SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2011

จะเกิดอะไรกับกรีซและยูโรต่อไป (what’s next for Greece)

ช่วงนี้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปออกมาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่ EU และ IMF เลื่อนการให้เงินช่วยเหลือกรีซออกไปก่อนขณะที่รัฐบาลกรีซมีเงินพอใช้จ่ายถึงเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีธนาคารหลายแห่งในยุโรปถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคำถามตามมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรีซและของกลุ่มยูโรต่อไป กรีซจะปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ และปัญหานี้จะจบลงอย่างไร ซึ่งจะขอพูดถึงประเด็นดังกล่าวในบทความนี้ต่อไป

ผู้เขียน: มันทนา เลิศชัยทวี

 145832270.jpg

ช่วงนี้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปออกมาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่ EU และ IMF เลื่อนการให้เงินช่วยเหลือกรีซออกไปก่อนขณะที่รัฐบาลกรีซมีเงินพอใช้จ่ายถึงเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีธนาคารหลายแห่งในยุโรปถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคำถามตามมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรีซและของกลุ่มยูโรต่อไป กรีซจะปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ และปัญหานี้จะจบลงอย่างไร ซึ่งจะขอพูดถึงประเด็นดังกล่าวในบทความนี้ต่อไป

กรีซจะผิดนัดชำระหนี้แน่นอน กรีซไม่มีความสามารถจะจ่ายคืนหนี้และลดภาระหนี้สินของตัวเองได้ เพราะเศรษฐกิจไม่โตทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้เพียงพอ ขณะที่หนี้ก็ใหญ่กว่า GDP ถึง 1.5 เท่า สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากญี่ปุ่น) และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรวมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง (ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลกรีซในระยะ 2 ปี ในตลาด สูงถึงกว่า 60%) ทำให้ภาระหนี้สินของรัฐบาลกรีซยิ่งหนักหนา จนน่าจะจ่ายคืนหนี้ไม่ไหวในที่สุด และหนีไม่พ้นต้องผิดนัดชำระหนี้หรือต่อรองให้เจ้าหนี้ลดหนี้ให้บางส่วน ซึ่งตอนนี้ตลาดก็มองว่ามีโอกาสสูงถึงกว่า 90% แล้ว ทั้งนี้ อาจมีคำถามว่า ทำไมกรีซถึงยังจะผิดนัดชำระหนี้อีก ในเมื่อ EU และ IMF ก็ตกลงให้เงินช่วยเหลือไปแล้ว เหตุผลคือ เงินช่วยเหลือทั้งหมดประมาณ 220 พันล้านยูโร (รวมการช่วยเหลือสองครั้ง) จะมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดทุกๆ ประมาณ 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่ากรีซเองต้องลดการขาดดุลการคลังและปฏิรูปเศรษฐกิจตัวเองได้ตามแผนที่วางไว้จึงจะได้รับเงิน ดังนั้นในช่วงที่มีการพิจารณาจ่ายเงินแก่กรีซจึงเป็นช่วงที่สุ่มเสี่ยงที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้หากกรีซทำไม่ได้ตามที่ตกลงและไม่ได้รับเงินช่วยเหลือทันท่วงที

คำถามสำคัญคือเมื่อไหร่ ต่อให้กรีซได้เงินช่วยเหลือ 8 พันล้านยูโรที่กำลังเป็นปัญหาทันเดือนตุลาคม และเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้รอบนี้ไปได้ แต่เงินจำนวนดังกล่าวจะพอให้กรีซใช้ถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น เมื่อถึงตอนนั้นจะเป็นเวลาที่กลุ่มเจ้าหนี้ต้องมาตรวจสอบอีกครั้งว่ากรีซควรจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนถัดไปหรือไม่ ซึ่งมีโอกาสสูงที่เหตุการณ์ในทำนองที่กรีซไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้และการขาดดุลภาครัฐได้ตามเป้าจะซ้ำรอยอีก เพราะล่าสุด มีการประเมินว่ากรีซจะขาดดุลการคลังอย่างน้อย 8.6% จากเป้าที่วางไว้ 7.6% ขณะที่  IMF เองก็ปรับประมาณการขยายตัวของ GDP จาก -3.9% เป็น -5% ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจกรีซอาจจะแย่ยิ่งกว่าที่ IMF คาดไว้อีก เพราะจากประสบการณ์ในอดีต ประเทศที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้มักจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงนานหลายปี เช่น อาร์เจนตินาที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง -5% ถึง -15% ในช่วงวิกฤติการเงินเมื่อปี 1999-2002 หรือวิกฤติต้มยำกุ้งในประเทศไทยที่ IMF ประเมินว่า GDP จะหดตัวราว -4% แต่พอรัดเข็มขัดการคลังมากๆ เข้าปรากฎว่า GDP ของไทยหดตัวถึง -11%

การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซจะเพิ่มความเสี่ยงแก่ภาคการเงิน โดยเฉพาะภาคธนาคารของยุโรปซึ่งถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซอยู่กว่า 90% ของพันธบัตรรัฐบาลกรีซทั้งหมดที่อยู่ในมือระบบธนาคาร (ข้อมูลจาก Bank for International Settlement) ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาในภาคธนาคาร ก็จะกระทบการปล่อยกู้แก่ภาคเอกชน ซึ่งหมายความว่าการบริโภคและการลงทุนก็จะมีปัญหาไปด้วย จนลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซอาจทำให้นักลงทุนยิ่งขาดความเชื่อมั่นต่อพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน เช่น โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี เป็นต้น ทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาในการระดมทุนจากตลาดมากยิ่งขึ้น และทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

สิ่งที่ต้องจับตาคือ กลุ่มยูโรจะจัดการกับการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรง หากมีการเตรียมการที่ดี เช่น มีการเพิ่มเงินสำรองแก่ธนาคารให้เพียงพอต่อการรองรับการขาดทุนจากการถือพันธบัตรกรีซได้ หรือมีกลไกที่พร้อมเข้าไปอัดฉีดสภาพคล่องต่อทั้งธนาคารและรัฐบาลที่ประสบปัญหา รวมทั้งการปรับให้กองทุนช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา (หรือที่เรียกว่ากองทุน EFSF) มีวงเงินที่มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มยูโรสามารถจำกัดวงของปัญหาไม่ให้ลุกลามไปประเทศอื่นๆ ได้ ผลกระทบก็อาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติ โดยรวมคือ ต้องจับตาว่ารัฐบาลกลุ่มยูโรจะสามารถรักษาเสถียรภาพของภาคการเงิน โดยเฉพาะภาคธนาคาร และเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้หรือไม่

ส่วนประเด็นที่คนเริ่มพูดถึงมากขึ้นคือกรีซจะต้องออกจากยูโรโซนหรือไม่ ผู้เขียนมองว่ายังเป็นไปได้น้อย หรือต่อให้เกิดขึ้นจริงคงไม่ใช่เร็ววันนี้ เพราการให้กรีซเลิกใช้เงินยูโรแล้วกลับมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นของตัวเอง (Drachma) ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก นอกจากนี้ การที่มีสมาชิกออกจากกลุ่มยูโรในเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง จะส่งผลรุนแรงต่อความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินยูโรซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลก รวมทั้งระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก จึงคาดว่ากลุ่มยูโรรวมทั้งประเทศมหาอำนาจอื่นๆ คงไม่ยอมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากปัญหายังคงยืดเยื้อรุนแรง กรีซก็อาจต้องหาวิธีเพื่อเลิกใช้เงินยูโร ทั้งนี้ การใช้เงินยูโรถือเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้และเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะกรีซไม่สามารถลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งออก อย่างที่หลายประเทศที่มีปัญหาหนี้สินภาครัฐทำกัน เช่น อาร์เจนตินาที่ยกเลิกการผูกค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตอีกครั้ง หรือไทยที่ปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเพื่อให้ภาคการส่งออกมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้กลุ่มยูโรจะมองว่าการแก้ปัญหาด้วยการให้กรีซปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีเยอรมนีเป็นต้นแบบจะช่วยได้ แต่การปฏิรูปลักษณะดังกล่าวเยอรมนีก็ต้องใช้เวลาถึง 15 ปี และอาจนานกว่านั้นมากในกรณีของกรีซที่มีปัญหาสะสมมากกว่า จนประชาชนอาจรับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำยาวนานไม่ไหว

สรุปแล้ว สิ่งที่รอกรีซและกลุ่มยูโรอยู่ข้างหน้าไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ และแน่นอนว่าโลก รวมทั้งไทยเราจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มยูโรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ดูได้จากช่วงที่มีข่าวไม่ดีออกมาก็ทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนมาก ยิ่งเมื่อรวมกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยิ่งน่าเป็นห่วง และสถานการณ์หลายอย่างตอนนี้เริ่มใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 แล้ว ดังนั้นไทยเราก็ควรเตรียมตัวตั้งรับให้ดีทั้งภาครัฐและเอกชน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ