SHARE

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ชะลอลงที่ 2.3%YOY จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังผ่านมติ ครม. ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.)

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัวชะลอลงที่ 2.3%YOY นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส จากการหดตัวของภาคส่งออกทั้งสินค้าและบริการเป็นสำคัญ

 

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัวชะลอลงที่ 2.3%YOY นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส จากการหดตัวของภาคส่งออกทั้งสินค้าและบริการเป็นสำคัญ ทางด้านการผลิต พบว่า GDP ภาคเกษตรหดตัวจากผลกระทบภัยแล้ง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามการลดลงของการผลิตสินค้าส่งออก

อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แย่ลง แต่ต้องจับตาผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อ GDP เพิ่มเติม โดยต้องรอความชัดเจนของมาตรการหลังผ่านมติ ครม. ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค. 2019)


Key point

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัวชะลอลงที่ 2.3%YOY นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ขณะที่ การเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ_sa) ขยายตัวที่ 0.6% ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 2.6%YOY ใกล้เคียงกับประมาณการของอีไอซีที่เคยคาดไว้ที่ 2.5%YOY


ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) มีแรงฉุดหลักจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

  • การส่งออกสินค้าหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงหดหัวที่ -5.8%YOY หดตัวต่อเนื่องจาก -5.9%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงหดตัวที่ -3.4%YOY ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -2.6%YOY ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าส่งออกที่ลดลง

  • การส่งออกภาคบริการหดตัวจากการลดลงของรายรับบริการขนส่งและจำนวนนักท่องเที่ยว โดยการส่งออกบริการมีการหดตัวที่ -7.0%YOY เป็นผลมาจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงรายรับจากบริการขนส่งที่ลดลงทั้งในส่วนของรายรับจากการขนส่งสินค้าและการโดยสาร

  • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 4.4%YOY ตามสินค้ากลุ่มคงทนเป็นสำคัญ โดยการบริโภคสินค้ากลุ่มคงทนขยายตัวที่ 5.5%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 8.2%YOY ตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าในกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทนขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0%YOY และ 4.7%YOY จากการขยายตัวที่ 2.5%YOY และ 2.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งมีเม็ดเงินประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท

  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงทั้งภาคก่อสร้างและเครื่องจักรเครื่องมือ โดยขยายตัวที่ 2.2%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.4%YOY เป็นผลมาจากการชะลอลงของการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือในหมวดเครื่องใช้สำนักงาน หมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรม และหมวดยานยนต์ ขณะที่ การก่อสร้างขยายตัวชะลอลงเช่นกัน จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในเขตเทศบาลเป็นสำคัญ

  • การลงทุนภาครัฐพลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.4% หลังไตรมาสก่อนหน้าหดตัวที่ -0.1%YOY เป็นผลมาจากการลงทุนด้านการก่อสร้างของภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 5.8%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1%YOY อย่างไรก็ดี การลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือหดตัวต่อเนื่องที่ -8.5%YOY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบินไทยไม่มีการนำเข้าเครื่องบินในไตรมาสที่ผ่านมา

 

คลิ๊กเพื่ออ่านเพิ่มเติมในรูปแบบ PDF 


เศรษฐกิจไทยไตรมาส2_GDP_Q22019-01-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ