ประเทศไทย...จุดเด่น จุดด้อย และข้อจำกัดที่รอการปลดล็อค
ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งและรอดตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมาได้ด้วยดีด้วยจุดเด่นสำคัญคือศักยภาพในการเป็นครัวของโลก และความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสองอุตสาหกรรมสำคัญคือยานยนต์และชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง แต่การจะเลื่อนขั้นไปสู่ระดับต่อไปจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปัจจัยสนุบสนุนต่างๆ ให้เอื้ออำนวยมากขึ้น ซึ่งรวมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยแรงงานและศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกับภาคบริการที่แม้ดูเหมือนว่าคนไทยจะได้เปรียบค่อนข้างชัดเจนอย่างเช่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยี
ผู้เขียน: SCB Economic Intelligence Center (EIC)
ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งและรอดตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมาได้ด้วยดีด้วยจุดเด่นสำคัญคือศักยภาพในการเป็นครัวของโลก และความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสองอุตสาหกรรมสำคัญคือยานยนต์และชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง แต่การจะเลื่อนขั้นไปสู่ระดับต่อไปจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปัจจัยสนุบสนุนต่างๆ ให้เอื้ออำนวยมากขึ้น ซึ่งรวมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยแรงงานและศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกับภาคบริการที่แม้ดูเหมือนว่าคนไทยจะได้เปรียบค่อนข้างชัดเจนอย่างเช่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยี
เศรษฐกิจของไทยหลังฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นต้นมาเติบโตด้วยแรงผลักดันจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยในช่วงปี 2000-2010 (ไม่คำนวณรวมปี 2011 เนื่องจากเป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัย) ภาคอุตสาหกรรมซึ่งรวมภาคการผลิต เหมืองแร่ และการก่อสร้างนั้น เติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5.1% ในขณะที่ภาคเกษตรและภาคบริการเติบโตเฉลี่ย 2.5% และ 4.6% ต่อปีตามลำดับ แต่ภาคเกษตรได้รับผลดีเพิ่มเติมจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยนั้นมีสัดส่วนของภาคบริการลดลงจากราว 57% ในปี 2000 เหลือเพียง 52% ในปี 2010 สวนทางกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนใน GDP (ณ ราคาปัจจุบัน) ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 34% และ 9% เป็น 37% และ 11% ตามลำดับในช่วงเวลาเดียวกัน
แม้สัดส่วนภาคบริการจะลดลง แต่แก่นความสามารถหลักอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็ยังอยู่ในภาคบริการซึ่งค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไข้ต่างชาติ รวมถึงกระแสใหม่ที่อาจจะไม่เคยนึกถึงในอดีตอย่างเช่น การเข้ามาจัดงานแต่งงานในประเทศไทยของชาวอินเดีย เป็นลักษณะที่ยืนยันความน่าถึงดูดของประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและการให้บริการรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดี ซึ่งจุดเด่นและข้อได้เปรียบที่สำคัญคือสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ความคุ้มค่าด้านราคา และจิตใจบริการ โดยทั้งสามจุดเด่นล้วนเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทยและคนไทย แต่ปัจจุบันก็มีแนวโน้มเผชิญกับการเข้ามาแข่งขันของเงินทุนต่างชาติมากขึ้นจากการเปิดเสรี ดังนั้น แม้จะเป็นภาคบริการที่ได้เปรียบจากทักษะของคนไทย แต่ทุนต่างชาติที่อยากเข้ามาก็มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของการบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจองห้องพักออนไลน์ การพัฒนาซอฟแวร์สำหรับบริหารจัดการโรงแรมให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการพัฒนามากขึ้นอยู่ดีเพื่อให้ธุรกิจของคนไทยยังสามารถแข่งขันได้ต่อไป
สินค้า 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของภาคการผลิตทั้งหมด นำโดยผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์(เม็ดพลาสติก) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก กลุ่มฮาร์ดดิสก์ และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52% ของมูลค่าจากภาคการผลิตทั้งหมดในปี 2011 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ และยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยยางและพลาสติกมีสัดส่วนในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2000 เป็น 8% ในปี 2011 กลุ่มฮาร์ดดิสก์เพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 7% และยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นจาก 4% เป็น 7% สวนทางกับภาคการผลิตเดิมอย่างสิ่งทอและเสื้อผ้าที่มีสัดส่วนลดลงจาก 8% และ 6% เหลือราว 4% และ 3% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากไปสู่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยี
ระดับกลางและสูง อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการพึ่งพาการนำเข้า ชิ้นส่วน องค์ประกอบ ทุนและเทคโนโลยีจาก
ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ก็ยังคงอาศัยความได้เปรียบโดย
เปรียบเทียบจากขั้นตอนการใช้แรงงานไร้ฝีมือค่าแรงต่ำและทุนเป็นหลัก และผลผลิตส่วนใหญ่ของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญในภาคการผลิตเป็นการผลิตเพื่อส่งออก เช่น เม็ดพลาสติกมีสัดส่วนการส่งออกราว 60% ของยอดการผลิต และรถยนต์มีสัดส่วนการส่งออกราวครึ่งหนึ่งของยอดการผลิต เป็นต้น
การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรน่าจะเป็นภาคการผลิตที่ไทยมีข้อได้เปรียบอย่างแท้จริงเพราะค่อนข้างมีความครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการแปรรูป และมีความสามารถในการแข่งขันสำหรับการเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อีกทั้งอัตราส่วนมูลค่าเพิ่มต่อ import content ยังค่อนข้างสูงกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แม้จะมีผลผลิตมูลค่าสูงในไทยแต่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักอยู่ดี ความสามารถของธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหารยังสังเกตได้ชัดเจนจากการที่บริษัทของไทยก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย
แต่สถานะปัจจุบันของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างยานยนต์และชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ยังคงเป็นรูปแบบของการรับจ้างผลิต เนื่องจากพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยทั้งสองอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญคือยานยนต์และชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นมาด้วยเงินลงทุนจากต่างชาติ และผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมก็เป็นคนต่างชาติ แต่ก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยค่อนข้างสูง เพราะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่พัฒนามาสู่ระดับที่มีการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ โดยปัจจุบันรถกระบะ 1 ตันที่ผลิตในไทยมีสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศราว 80-90% อีกทั้งมีการใช้ฝีมือแรงงานในสัดส่วนที่สูง และยังเป็นการช่วยพัฒนาให้แรงงานมีทักษะสูงขึ้นต่อเนื่องจนทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพของการผลิตรถยนต์ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงต่อไปในอนาคต
อัตราการครอบครองรถยนต์ที่ยังค่อนข้างต่ำ ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจซีกโลกตะวันออก จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยต่อไป อัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ที่อยู่ที่ระดับราว 60 คันต่อประชากร 1,000 คนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจซีกโลกตะวันออกซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย อีกทั้งการเข้าสู่ AEC ที่ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่จากการเปิดเสรีการค้าและการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่แข็งแกร่ง จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยืนยันได้อย่างดีด้วยความสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเงินลงทุนจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว โดยมูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นที่อนุมัติโดย BOI ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2012 มีมูลค่าถึงประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 150% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนอย่างน้อย 2 รายแสดงความสนใจที่จะลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอีกด้วย
ในขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยน่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องทั้งจากอุปสงค์ในตลาดโลก และจำนวนผู้เล่นในไทยที่กระจายความเสี่ยงไปยังฐานการผลิตอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2013 ความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มีแนวโน้มลดลงหรือไม่เติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีสาเหตุมาจากทั้งผลต่อเนื่องของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทำให้คำสั่งซื้อฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลง ฐานผลิตที่สำคัญของไทยถูกน้ำท่วมหนัก ทำให้คู่ค้าหันไปซื้อสินค้าจากฐานผลิตอื่นแทนจนถึงขณะนี้คำสั่งซื้อของผู้ผลิตบางรายยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยสินค้าบางอย่างไม่ได้ใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเลต ที่ตลาดกำลังเติบโต มีหน่วยเก็บความจำเป็นเอสดี การ์ด ส่วนกลุ่มที่ใช้ฮาร์ดดิสก์จะเป็นโน้ตบุ๊ก ,คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จำนวนมาก แต่ตลาดกลุ่มนี้ไม่โตแบบที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีการขยายตัวของตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในปี 2013 เปรียบเทียบกับในอดีตจะมีการเติบโตสูงตั้งแต่ 10-15% ต่อปี นอกจากนี้ บางบริษัทได้รับนโยบายจากบริษัทแม่ให้กระจายความเสี่ยงไปยังฐานการผลิตในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และลดกำลังผลิตในไทยลงจาก 100% เหลือ 60-70% เป็นต้น
ความสามารถในการปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ( R&D) และการเพิ่มทักษะและผลิตภาพแรงงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านี้ต่อไป ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ค่อนข้างชัดเจน โดยรถยนต์กำลังมุ่งไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกและการเพิ่มเติมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจไทยจำเป็นต้องรักษาสถานะในห่วงโซ่การผลิตด้วยการพัฒนาความสามารถให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว และการอนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท นับเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นที่เห็นพ้องตรงกันว่าประเทศไทยควรมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ และ/หรือ ปลายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และริเริ่มการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น
การเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยนวัตกรรมยังมีข้อจำกัด อีกทั้งผลิตภาพแรงงานยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อุตสาหกรรมหลักสองอุตสาหกรรมของไทยนี้อาศัยความได้เปรียบในเรื่องของแรงงานและทุนจากต่างชาติเป็นหลัก แต่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่ายังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นข้อจำกัดทางด้านความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมของไทย เพราะสังเกตได้ว่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันทางด้าน innovation ของไทยนั้นถูกจัดอยู่ในอันดับ 68 ซึ่งแย่กว่าคู่แข่งใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่อยู่ที่อันดับ 8, 25, และ 39 ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นผลิตภาพของแรงงานไทยนับว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2000 เป็น 15,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 2.5% ต่อปี ในขณะที่ของประเทศมาเลเซียเพิ่มจาก 26,700 เป็น 35,000 ดอลลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นราว 3.0% ต่อปีซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตของไทยทั้งๆ ที่ฐานสูงกว่า ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงถือเป็นแนวที่ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่จำเป็นต่อความสามารถในการเติบโตต่อไปของไทย อาจจะคล้ายๆ กับอินโดนีเซียคือความจำเป็นของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่อาจจะต่างกันในเรื่องของลำดับขั้นในการเติบโต เพราะในขณะที่อินโดนีเซียกำลังเติบโตจากทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อีกทั้งประชากรของอินโดนีเซียที่กำลังเริ่มเข้าสู่ middle income class มากขึ้น ประเทศไทยน่าจะกำลังอยู่ที่จุดที่ต้องเปลี่ยนไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นมากกว่า ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานของไทยในปัจจุบันดูเหมือนจะยังเป็นข้อจำกัดที่เป็นคอขวดสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนของภาครัฐเฉลี่ยคิดเป็นเพียง 6% ต่อ GDP ลดลงจากช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งที่สัดส่วนดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านของภาครัฐ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการขนส่งทางรางนั้นน่าจะเป็นอีกหนึ่งการปลดล๊อกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยต่อไป
ผนวกกับจุดเด่นด้านที่ตั้งของประเทศและศักยภาพในการเติบโตของ CLMV จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC อย่างมาก การตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของประเทศที่มีแผ่นดินติดต่อกันในภูมิภาคอาเซียน ทำให้การพัฒนาเครือข่ายถนนทุกเส้นย่อยในโครงการ Great Mekong Subregion (GMS) economic corridor ตัดผ่านประเทศไทย ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการค้าการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในประเทศ และการค้าข้ามพรมแดนที่จะต่อยอดขยายตัวได้ง่ายขึ้นจากการค้าชายแดนที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตสูงอยู่แล้ว (ช่วงสามปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 12% ต่อปี)โดยเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยกว่า 2,400 กิโลเมตร และมีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสอดรับการนโยบายเปิดประเทศมากขึ้นของพม่า
รวมถึงยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศแบบมีทิศทางและเป้าหมายมากขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) จะส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดย BOI จะมุ่งเน้นส่งเสริมกิจการที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว การก่อให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาคและมีการรวมตัวใหม่ของการลงทุน รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ส่งผลให้กิจการที่มีความซับซ้อนมากและใช้เทคโนโลยีสูง จะมีแนวโน้มได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ใหม่จะเสมือนการสร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจที่เน้นการวิจัยและพัฒนาที่จะกลายเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเป็นหลัก ซึ่งจะกลายเป็นกลไกผลักดันให้ธุรกิจอื่นๆ พัฒนาไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคตต่อไป
Key takeaways:
|