SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 สิงหาคม 2010

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบกรับภาระราคา LPG จริงหรือ

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบกรับภาระราคา LPG จริงหรือ

ผู้เขียน:  พรเทพ ชูพันธุ์

 150504428.jpg

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบกรับภาระราคา LPG จริงหรือ   

"...คนไทยเตรียมใจรับก๊าซหุงต้ม (LPG) ขึ้นราคาในอีก 6 เดือนข้างหน้า หลังปล่อยให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซให้ ปตท.เหยียบ 13,224 ล้านบาท เสี่ยงต่อสภาพคล่องกองทุนโดยตรง สุดท้ายกระทรวงพลังงานเสนอ2 วิธี5 ทางเลือกในการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม มีทั้งการขึ้นราคาขายปลีกโดยตรงหรือปรับสูตรราคาก๊าซ ณ หน้าโรงกลั่นใหม่..." 

แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (7 กรกฎาคม 2553) 

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคืออะไร ?

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขึ้นมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2516 ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก (ครั้งที่ 1) เกิดการขาดแคลนน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการออก พรก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ซึ่งต่อมาในปี 2520 ได้มีการใช้อำนาจตาม พรก. ดังกล่าวออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมัน และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2522 ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักคือการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันและลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ซึ่งหลังจากรัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล ก๊าด และน้ำมันเตาในปี 2534 ทำให้หน้าที่ของกองทุนน้ำมันฯ เน้นในส่วนของราคาก๊าซเป็นหลักจนกระทั่งปี 2547 - 2548 ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก กองทุนน้ำมันจึงถูกนำมาใช้ลดความผันผวนของราคาน้ำมันอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่การเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันอย่างมากในช่วงดังกล่าวก็ทำให้ฐานะของกองทุนน้ำมันติดลบจนเป็นหนี้ถึงกว่า 8 หมื่นล้านบาท และต้องใช้เวลาอีก 2 ปีเต็มกว่าจะล้างหนี้สะสมดังกล่าวได้หมด

ก๊าซหุงต้มที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ ถูกกว่าความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ?

ราคาขายปลีก LPG สะท้อนราคาเพียงไม่ถึงครึ่งของราคา LPG ในตลาดโลก ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดราคาขายปลีก LPG ไว้ที่ราว 18 บาทต่อกิโลกรัม (Bt/kg) โดยการควบคุมราคา LPG หน้าโรงกลั่นไว้ที่ราว 11 Bt/kg หรือเทียบเท่ากับ 330 ดอลลาร์ต่อเมตริกตัน (USD/ton) ซึ่งต่ำกว่าราคาจริงๆ ของ LPG ในตลาดโลกที่อยู่ราว 700 USD/ton แม้คนไทยส่วนใหญ่อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมองว่า LPG มาจากอ่าวไทยจึงเป็นของคนไทยทุกคนที่ย่อมมีสิทธิใช้ในราคาถูกกว่าตลาดโลก อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่ามุมมองดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ LPG ไม่เกินไปกว่าที่เราหาได้จากอ่าวไทย เพราะส่วนที่ใช้เกินจะต้องนำเข้าในราคาตลาดโลกซึ่งแพงกว่ามาก

เราใช้ LPG เกินตัวจนอาจต้องนำเข้าถึงเกือบ 1.7 ล้านเมตริกตันในปีนี้ ย้อนไปเพียงเมื่อ 3 ปีก่อน (2550) ไทยยังเป็นประเทศที่มีการส่งออก LPG (ผลิตได้เกินการใช้ในประเทศ) แต่พอปี 2551 ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างมากทำให้มีการหันมาใช้ LPG ในรถยนต์เพิ่มขึ้น การใช้ LPG ในประเทศปี 2551 เกินกำลังการผลิตจนต้องนำเข้า LPG ถึง 4.3 แสนเมตริกตัน ซึ่งการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 7.4 แสนเมตริกตันในปี 2552  และประมาณกันว่าการนำเข้าอาจสูงถึงเกือบ 1.7 ล้านเมตริกตัน ในปี 2553

คิดเป็นเงินที่กองทุนน้ำมันต้องแบกรับภาระถึงเดือนละกว่า 1700 ล้านบาท หากปี 2553 เราต้องนำเข้า LPG ถึง1.7 ล้านเมตริกตันจริง จะคิดเป็นประมาณ 1.4 แสนเมตริกตันในแต่ละเดือน โดยนำเข้าในราคาตลาดโลก 725 USD/ton แล้วนำมาขายขาดทุนด้วยราคาหน้าโรงกลั่นราว 330 USD/ton ซึ่งคิดเป็นการขาดทุนเกือบ 400 USD/ton หรือราว 1,760 ล้านบาทต่อเดือนที่กองทุนน้ำมันต้องจ่ายออกไปเพื่อให้คนไทยได้ใช้ LPG ในราคาถูกเกินจริงกันต่อไป

ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ มีเงินเพียงพอหรือไม่ ?

ตอบสั้นๆ ว่ากองทุนน้ำมันมีเงินพอ และที่จริงมีการส่งต่อภาระให้ผู้บริโภคส่วนอื่นอยู่แล้ว โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2553 มีเงินอยู่ 2.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นอย่างน้อยก็น่าจะเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายในการตรึงราคา LPG ไปได้อีกราว 1 ปีโดยไม่ต้องมีเงินไหลเข้า แต่ในความเป็นจริง กองทุนน้ำมันจะมีเพียงพอสำหรับการตรึงราคา LPG ไปได้นานกว่านั้นมาก เพราะกองทุนน้ำมันฯ แทบจะเรียกได้ว่าทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางเท่านั้น ไม่ได้ควักเนื้อจากเงินที่มีอยู่มาอุดหนุนค่าก๊าซมากมายเท่าใดนัก เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้มีการส่งต่อภาระให้ผู้บริโภคส่วนอื่นมาช่วยส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันไว้แล้ว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไปชดเชยราคานำเข้า LPG ได้อย่างไร้กังวล

ผู้บริโภคกลุ่มไหนที่ถูกกำหนดให้มาแบกรับภาระราคา LPG?

คำตอบคือผู้ใช้น้ำมันทั่วไปเกือบทุกคน ราคาน้ำมันหน้าปั้มที่ทุกคนจ่ายกันอยู่ตอนนี้จริงๆ แล้วสูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นถึง 70-130% เลยทีเดียว ยกตัวอย่าง จากรูปที่ 1 จะพบว่า แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ที่มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 31.2 บาท/ลิตร สูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นซึ่งอยู่ที่ 17.8 บาท/ลิตร ถึง 75% แม้จะบวกค่าการตลาดอีก 1.4 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันก็น่าจะอยู่ที่ 19.2 บาท/ลิตร เท่านั้น แต่เมื่อรวมกับภาษีราว 9 บาท/ลิตร (เช่นภาษีสรรพสามิตร ภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเงินสมทบกองทุนน้ำมัน 2.8 บาท/ลิตร กับเงินสมทบกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอีกลิตรละหนึ่งสลึง เลยทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นเป็น 31.2 บาท/ลิตร ดังกล่าว จึงพูดง่ายๆ ได้ว่า ผู้ที่แบกรับภาระของการตรึงราคา LPG แท้จริงแล้วไม่ใช่กองทุนน้ำมันฯ แต่เป็นผู้ใช้น้ำมันทั่วไปนั่นเอง ซึ่งหากใครอยากรู้ว่าตนเองมีส่วนในการแบกรับภาระดังกล่าวมากน้อยแค่ไหนสามารถหาดูข้อมูลสัดส่วนการส่งเงินสมทบกองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแต่ละชนิดได้จาก website ของกระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html)

ปริมาณเงินไหลเข้ากองทุนดังกล่าวน่าจะหาทางนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กว่านี้ หากย้อนกลับไปดูในปีที่กองทุนน้ำมันยังแบกรับภาระราคา LPG และราคาน้ำมันไม่มาก อย่างปี 2549 และ 2550 จะพบว่าปริมาณเงินไหลเข้ากองทุนสุทธิสูงถึงปีประมาณ 4 หมื่นล้านบาท (พอจะสร้างรถไฟฟ้าได้ปีละ 1 สายสั้นๆ) ถ้าเราหาวิธีนำเงินส่วนนี้มาสร้างระบบขนส่งแบบรางที่มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานของไทย (ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้า) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยโดยลดค่าใช้จ่าย logistic อีกด้วย เพราะค่าใช้จ่าย logistic ของไทยนับว่าสูงมาก โดยสูงถึง 19% ของ GDP เทียบกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปซึ่งมีค่าใช้จ่าย logistic อยู่ในระดับราว 10% ของ GDP เท่านั้น หรือแม้แต่อินเดียก็มีค่าใช้จ่าย logistics เพียง 13% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด

 

1477_20100915154015.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ