ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยในปี 2552 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชีย รองจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย สามารถผลิตรถยนต์ได้ 999,378 ล้านคัน
ผู้เขียน: นคร สังขรัตน์ - ศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยในปี 2552 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชีย รองจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย สามารถผลิตรถยนต์ได้ 999,378 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม ไทยยังเป็นฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ต่างประเทศจากการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน โดยในปี 2552 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าการส่งออก 543,859.52 ล้านบาท คิดเป็น11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เกือบ 50% หรือเป็นมูลค่า 271,773.12 ล้านบาท และจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาสูง ทำให้ค่ายรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มโดยเฉพาะรถขนาดเล็กราคาถูกทำให้ในเดือนมีนาคม 2553 ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีปริมาณการผลิตสูงถึง 150,119 คัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 129.37% ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการตั้งโรงงานรถยนต์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2504 หรือในรอบ 50 ปี เมื่อรวมยอดผลิต 3 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มี.ค.) อยู่ที่ 381,817 คัน เพิ่ม 91.89% ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าปริมาณการผลิตในปี 2553 จะสูงกว่า 1.4 ล้านคัน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบรถยนต์ 17 ราย มีผู้ประกอบรถจักรยานยนต์7 ราย มีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ส่งชิ้นส่วนและวัสดุให้กับผู้ประกอบยานยนต์โดยตรง (Direct Supplier) ทั้งสิ้น 709 ราย (โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ 386 ราย เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ 201 ราย เป็นทั้งผู้ผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์122 ราย) นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนสนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นSMEs อีกประมาณ 1,000 ราย และยังเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายประเภท อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมกระจก อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ ฯลฯ ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 350,000 คน
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมีพัฒนาการมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เริ่มตั้งแต่ใน ปี 2504 โดย
- ระยะที่ 1 เป็นการคุ้มครองผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศและส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (2504-2532)รัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่นโยบายการคุ้มครองอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import substitution) และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า โดยใช้มาตรการที่ผสมผสานกันระหว่างการห้ามและควบคุมการนำเข้า การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในอัตราสูง และการบังคับและกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
- ระยะที่ 2 เป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก (2533-2539) โดยใช้มาตรการลดข้อจำกัดในการลงทุน การยกเลิกการควบคุมการนำเข้า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ และการให้การส่งเสริมการลงทุน เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายให้บรรลุผล
- ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก (2543-2549)ในปี2543 จากกระแสความกดดันจากการค้าเสรีที่ได้รับการผลักดันโดยองค์การการค้าโลก (WTO) และการต้องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงประกาศยกเลิกมาตรการบังคับใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศและเพิ่มภาษีชิ้นส่วน CKD (Complete Knock Down)
- ระยะที่ 4 เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว (2550-2554) ในช่วงปี 2550 รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะที่ 2 (2550-2554) เพื่อกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการพัฒนาและการแข่งขันให้ "ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชีย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย โดยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง" โดยเฉพาะรถยนต์บรรทุกขนาด 1 ตัน และรถยนต์นั่ง ประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและปลอดภัย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบและวิศวกรรม และกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องของภูมิภาคนี้ โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์มากกว่า 1.8 ล้านคันต่อปี (รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันประมาณ 1.2 ล้านคัน) และส่งออกมากกว่า 55% มูลค่าการผลิตมากกว่า1 ล้านล้านบาท ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ REM และ OEM ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สร้างรายได้จากการส่งออกมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี และมีความสามารถในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน มีการออกแบบ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ โดยมีมูลค่าเพิ่มในประเทศมากกว่า 70%
ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย เกิดจากข้อได้เปรียบในเรื่อง
- ทำเลที่ตั้งที่อยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการผลิตและการส่งออกของภูมิภาคได้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกทั้งจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและการส่งออกรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย
- มีนโยบายชัดเจนในการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งการลงทุนด้านการผลิตและการวิจัยและพัฒนา
- มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะการผลิตรถปิกอัพ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ที่สำคัญของโลก โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึงประมาณ 80% ซึ่งด้วยปริมาณการผลิตที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า40% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ของไทยอยู่ในระดับต่ำและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
- แรงงานของไทยเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและมีการสั่งสมประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่เป็นที่ยอมรับมีระบบการบริหารจัดการด้านคุณภาพที่ดีกว่า โดยมีอัตรา Rejection Rate ของชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ในระดับ 10-150 PPM (Parts Per Million)
- ในด้านความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมีการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และได้มาตรฐานสากล อาทิ ISO 9000 ISO 14000 และQS 9000
- ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาทักษะความรู้ในการผลิตภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น Automotive Human Resource Development Project: AHRDP) ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ระดับหนึ่ง และ
- ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาทินโยบายผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในเอเชียหรือDetroit of Asia นโยบายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ที่ได้มาตรฐาน นโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์รวมกลุ่มกัน (Cluster) และเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เป็นต้น
- การเปิดเสรีการค้าระดับทวิภาคีของภาครัฐที่มีมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการเดินหน้าเจรจาเปิดเสรีการค้ากับจีนอินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ เพื่อทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้ารายการต่างๆ ซึ่งรวมถึงรถยนต์และส่วนประกอบ คาดว่าจะทำให้การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีโอกาสขยายตัวในตลาดดังกล่าวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน อาทิ
- ผู้ประกอบการยังไม่มีเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบที่เป็นแก่นแท้ของตนเอง ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างจริงจัง
- การพัฒนาบุคลากรยังไม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรระดับสูงทั้งในด้านการผลิตและออกแบบ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังต่ำ เนื่องจากขาดความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
- ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ส่วนใหญ่ยังมีการผลิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานและยังแข่งขันด้วยค่าแรงงานที่ถูก แต่เนื่องจากรูปแบบการผลิตรถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีการเน้นการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากผู้ผลิตไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้ทัน จะส่งผลให้ผู้ประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับที่ 1 (เป็นอะไหล่สำหรับประกอบรถยนต์ใหม่) ที่เกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งนโยบายต่างๆ ถูกกำหนดจากบริษัทแม่ในต่างประเทศผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยหรือหันไปใช้นโยบาย Global sourcing โดยนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศเข้ามาแทนได้ทุกเมื่อหากความได้เปรียบที่มีอยู่ลดน้อยลง ประเทศคู่แข่งที่สำคัญในเอเชีย คือ จีน และอินเดีย ซึ่งมีความได้เปรียบด้านค่าแรงและต้นทุนวัตถุดิบ ต่างพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอย่างเต็มที่
- ขาดการเชื่อมโยงของนโยบายภาครัฐระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต ได้แก่
- จะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตรถปิกอัพ 1 ตัน หรือเป็นผู้ผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก
- ควรวางตำแหน่งเป็นเพียงฐานการผลิตที่สำคัญของโลกหรือจะเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง ควรเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับแบรนด์ใดหรือประเทศใด
- ควรมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีด้านใดเป็นหลัก จะมุ่งไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในชิ้นส่วนใด ชิ้นส่วนด้านการปั๊ม(Stamping parts) ชิ้นส่วนด้านการหล่อ (Casting parts) หรือชิ้นส่วนพลาสติก (Plastic parts) จะมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆด้านใด โดยกลุ่มชิ้นส่วนที่มีความน่าสนใจในอนาคตจะเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น ระบบเบรกแบบ ABS ระบบหัวฉีดแบบ Electronic Fuel เกียร์ แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์แบบ Hybrid
- สำหรับประเทศไทยที่มีจุดแข็งในอุตสาหกรรมยาง ควรจะมีการต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางยานพาหนะต่อไป โดยภาครัฐควรมีการสร้างความชัดเจนถึงแนวทางในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มใดที่สามารถก้าวไปสู่การเป็นกลุ่มผู้ผลิต 1st-Tier และกลุ่มผู้ผลิต 2nd-Tier หรือชิ้นส่วนใดควรเป็น OEM และชิ้นส่วนใดควรเป็น REM เป็นต้น
ปัจจุบันภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการพัฒนาไปสู่การผลิตยานยนต์แบบใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) และการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ และยังมีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านยานยนต์ โดยมีหลายบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา อาทิ การวิจัยและพัฒนาด้านรถยนต์ ได้แก่โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน อีซูซุ การวิจัยและพัฒนาด้านรถจักรยานยนต์ฮอนด้า คาวาซากิ ยามาฮ่า การวิจัยและพัฒนาด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่เด็นโซ่ ไทยสแตนเลย์ และการวิจัยและพัฒนาด้านยางยานพาหนะ ได้แก่บริดจสโตน มิชลิน ไออาร์ซี และโยโกฮามา เป็นต้น
ประการสุดท้ายจากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยปี 2552 ที่ตลาดส่งออกหดตัวลงตลาดส่งออกรถยนต์ปิกอัพไปยังตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรป อเมริกาใต้ เอเชีย และออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีแผนการรองรับการขยายตลาดไปยังภูมิภาคหรือตลาดใหม่ๆ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกาใต้ เพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดและเป็นการกระจายความเสี่ยงจากวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต