SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 กุมภาพันธ์ 2011

Mid year budget

งบประมาณกลางปี

ผู้เขียน:  พรเทพ ชูพันธุ์

 145832270.jpg

งบประมาณกลางปี จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน?
 

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์การเงินการธนาคาร คอลัมน์เกร็ดการเงิน  

"...ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกลางปี 2554 ไม่เกิน 110,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นชดเชยเงินคงคลัง 84,000 ล้านบาท งบประมาณให้กับท้องถิ่น 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะจัดสรรให้กับงบประมาณฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยและอุทกภัยที่เกิดขึ้น ประมาณ 10,000 ล้านบาท ... สำหรับสาเหตุที่ต้องจัดทำงบประมาณกลางปีเนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 เกินกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ประมาณ 41,000 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงคาดการณ์การจัดเก็บรายได้ในปี 2554 เกินกว่าเป้าหมายประมาณ 120,000 ล้านบาท"  

แหล่งที่มา: กรมประชาสัมพันธ์ (18 มกราคม 2554)

งบประมาณกลางปีคืออะไร ?

งบประมาณกลางปีหรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "งบกลางปี" นั้น จากชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดทำขึ้นในช่วงกลางปี ซึ่งในที่นี้หมายถึง "ปีงบประมาณ" ซึ่งแตกต่างจาก "ปีปฏิทิน" ตรงที่ปีปฏิทินนั้นเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมไปสิ้นสุดในเดือนธันวาคม แต่ปีงบประมาณเริ่มต้นจากเดือนตุลาคมปีก่อนหน้าไปสิ้นสุดในเดือนกันยายนของปีถัดไป เช่นปัจจุบันเราอยู่ในปีงบประมาณ 2554 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ไปสิ้นสุดที่เดือนกันยายน 2554 เป็นต้น

สำหรับการจัดทำงบประมาณประจำปีตามปกตินั้น รัฐบาลจะเริ่มวางแผนจัดสรรงบประมาณกันตั้งแต่ช่วงต้นปีไปเรื่อยจนกระทั่งสิ้นสุดการอภิปรายและลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมักจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม ต่อจากนั้นจะเป็นการอภิปรายโดยวุฒิสภาก่อนจะประกาศเป็น "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี" ในเดือนกันยายน เพื่อให้สามารถเริ่มใช้เม็ดเงินได้ในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณพอดี

สำหรับงบกลางปีนั้นไม่ได้จำเป็นต้องทำกันทุกปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา อนุมัติกรอบวงเงินงบกลางปี 2554 โดยมีวงเงินถึง 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 5% ของวงเงินงบประมาณประจำปี 2554 ซึ่งตั้งไว้เดิมที่ 2.07 ล้านล้านบาท ทำให้มีคำถามตามมาว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้มากมายหรือไม่ และจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

การตั้งงบกลางปีจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับรัฐบาลมากมายหรือไม่?

สำหรับงบกลางปีในครั้งนี้ ขอตอบแบบมีเงื่อนไขว่า "น่าจะไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้" ทั้งนี้กระทรวงการคลังชี้แจงว่างบกลางปีจะเอาเงินมาจากภาษีที่คาดว่าจะเก็บได้เกินเป้าถึง 1.2 แสนล้านบาท โดยดูจากช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม-ธันวาคม 2553) มีการเก็บภาษีได้เกินกว่าที่วางแผนเอาไว้เดิมถึง 4.1 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลคาดว่าทั้งปีอย่างน้อยๆ ก็น่าจะเก็บเงินได้เกินเป้าราว 1.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังมีความเสี่ยง เนื่องจาก 1) การประมาณการรายได้ดังกล่าวเกิดจากตัวเลขเพียง 3 เดือนแรกของปีอนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งยากจะคาดเดา และ 2) รัฐบาลมีสมมติฐานว่ารายได้ภาษีจะโตเร็วกว่า GDP ซึ่งเป็นไปได้แต่อาจไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ หากว่ารัฐเก็บภาษีได้เกินเป้า 1.2 แสนล้านบาทจริง ก็จะมีรายได้อยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาทคิดเป็นการเติบโตของรายได้ราว 7.4% เทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่สมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังคือ GDP เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันจะขยายตัวได้ราว 7% (คำนวณคร่าวๆ จากสมมติฐานของรัฐบาลว่า GDP ณ ราคาคงที่ขยายตัว 4% บวกกับอัตราเฟ้อซึ่งรัฐบาลคาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 3%) ซึ่งหากมองย้อนไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ไม่รวมปีวิกฤติเศรษฐกิจ 2552) พบว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ของรัฐมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตของ GDP เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่เล็กน้อย

งบกลางปีจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน?

ผลกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2554 อาจไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณในปีหน้า โดยงบประมาณกลางปี 1.1 แสนล้านบาทคราวนี้ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ (1) ใช้ชดเชยเงินคงคลัง 8.4 หมื่นล้านบาท  (2) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ราว 5 พันล้านบาท (3) ชดเชยเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2553 ในวงเงินส่วนที่เหลือ รวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 1.1 แสนล้านบาท

เงินชดเชยเงินคงคลัง 8.4 หมื่นล้าน (หรือราว 3 ใน 4 ของงบกลางปี) ไม่นับเป็นเม็ดเงินใหม่สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเป็นการตั้งงบประมาณย้อนหลังสำหรับเงินที่ใช้จ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า เช่นได้มีการนำเงินคงคลังไปชำระหนี้และใช้เป็นงบบุคคลากรภาครัฐไปแล้ว ส่วนเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ส่วนหนึ่งก็ได้ใช้ไปแล้วในปลายปี 2553 (สำนักนายกรัฐมนตรีประเมินว่าใช้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปราว 2.3 หมื่นล้านบาท) จึงไม่ใช่ทั้งหมดของงบกลางปีในส่วนนี้ที่สามารถเรียกว่าเป็นเม็ดเงินใหม่สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2554 ดังนั้น จึงเหลือแต่ส่วนเงินโอนให้ อปท. ซึ่งดูจะเป็นเม็ดเงินใหม่ๆ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขนาดของงบส่วนนี้ที่ราว 5 พันล้านบาทก็นับว่าเป็นส่วนเพิ่มที่น้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณประจำปี 2554 ซึ่งตั้งไว้เดิมที่ 2.07 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การตั้งงบกลางปีในครั้งนี้ มีการชดเชยเงินคงคลังอยู่ถึง 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดทำงบประมาณประจำปี  2555 เพราะหากไม่ตั้งงบประมาณชดเชยเงินคงคลังในปีนี้ ก็ต้องไปตั้งไว้ในงบประมาณประจำปี 2555 อยู่ดี ซึ่งอาจทำให้ต้องตัดลดรายจ่ายอื่นๆ ลง หรือไม่ก็ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ