SHARE
SCB EIC ARTICLE
31 สิงหาคม 2009

Debenture

หุ้นกู้

ผู้เขียน:  พรเทพ ชูพันธุ์

 477529807-s.jpg

Debenture (หุ้นกู้) 

การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ มีการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมากและมีลักษณะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น ระยะยาว หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (subordinate debenture) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน (unsecured debenture) เป็นต้น

 

แม้ว่าชื่อของหุ้นกู้จะมีคำว่าหุ้นอยู่ แต่ หุ้นกู้เป็นตราสารทางการเงินในกลุ่มตราสารหนี้ กล่าวคือ เป็นตราสารทางการเงินที่ผู้ออก ซึ่งจะมีฐานะเป็นลูกหนี้ มีข้อผูกพันทางกฎหมายว่าจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวด พร้อมกับการจ่ายเงินต้น หรือผลประโยชน์อื่นๆตามที่กำหนดให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ โดยหุ้นกู้เป็นตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ประเภทอื่น

 

ทำไมอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้แต่ละบริษัทต่างกัน?

อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่แตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุและประเภทของหุ้นกู้ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างกัน รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ของบริษัทผู้ออกซึ่งประเมินจากทั้งฐานะทางการเงินและชื่อเสียงของบริษัท เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว ถ้าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่ออกจะสูงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ ปตท.สผ. ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับสูงสุด นั่นคือ AAA จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทริส เรตติ้ง จะมีอัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหุ้นกู้ของบริษัทอื่นๆ โดยหุ้นกู้อายุ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 4.00% ขณะที่หุ้นกู้อายุ 5 ปี ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ A+ กำหนดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.75% เป็นต้น ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกู้นั้น ผู้ลงทุนจึงไม่ควรมองตัวเลขอัตราผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว

 

หุ้นกู้ระยะสั้นหรือระยะยาวดีกว่ากัน?

การเลือกลงทุนระหว่างหุ้นกู้อายุสั้นและยาวนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของผู้ลงทุนและความต้องการใช้เงินในอนาคต การลงทุนอายุสั้นหรือยาวจะต้องเหมาะสมกับแผนการออมและความต้องการใช้เงินของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากหุ้นกู้ไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดรองมากนัก อีกทั้งหุ้นกู้ที่มีอายุยาวกว่าจะยิ่งมีความผันผวนของราคามากกว่า ดังนั้นเงินที่จะมาลงทุนในหุ้นกู้อาจจะต้องเป็นเงินเย็นระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วหุ้นกู้อายุยาวมักจะให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกู้อายุสั้น

 

หุ้นกู้มีหลากหลายประเภท ควรลงทุนประเภทใด?

ตามปกติแล้ว หุ้นกู้มีหลายประเภท ซึ่งผู้ลงทุนมักจะได้ยินคำบางคำต่อท้ายการเสนอขายหุ้นกู้ เช่น เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ เป็นต้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวส่งผลให้หุ้นกู้มีอัตราผลตอบแทนแตกต่างกันด้วย ผู้ลงทุนจึงควรทำความเข้าใจลักษณะต่างๆ ของหุ้นกู้ที่จะลงทุนด้วย

 

ทั้งนี้ หากแบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง จะสามารถแบ่งเป็น หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (subordinate bond) และ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์ทดแทนและสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

 

ในกรณี แบ่ง ตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน ก็สามารถแบ่งออกเป็น หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและหุ้นกู้มีหลักประกัน ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ตามที่กำหนดมาค้ำประกันการออกหุ้นกู้นั้นและผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่เหนือสินทรัพย์นั้น หรือเป็นการค้ำประกันจากสถาบันอื่นก็ได้ โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ได้กำหนดให้การออกหุ้นกู้ชนิดนี้ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (bondholder's representative) ซึ่งในต่างประเทศอาจเรียกว่าผู้ดูแลสินทรัพย์ (trustee) เพื่อทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง รับจำนำ หรือรับหลักประกันอย่างอื่น และเพื่อการใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน

 

นอกจากนี้ยังสามารถ แบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง (embedded option) ที่ติดมาพร้อมกับหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝงอื่น (straight / fixed rate and option free bond) หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (floating rate bond) หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible bond) หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (amortizing bond) เป็นต้น

 

ผู้ลงทุนจะเปรียบเทียบความเสี่ยงของหุ้นกู้ได้อย่างไร

ในกระบวนการออกหุ้นกู้ สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้หุ้นกู้ที่ออกเสนอขายนั้นต้องได้รับการจัดอันดับเครดิต หรือจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากบริษัทจัดอันดับเครดิตในประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญให้แก่นักลงทุนที่จะแสดงความเสี่ยงที่บริษัทผู้ออกจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และเงินต้นตามกำหนด อันดับความน่าเชื่อถือจึงเป็นด่านแรกที่สามารถใช้วัดความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้นี้ ปัจจุบันมีสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศ 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 

 

พิจารณาอันดับเครดิตอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ในการตัดสินใจลงทุน?

อันดับเครดิตของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องให้ความสำคัญ แต่ในการตัดสินใจลงทุนนั้น ผู้ลงทุนไม่ควรดูปัจจัยดังกล่าวเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวอาจจะไม่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง บริษัทที่ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา เช่น AIG ซึ่ง rating agencies ที่ทำให้ทุกคนตายใจว่า AIG น่าจะมีความมั่นคงมาก ไม่เห็นความเสี่ยงตามจริง ส่งผลให้กลุ่ม financial products ของ AIG ได้ขยายการทำธุรกรรมออกไปครอบคลุมตราสารอนุพันธ์ต่างๆ รวมถึงสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่มาก และประสบปัญหาในที่สุด

 

ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกู้นั้น ผู้ลงทุนจึงต้องทำการบ้านโดยศึกษาข้อมูลด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการทำกำไร ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจโดยอาจจะดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt-to-equity ratio) และความสามารถในการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัท (interest coverage ratio) รวมไปถึงกฎระเบียบของทางการ นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงชื่อเสียงของผู้บริหารและผู้ออกหุ้นกู้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวน

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ