Purchasing Managers Index
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
ผู้เขียน: เอกสิทธิ์ กาญจนาภิญโญกุล
Purchasing Managers Index
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
ตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับเดือนกันยายน 2554
โดย เอกสิทธิ์ กาญจนาภิญโญกุล
..สัญญาณอ่อนแรงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาอีกครั้ง โดยนับจากการประชุม FOMC รอบก่อนจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2554 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาที่ร้อยละ 1.3 ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและบริการเดือนกรกฎาคม ก็ทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และ 17 เดือนตามลำดับ.. ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (5 สิงหาคม 2554) |
1. PMI คืออะไร?
Purchasing Managers Index (PMI) มีชื่อในภาษาไทยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ แม้ว่าจะไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนักในประเทศไทย แต่เป็นดัชนีที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะนับเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ดีมากตัวหนึ่ง ดัชนีดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย The Institute for Supply Management (ISM) และ Markit Group โดยใช้วิธีการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในบริษัทกลุ่มตัวอย่างของแต่ละประเทศจำนวน 400 บริษัท โดยสร้างจากการคำนวณถ่วงน้ำหนักของผลจากการสำรวจ 5 ประเด็นหลักประกอบด้วย New orders (30%), Output (25%), Employment (20%), Suppliers' delivery times (15%), และ Stocks of items purchased (10%)
PMI มีการจัดทำทั้งในระดับ Global, กลุ่มประเทศ และรายประเทศ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 22 ประเทศ ครอบคลุมทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาสำคัญของโลกในทุกทวีป เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน หรือสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับบางประเทศจะมีการแบ่ง PMI ย่อยเพื่อกลุ่มธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการก่อสร้าง และภาคการค้าปลีก เป็นต้น
การตีความค่าของดัชนี PMI คือ หากมีค่าสูงกว่า 50 หมายถึง เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะการขยายตัวจากระดับปัจจุบัน หากมีค่าเป็นต่ำกว่า 50 หมายถึงมีแนวโน้มจะเกิดการหดตัว อีกทั้ง ดัชนี PMI ยังแสดงถึงสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจว่าอยู่ในช่วงเร่งตัวหรือชะลอตัวจากเดิมได้ เช่น หากค่า PMI ในเดือนปัจจุบันอยู่ที่ 60 จุด ในขณะที่เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 65 จุด แสดงว่า แม้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ แต่น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า
2. PMI มีประโยชน์อย่างไร?
จุดเด่นที่ชัดที่สุดของ PMI คือความสามารถในการมองแนวโน้มไปข้างหน้า เนื่องจากถูกนับเป็น leading indicator ที่สำคัญตัวหนึ่ง โดยมีแนวคิดที่ว่า หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะขยายตัวในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อย่อมต้องเร่งสั่งซื้อวัตถุดิบตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นในทางปฎิบัติ หากผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อบ่งชี้ว่ามีการซื้อวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น จะแสดงถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ PMI ยังมีจุดเด่นอีกประการในเรื่องของความถี่ในการจัดทำและความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล PMI เป็นดัชนีผลลัพธ์จากการสำรวจซึ่งทำเป็นประจำทุกเดือน จัดทำถี่กว่าข้อมูล GDP ซึ่งเป็นรายไตรมาส และมีการเผยแพร่ข้อมูลล่าช้าเพียง 1 วันเท่านั้น หมายความว่า PMI จะเผยแพร่ข้อมูลวันที่ 1 ของเดือนถัดไป ความโดดเด่นในเรื่องของทั้งความถี่และความรวดเร็วทำให้สามารถสะท้อนความเป็นไปทางเศรษฐกิจได้ทันท่วงที นักลงทุนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน อีกทั้ง PMI จะไม่มีการแก้ไขหลังจากเผยแพร่ข้อมูลไปแล้ว ทำให้ผู้ใช้มีความเชื่อมั่นในตัวข้อมูลได้เป็นอย่างมาก
PMI สามารถใช้ตีความภาพรวมทางเศรษฐกิจได้ในหลายมุมมองด้วยกัน ประโยชน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ การใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเพื่อคาดการณ์เศรษฐกิจในมุมมองต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
เนื่องจากการทำสำรวจเพื่อทำ PMI นั้น เป็นการพิจารณาจากกิจกรรมสำคัญของบริษัทกลุ่มหลักในทุกภาคธุรกิจสำคัญต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ซึ่งจะสะท้อนถึงผลผลิตสุดท้ายของกลุ่มธุรกิจนั้น อีกนัยหนึ่งคือตัวเลข GDP ของกลุ่มบริษัทตัวอย่างในที่สุด ดังนั้น PMI จึงสามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้
นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว PMI ที่เห็นตามสื่อต่างๆ คือ Headline PMI ที่เป็การคำนวณจากผลสำรวจทั้ง 5 ประเด็นตามที่กล่าวไปข้างต้นในทุกภาคธุรกิจ แต่นอกจากตัว Headline PMI แล้ว ยังมี sub-index ของ PMI ซึ่งแต่ละดัชนีจะมีนัยยะต่อภาวะเศรษฐกิจแต่ละด้านที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น PMI - Employment จะสามารถบ่งชี้ถึงสภาวะการจ้างงานของทั้งประเทศได้ เป็นต้น
3. ใครจะใช้ประโยชน์จาก PMI ได้บ้าง?
ผู้ที่ต้องวางแผนหรือวิเคราะห์ธุรกิจสามารถใช้ PMI เป็นปัจจัย (business indicator) อีกตัวหนึ่งสำหรับการพิจารณาหรือวางแผนธุรกิจของตนได้ เนื่องจากจุดเด่นด้านการบ่งบอกแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ความถี่ของข้อมูล และความรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ sub-index ของ PMI เช่น PMI - New orders หรือ PMI - Stocks of items purchased ประกอบการตัดสินใจในแต่ละประเด็นทางธุรกิจได้อีกด้วย
ผู้ที่มีกิจการส่งออกก็สามารถใช้ประโยชน์จาก PMI เช่นกัน เนื่องจากมีการจัดทำดัชนี PMI ดังกล่าวในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดใหม่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากอย่างประเทศจีนและอินเดีย โดยดัชนี PMI สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดสภาวะแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และสะท้อนกำลังซื้อของตลาดต่างประเทศได้รวดเร็วกว่าการรอตัวเลข GDP ซึ่งมีการประกาศตัวเลขที่ล่าช้ากว่าดัชนี PMI
สำหรับนักลงทุนก็สามารถใช้ประโยชน์จาก PMI เช่นกัน โดยมีผลต่อตลาดต่างๆ แตกต่างกันไป เช่น
- ตลาดหุ้น : PMI สามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในอนาคตได้ โดยสามารถส่งสัญญาณแนวโน้มการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในอดีตตั้งแต่ปี 1980 สหรัฐเผชิญกับช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งสำคัญทั้งหมด 5 ครั้ง และทุกครั้งก่อนวิกฤตจะเริ่มเกิดขึ้น ค่า PMI จะส่งสัญญาณลดต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งหมายถึงแนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวก่อนเกิดวิกฤตแทบทุกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่มีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก
- ตลาดพันธบัตร : เช่น การเพิ่มขึ้นของ PMI แสดงถึงเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ซึ่งหากมีความร้อนแรงมากเกินไปก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตาม ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน ช่วงที่ PMI ลดลงต่ำ อัตราดอกเบี้ยจะมีโอกาสปรับลดลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรก็เปลี่ยนแปลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของ PMI จึงมีโอกาสส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรเพิ่มขึ้นในที่สุด
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน: ปกติ เมื่อ PMI เพิ่มขึ้นและสะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไปยังประเทศดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินแข็งขึ้น ในทางกลับกันหาก PMI ลดลง เม็ดเงินก็อาจไหลออกจากประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวังบางประการ เพราะในกรณีที่ PMI ของสหรัฐฯ ลดลงและบ่งบอกถึงโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ปรากฎว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะความกังวลทางเศรษฐกิจทำให้นักลงทุนนำเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง (เช่นตลาดหุ้นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่) กลับไปยังพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ถือว่ามีความปลอดภัยสูง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นในที่สุด (ต่างจากกรณีของประเทศอื่นๆ ทั่วไป)
4. ตัวเลข PMI ล่าสุดบอกอะไร?
ค่า PMI ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากราว 60 จุดในช่วงต้นปี เหลือเพียง 50.9 จุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ส่วนค่า PMI ภาคการผลิตของสหภาพยุโรปก็ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเช่นเดียวกัน โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 50.4 จุด ลดลงมาอยู่ใกล้กับระดับ 50 จุด เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างแนวโน้มการขยายตัวกับแนวโน้มการหดตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี
ความสามารถของ PMI ในการบ่งบอกแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตดังกล่าว ประกอบกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ จึงทำให้ดัชนี PMI เป็นที่สนใจและมีความสำคัญต่อนักลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งนักลงทุนหรือผู้ประกอบการของไทยก็ควรให้ความสนใจดัชนีดังกล่าว ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจในขณะนี้เช่นเดียวกัน