่อว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบแค่ไหนและจะไปต่ออย่างไร
ผู้เขียน: วิธาน เจริญผล
เหตุการณ์ระเบิด 3 จุดในซอยสุขุมวิท 71 ในวันวาเลนไทน์ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจไม่น้อยและกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งที่อยู่ในไทยอยู่แล้วและที่กำลังวางแผนจะมา จากนี้คงต้องเฝ้าดูกันต่อว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบแค่ไหนและจะไปต่ออย่างไร
การท่องเที่ยวไทยแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งมาโดยตลอดสองปีที่ผ่านมา เพราะฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปประมาณ 3% ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นถึง 12% และ 19% ในปี 2010 และ 2011 ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นการเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างสูงถึงสองปีติดต่อกัน ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงในประเทศ รวมไปถึงปัญหาน้ำท่วม ในปี 2012 นี้ การท่องเที่ยวก็เริ่มต้นได้ดีด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 8% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งยังคงนำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีน รัสเซีย และอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายของการท่องเที่ยวไทยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่มีประกาศเตือนการเดินทางมาประเทศไทยของรัฐบาลอิสราเอลและสหรัฐฯ และตามมาอีกประมาณ 20 ประเทศ รวมถึงประเทศจีนซึ่งกำลังเป็นตลาดสำคัญของไทย ก่อนที่ทางการไทยจะเร่งดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจ ซึ่งส่งผลให้จีนยอมถอนคำประกาศประมาณช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งแค่คำประกาศเตือนดังกล่าวก็ส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติไปแล้วระดับหนึ่ง ก่อนที่จะมาถูกตอกย้ำด้วยเหตุการณ์ระเบิด 3 จุดในสุขุมวิท 71 ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากพอสมควร ด้วยสาเหตุร่วมกันหลายประการ ได้แก่ (1) มีข้อมูลที่พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ระเบิดกับการก่อการร้าย ที่ยิ่งกลายเป็นเสมือนการตอกย้ำความสำคัญของการประกาศเตือนการเดินทางของรัฐบาลอิสราเอลและสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ (2) อีกทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวไทยจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 4 ถึงไตรมาสที่ 1 และยาวจนถึงต้นไตรมาส 2 ในช่วงระยะหลังที่เทศกาลสงกรานต์ของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปทั่วโลก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวดังกล่าวจะมีนักท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของช่วงเวลาทั้งปี (3) ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยล่าสุดทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้เพิ่มดีกรีระดับการเตือนภัยนักท่องเที่ยวแล้ว และยังมีอีก 14 ประเทศที่ประกาศเตือนประชาชนของตนเองที่จะเดินทางเข้าไทยให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงจุดที่เกิดเหตุ
และแม้จะดูเหมือนเป็นโชคดีที่ช่วงเวลาของเหตุการณ์เข้าสู่ช่วงปลายๆ ของฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ผลกระทบจึงยังค่อนข้างมาก เนื่องจากกรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 38% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทุกจังหวัด และยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่สำคัญคือกรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาช่วยชดเชยตลาดเก่าอย่างยุโรปและอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มรัสเซียซึ่งนิยมท่องเที่ยวพัทยาอย่างมากก็จำเป็นต้องผ่านกรุงเทพมหานคร สมมติแค่ช่วงเวลาที่เหลือของไตรมาสแรกให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวกรุงเทพฯ หายไปประมาณครึ่งนึงของที่เคยมา ก็อาจจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของฤดูกาลท่องเที่ยวไทย (ปลายปี 2011 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2012) ลดลงได้ถึงประมาณ 8%
อีกคำถามสำคัญคือผลกระทบจะยาวนานแค่ไหน ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับว่าความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาได้อย่างไร และที่สำคัญกว่าก็คือจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นซีรี่ส์หรือไม่ เพราะอย่างที่เห็นตามหน้าข่าวในปัจจุบันว่าข่าวไม่ได้จบอยู่แค่เหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันวาเลนไทน์เท่านั้น แต่ยังมีข่าวต่อเนื่องเพิ่มขึ้น เช่น การพบสติกเกอร์สัญลักษณ์ SEJEAL ที่เชื่อว่าเกี่ยวโยงกับจุดเป้าหมายสังหาร ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงแสดงให้เห็นว่ายังต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้
ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะยาวไปถึงไตรมาสสอง โดยเฉพาะหากประกาศเตือนการเดินทางเข้าประเทศไทยของทางการประเทศต่างๆ ยังคงอยู่ ซึ่งปกติแล้ว หากเป็นประกาศเตือนการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายมักมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานานกว่าจะมีการถอนคำประกาศเตือน กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีการประกาศเตือนเรื่องการเดินทางไปอินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงปี 2001 จนกระทั่งมีเหตุการณ์ระเบิดที่เกาะบาหลีในปี 2002 ซึ่งกระทบการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียอย่างรุนแรง นานาประเทศพากันประกาศเตือนหรือเพิ่มระดับการเตือนเรื่องการเดินทางทันที และต่อมายังเกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องอีก 3 ครั้งคือ ที่โรงแรม Marriott ในปี 2003 สถานฑูตออสเตรเลียในจาการ์ตาปี 2004 และระเบิดอีกรอบบนเกาะบาหลีในปี 2005 อินโดนีเซียต้องใช้เวลาหลายปีต่อมาในการปรับปรุงระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัย กว่านานาประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ จะถอนคำประกาศเตือนการเดินทางไปอินโดนีเซียในปี 2008 ถือเป็นประกาศเตือนที่มียาวนานถึง 8 ปีทีเดียว
ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ ในระยะต่อๆ ไป นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีความอ่อนไหวต่อประกาศคำเตือนการเดินทางของทางการมากขึ้น โดยเฉพาะประกาศที่เป็นการเตือนก่อนเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากประกาศเตือนก่อนหน้านี้ที่เป็นการประกาศเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นแล้วไม่ว่าจะเป็นประกาศเตือนในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหรือประกาศเตือนเรื่องภาวะน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 เดือนหลังจากเหตุการณ์จบลง
ปัญหาต่อเนื่องก็คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคงดำเนินงานยากขึ้น เพราะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนจากประกาศเตือนหรือเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือตลาดจัดประชุมสัมมนา (Meeting Incentive Conference and Exhibition: MICE) ที่ปัญหาหลักคือการฟื้นตัวกลับมาได้ยาก เพราะธรรมชาติส่วนหนึ่งของตลาดนี้คือมักไม่เปลี่ยนสถานที่บ่อยนัก และค่อนข้างขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก และสำหรับของประเทศไทยเอง ตลาด MICE เติบโตอย่างรวดเร็วจากจำนวนผู้เดินทางมาประชุมสัมมนาประมาณ 380,000 คนในปี 2003 เพิ่มเป็น 860,000 ในปี 2007 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์และปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา โดยในปี 2008-2010 มีจำนวนผู้เดินทางมาสำหรับการประชุมสัมมนาเพียงปีละ 730,000-740,000 คน
ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยรวมปีนี้ เราคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะชะลอตัวจากสองปีก่อนหน้าที่ฟื้นตัวและขยายตัวสูง ทั้งนี้ เดิมทีเราคาดว่าจะชะลอตัวลงมาสู่ระดับอัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วงอดีตที่ผ่านมาคือประมาณ 4-6% โดยคาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักๆ ของไทย โดยเฉพาะจีนน่าจะเริ่มชะลอตัวลงสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลง ในขณะที่ตลาดยุโรปและอเมริกายังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะ อีกทั้งยังไม่เคยมีประวัติก่อนหน้านี้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวสูงเกิน 10% ต่อเนื่องกันเกินสองปี ประกอบกับแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปัญหาน้ำท่วม ที่เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะจับตารอดูมาตรการของภาครัฐในการจัดการและป้องกันปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ก่อนที่จะวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวไทย และเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้อาจจะถึงขั้นส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพิ่มขึ้นเพียง 1-3% ในกรณีเลวร้าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่อเนื่องและความยาวนานของผลกระทบ
หากระเบิดจบจริงแค่ในวาเลนไทน์นี้...การท่องเที่ยวไทยก็คงโตต่อไปได้ไม่ยาก