SHARE
SCB EIC ARTICLE
18 สิงหาคม 2009

GDP (Gross Domestic Product)

ดุลงบประมาณ (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)

ผู้เขียน:  พรเทพ ชูพันธุ์ (pornthep.jubhandhu@scb.co.th)

 145832270.jpg

ดุลงบประมาณ (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)
GDP (Gross Domestic Product)   

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) แถลงว่า " GDPในไตรมาสที่ 1/2552 ลดลงร้อยละ 7.1 อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีการส่งออกสินค้าและบริการเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 19.9 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 38.3 การลงทุนลดลงร้อยละ 15.8 การใช้จ่ายของครัวเรือนลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนการใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.8 ... การผลิตลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสาขาหลัก ลดลงร้อยละ 14.9  สาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 7.9 สาขาการค้าลดลงร้อยละ 4.0 สาขาภัตตาคารและโรงแรมลดลงร้อยละ 5.0 และสาขาคมนาคมและขนส่ง ลดลงร้อยละ 6.5 " 
แหล่งที่มา :  NESDB 


GDP คืออะไร?

GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งที่บ่งบอกถึงมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นหนึ่งปี โดยการคำนวณมูลค่า GDP มีวิธีคำนวณหลักๆ ที่นิยมอยู่ 2 วิธีคือ 1) การคำนวณจากมูลค่าสินค้าและบริการ โดยดูจากฝั่งผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ ซึ่งสินค้าที่ผลิตและถูกเก็บไว้ในโกดังก็นับใน GDP ด้วยเพราะถือว่าผลิตแล้ว หากดูจากรายงานข้างบน จะเห็นว่ามีการพูดถึงมูลค่าของการผลิตทางอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การค้า การขนส่ง รวมไปถึงการบริการโรงแรมและร้านอาหารด้วย สำหรับวิธีคำนวณที่นิยมอีกวิธีคือ 2) การคำนวณจากมูลค่าสินค้าที่และบริการที่ถูกซื้อโดยแบ่งตามผู้บริโภค เช่นการบริโภคภาคครัวเรือน ภาครัฐบาล  การลงทุน รวมไปถึงการส่งออก (บริโภคโดยคนที่อยู่นอกประเทศไทย) และเนื่องจากมูลค่า GDP คำนวณจาก ปริมาณสินค้าและบริการ x ราคา ทำให้ GDP มีหน่วยเป็นบาท


แต่ทำไม
GDP ในข่าวมักมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์?

สิ่งที่น่าสนใจกว่าตัวเลขมูลค่า GDP ก็คืออัตราการเติบโต (หรือหดตัว) ของมูลค่า GDP ซึ่งมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพราะอัตราการขยายตัว (หรือหดตัว) จะบอกเราว่าคนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น (หรือลดลง) กว่าปีที่แล้ว การจ้างงานจะขยายตัว (หรือหดตัว) ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (หรือแย่ลง) ของคนในชาติด้วย  คิดง่ายๆ ก็คือถ้าเราผลิตของออกมาขายได้มากกว่าปีที่แล้วความมั่งคั่งของคนในชาติก็น่าจะมากขึ้นกว่าปีที่แล้วด้วย

 
ทำไมต้องมีคำว่า "แท้จริง" ?

เวลาอ่านข่าวหรือรายงานภาวะเศรษฐกิจเกี่ยวกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เรามักจะเจอกับคำว่า "มูลค่าที่แท้จริง" หรือ "อัตราการขยายตัวที่แท้จริง" คำถามก็คือคำว่า "แท้จริง" แปลว่าอะไร? การคำนวณอัตราการเติบโตของมูลค่า GDP หากใช้ราคาสินค้าในแต่ละปีจะทำให้อัตราการเติบโตที่ได้มีการเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ และอาจไม่สะท้อนถึงปริมาณการผลิตหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง เราเรียกมูลค่า GDP แบบที่คำนวณจากราคาปีปัจจุบันดังกล่าวว่า Nominal GDP  แต่ถ้าเราต้องการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลิตหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงโดยไม่นำผลของเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องใช้การคำนวณแบบราคาคงที่ (โดยประเทศไทยใช้ราคาสินค้าและบริการในปี 1988 เป็นมาตรฐาน)  เราเรียกมูลค่า GDP ที่คำนวณได้ในแบบราคาคงที่นี้ว่า Real GDP และเนื่องจากเราใช้ราคาคงที่ ดังนั้นการเติบโตของ GDP ที่คำนวณได้จึงสะท้อนถึงปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น (หรือก็คือกิจกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น) และไม่มีผลจากเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจหดตัว
7% แปลว่าอะไร แย่มากไหม?

เนื่องจากตัวเลขการเติบโตที่รายงานในข่าวมักเป็น Real terms ดังนั้นความหมายของมันก็คือปริมาณผลผลิตหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการหดตัวไป 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามปกติเมื่อผลผลิตลดลง ก็แปลว่ากิจกรรมการผลิตลดลง ซึ่งก็หมายความว่าอัตราการว่างงานก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าถามว่าการติดลบ 7% แย่มากหรือไม่? คำตอบก็คือแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี และกลุ่มธุรกิจที่มีการหดตัวมากที่สุดก็คือ กลุ่มการผลิตอุตสาหกรรม กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มขนส่งสื่อสาร กลุ่มโรงแรมร้านอาหาร และกลุ่มร้านค้าพาณิชย์

อะไรเป็นลักษณะเด่นของการหดตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้
? 

ลักษณะเด่นของการชะลอตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้คือการหดตัวอย่างรุนแรงของการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งการหดตัวของการส่งออกกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทขนาดใหญ่ในภาคการผลิต ในขณะที่การหดตัวของการท่องเที่ยวกำลังส่งผลกระทบต่อภาคบริการที่มีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมาก แม้ตัวเลขคนตกงานที่ผ่านมาจะยังไม่แย่อย่างที่หลายคนมอง แต่ในอนาคตน่าจะถูกกดดันมากขึ้นจากการหดตัวของการท่องเที่ยว หากดูภาคการผลิตเพื่อการส่งออกหลักๆ อันได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ อุปกรณ์เครื่องจักร ซึ่งรวมๆ กันแล้ว คิดเป็น 45% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ในแง่ของการจ้างงาน รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.4% ของแรงงานทั้งหมด ดังนั้นผลกระทบจากการส่งออกต่อแรงงานอาจไม่รุนแรงนัก แต่เมื่อดูภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการค้าขาย รวมๆ กันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของการจ้างงาน ดังนั้นการหดตัวของการท่องเที่ยวจะมีผลต่อการจ้างงานในประเทศค่อนข้างมาก โดยแรงงานระดับรากหญ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ เศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ไม่ค่อยกระทบต่อความมั่งคั่งของคนที่มีฐานะมากนัก เพราะราคาสินทรัพย์ไม่ได้ลดลงอย่างรุนแรงเหมือนในปี 2540 ดังนั้นผู้มีฐานะน่าจะยังมีแรงจับจ่ายใช้สอยต่อไปแต่แรงงานระดับล่างจะมีกำลังซื้อลดลง


แนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง
2552 จะเป็นอย่างไร?

ทาง SCB Economic Intelligence Center (SCB EIC) มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 5 ในปี 2552 เราคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะหดตัว 6-7%YOY ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนเมษายน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว และคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่ง GDP น่าจะติดลบเฉลี่ยประมาณ 2-3%YOY ในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้เราจะรอดหรือไม่ก็อยู่ที่เราต้องช่วยกันดูแลบ้านเมืองไม่ให้เกิดความไม่สงบขึ้นมาซ้ำเติม เพราะสภานการณ์ภายนอกประเทศก็แย่อยู่แล้ว

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ