SHARE
SCB EIC ARTICLE
20 กันยายน 2010

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) บอกอะไรเรา

ผู้เขียน:  ชุดา ชุ่มมี - EIC | Economic Intelligence Center

 156279982.jpg

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) บอกอะไรเรา    

"สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งขึ้นร้อยละ 7.7 นับจากต้นปีและหากพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับต้นปี ..."

แหล่งที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (10 กันยายน 2553)

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) คืออะไร?  

ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เป็นดัชนีชี้วัดค่าเงินที่สร้างขึ้นจากการคำนวณหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินอื่นที่สำคัญอีก 21 สกุล โดยจะถ่วงน้ำหนักตามความสำคัญทางการค้ากับประเทศเหล่านั้น ทั้งในฐานะประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราส่งออกสินค้าไปขายที่ประเทศไหนมาก หรือมีคู่แข่งที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันกับเราไปขายในตลาดโลก เราก็จะให้น้ำหนักกับสกุลเงินของประเทศนั้นๆ มากขึ้นตามไปด้วย

ดูแค่ THB/USD ไม่พอหรือ ทำไมต้องดู NEER?

ในระยะหลังนี้ เราคงจะได้ยินข่าวเรื่อง "บาทแข็ง" กันค่อนข้างหนาหูจนแทบจะเป็นข่าวรายวันตามสื่อต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อพูดถึง ค่าเงินบาทหรืออัตราแลกเปลี่ยน เรามักจะหมายถึง "bilateral exchange rate" หรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน 2 สกุล ซึ่งตัวเลขที่มักจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (THB/USD) เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักที่เราใช้ในการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แข็งค่าขึ้นไปแล้วถึงกว่า 8% (ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งนับเป็นการแข็งค่าที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา

1629_20101021174915.jpg

อย่างไรก็ดี การพิจารณาค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียวในลักษณะของ bilateral exchange rate เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องความสามารถในการส่งออกของประเทศไม่น่าจะเป็นข้อมูลที่เพียงพอและไม่สามารถสะท้อนภาพรวมความเคลื่อนไหวและผลกระทบของค่าเงินบาทได้อย่างครบถ้วนมากนัก เนื่องจากยังขาดมิติ
ในเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเงินสกุลสำคัญอื่นๆ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมดัชนีค่าเงินบาท หรือ NEER จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า เนื่องจากได้คำนึงถึงแนวโน้มค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินที่สำคัญถึง 21 สกุล ที่เป็นทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบกับสกุลใดเพียง
สกุลหนึ่งเท่านั้น โดยหาก NEER ปรับเพิ่มขึ้นจะแสดงว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทยโดยรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในด้านอัตราแลกเปลี่ยน และในทางกลับกัน หาก NEER ปรับลดลง ก็จะบ่งบอกถึงความได้เปรียบของผู้ส่งออกไทยในตลาดโลก

มีดัชนีอะไรที่ชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ดีกว่า NEER หรือไม่?

ถึงแม้ว่า NEER จะเป็นเครื่องชี้สำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเรื่องปัจจัยค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับระดับราคาสินค้าของเราเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ดัชนีอีกตัวหนึ่งที่มักใช้ควบคู่ไปกับ NEER คือ ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) ซึ่งจะรวมเอาปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยด้านระดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อช่วยให้การประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของประเทศมีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของมาเลเซีย เราก็จะมีความได้เปรียบมาเลเซียในแง่ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากราคาสินค้าของเราจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ดังนั้น REER จึงเป็นดัชนีที่ใช้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ดีกว่าและเหมาะสมกว่า NEER เนื่องจากได้คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเข้าไว้ด้วยแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจและอยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ www.bot.or.th ซึ่งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นประจำทุกเดือน

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ