SHARE
SCB EIC ARTICLE
14 พฤษภาคม 2014

ส่องพฤติกรรมการบริโภคในยุคโลกาภิวัฒน์ … ธุรกิจที่ต้องตอบโจทย์มากกว่าแค่อิ่มท้อง

จากรายงานพิเศษ Blooming business ในตอนที่แล้ว อีไอซี ได้ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจและโอกาสของธุรกิจประกันชีวิตที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตสดใสต่อเนื่อง สอดรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกำลังซื้อของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับในฉบับนี้ เราจะมาจับตาดูอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer goods) ซึ่งมีความน่าสนใจและโดดเด่นไม่แพ้กัน และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศนับล้านล้านบาทต่อปีอีกด้วย แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างสูง … คำถามที่น่าสนใจคือ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน segment ไหนที่กำลังมาแรงและมีศักยภาพการเติบโตที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษในยุคนี้ ซึ่งเราจะมาค้นหาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center

 187209386-[Converted].png

จากรายงานพิเศษ Blooming business ในตอนที่แล้ว อีไอซี ได้ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจและโอกาสของธุรกิจประกันชีวิตที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตสดใสต่อเนื่อง สอดรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกำลังซื้อของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับในฉบับนี้ เราจะมาจับตาดูอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค   (consumer goods) ซึ่งมีความน่าสนใจและโดดเด่นไม่แพ้กัน และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศนับล้านล้านบาทต่อปีอีกด้วย  แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างสูง ... คำถามที่น่าสนใจคือ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน segment ไหนที่กำลังมาแรงและมีศักยภาพการเติบโตที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษในยุคนี้ ซึ่งเราจะมาค้นหาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้

Ready meals ... ทางเลือกที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ชีวิตสำเร็จรูปของคนรุ่นใหม่

Ready meal หรือ อาหารพร้อมรับประทาน คือ โมเดลธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อจำกัดในด้านเวลาและความสะดวกสบาย ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่และเงื่อนไขสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไปแล้ว...อาหารพร้อมรับประทาน หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง จึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคที่ทุกคนต่างใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบไปโดยปริยาย ยิ่งไปกว่านั้น ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ยังนิยมอยู่อาศัย ตามคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองหรือใกล้ที่ทำงานมากขึ้น ซึ่งอาจไม่มีสถานที่ที่สะดวกสำหรับทำอาหาร หรือแม้แต่ต้องตื่นเช้า-กลับดึกมากขึ้น ดังนั้น โอกาสในการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านจึงเป็นไปได้น้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทั้งสามีและภรรยาต้องทำงานนอกบ้านกันทั้งคู่ รวมทั้งขนาดครอบครัวที่มีแนวโน้มเล็กลง คืออีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมรับประทานได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปัจจุบันขนาดครอบครัวในเอเชียลดลงจาก 4.3 คนต่อครัวเรือน ในช่วงระหว่างปี 1995-2000 เหลือเพียง 3.8 คนต่อครัวเรือน ในช่วงระหว่างปี 2000-2010 และมีแนวโน้มเล็กลงเรื่อยๆ ในอนาคต

มาตรฐานสินค้าและความปลอดภัย คือ แรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ค่านิยมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ปัจจุบันวัฒนธรรมการกินอาหารกล่อง อาหารแช่แข็งที่สามารถเข้าไมโครเวฟรับประทานได้ทันที เริ่มเป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ที่หลายคนยังมีความกังวลว่า การรับประทานอาหารที่ผ่านการอุ่นร้อนจากไมโครเวฟอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การรับประทานอาหารจากไมโครเวฟอย่างถูกวิธีไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในทางการแพทย์ก็ยังมีการนำคลื่นไมโครเวฟมาใช้ในการรักษาคนไข้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเด็นดังกล่าวนี้ คือ ตัวแปรหลักที่ช่วยผลักดันให้ตลาดอาหารแช่แข็ง หรืออาหารพร้อมรับประทานได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

โดยพบว่า ตลาด ready meals ในไทย ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากในอนาคต

พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในตลาดต่างประเทศเท่านั้น สังคมไทยเองก็มีความต้องการอาหารพร้อมรับประทานที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับผลสำรวจออนไลน์ของบริษัท A.C. Nielsen ที่ระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยติดลำดับต้นๆ ของโลกที่นิยมซื้ออาหารปรุงสำเร็จมากกว่าปรุงอาหารเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2013 พบว่า มูลค่าตลาด ready meals ในไทยอยู่ที่ราว 5.3 พันล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราวปีละ 8% ไปอยู่ที่ 7.6 พันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า การเติบโตของตลาด ready meals ในไทย นอกจากจะเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อและธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ modern trade ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหาซื้อหาอาหารพร้อมรับประทานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตเองก็มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในไทยได้ดีมากขึ้นเช่นกัน โดยเราพบว่า อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง (frozen ready meals) คือ segment ที่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพการเติบโตสูงที่สุด โดยปัจจุบัน segment นี้มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงประมาณ 3 ใน 4 ของตลาด ready meals ทั้งหมดในไทย และมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย

แต่ความท้าทายสำคัญ คือ การสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงใจผู้บริโภค และการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า "แบรนด์สินค้า" คือ ตัวชูโรงและกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญที่ใช้สื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภค และมีผลต่อการขับเคลื่อนความสำเร็จของสินค้าทุกประเภท ซึ่งรวมถึงอาหารประเภท ready meals โดยพบว่าแบรนด์ของผู้นำตลาดรายใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จในไทยเกือบทุกราย ไม่ว่าจะเป็น CPF พรานทะเล S&P หรือจิตรมาส นอกจากจะชูประเด็นและภาพลักษณ์ในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารที่มาคู่กับแบรนด์ตัวเองแล้ว ยังเน้นในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน รสชาติและความหลากหลายของสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นให้มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีโภชนาการครบถ้วนเพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น ไม่เน่าเสียง่าย ควบคู่ไปกับการสร้างจุดขายที่น่าสนใจและการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับร้านค้าเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย ซึ่งนี่คือหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

เช่นเดียวสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (health and wellness) ที่แนวโน้มตลาดยังคงสดใส จากกระแสการตื่นตัวในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ

ปัจจุบันความนิยมบริโภคอาหารประเภทพืชผักออร์แกนิก ธัญพืชต่างๆ  นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต น้ำผักและน้ำผลไม้ รวมทั้งอาหารจากธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งเพียงเล็กน้อย กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจุดเริ่มต้นของกระแสความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว เริ่มต้นมาจากปัญหาด้านสุขภาพของคนสหรัฐฯ โดยเราพบว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯ ราว 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร มีปัญหาน้ำหนักตัวที่มากผิดปกติ (obesity) และคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายในปี 2030 ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนักตัวกันมากขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขการใช้จ่ายสำหรับสินค้าเพื่อสุขภาพของคนสหรัฐฯ ที่มากถึงราว 1% ของ GDP นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายดังกล่าวของประเทศในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ซึ่งอยู่ที่ราว 0.6% ของ GDP

อ่อนหวาน ...ไร้พุง การปลูกฝังค่านิยมที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพในไทย

ด้วยสถิติจำนวนคนอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน) ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการรณรงค์อย่างจริงจังจากภาครัฐเกี่ยวกับโครงการ "คนไทย ไร้พุง" และสังคมไทย "อ่อนหวาน" (ลดการบริโภคน้ำตาล) ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และหันมาใส่ใจบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นกว่าในอดีต สะท้อนได้จากมูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มประเภท health and wellness ที่เติบโตขึ้นราว 9% ต่อปี ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปอยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นราว 27% จากมูลค่าตลาด ณ ปัจจุบัน โดย sub-segment ที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอย่างต่อเนื่อง คือ ผลิตภัณฑ์ประเภท general wellbeing ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่ประกอบด้วยสารสกัดจากธรรมชาติซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค บำรุงสมอง เพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสื่อมของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย และมีผลให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงมากขึ้น รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารและขับถ่าย ให้พลังงาน และควบคุมน้ำหนัก เช่น สารสกัดจากผลส้มแขก แอลคาร์นิทีน หรือไคโตซาน ซึ่งสารอาหารในกลุ่มนี้มีผลต่อการลดความอยากอาหาร เพิ่มการเผาผลาญไขมัน และดูดซับไขมันจากกระเพาะอาหารไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

ต้องไม่ลืมว่า brand ambassadors คือ กลยุทธ์ส่งเสริมการขายยอดฮิตและทรงพลัง

การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือนักร้องซึ่งมีรูปร่างหน้าตาดีและกำลังได้รับความนิยมเป็น brand ambassadors หรือ presenter ในการโฆษณาสินค้า ถือเป็นตัวแปรหลักที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นยอดขายสินค้า และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น อยากทดลองผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากขึ้น และนับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดและสูตรสำเร็จที่ผู้เล่นเกือบจะทุกรายในตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามใช้ในการตอกย้ำและสร้างภาพลักษณ์ที่เด่นชัดให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง 

Meal replacement ... อีกหนึ่งเทรนด์การบริโภคที่มาแรง และมีแนวโน้มเติบโตดีในไทย

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร หรือ "meal replacement" ในที่นี้ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม (dietary supplement products) ที่ใช้รับประทานเสริมควบคู่ไปกับอาหารมื้อหลักในแต่ละวัน แต่หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ให้สารอาหารต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถใช้รับประทานเพื่อทดแทนหรือชดเชยอาหารหลักมื้อใดมื้อหนึ่งได้เลย ยกตัวอย่างเช่น breakfast cereal bars โปรตีนเชค หรือ เวย์โปรตีน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพบว่า ตลาดสินค้าประเภทนี้ ถือเป็น segment ที่น่าจับตามองและกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเวลา และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วนแล้ว ยังสามารถช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลที่เราบริโภคเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย รวมทั้งยังอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดไขมันส่วนเกิน ควบคุมน้ำหนัก หรือช่วยดูแลรักษาผิวพรรณและรูปร่างควบคู่กันไปด้วย สอดคล้องกับกระแสรักษ์สุขภาพ หรือ health conscious ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ

โดยพบว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารประเภทที่มีสรรพคุณช่วยควบคุมและลดน้ำหนัก หรือ meal replacement slimming คือ segment ที่มีศักยภาพเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งในไทย ต่างเริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องความสวยความงามและหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น สะท้อนได้จากสถานประกอบการด้านผิวพรรณและความงาม รวมทั้งสถานให้บริการลดน้ำหนัก (slimming center) ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยจากข้อมูลพบว่า ตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากถึงราว 70% ของยอดขายทั่วโลก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นตลาดที่กำลังโต โดยพบว่า ยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้โตขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าตัว นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งมียอดขายที่เติบโตขึ้นรวดเร็วที่สุด

เช่นเดียวกับไทย ซึ่งเราพบว่า มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภท meal replacement ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงราว 1,800 ล้านบาท จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า

ผลสำรวจโดยบริษัท Euromonitor International ระบุว่า ตลาด meal replacement ในไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก และมีแนวโน้มขยายตัวไปอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาทในปี 2018 จากปัจจุบันซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดราว 4.8 พันล้านบาท และที่น่าสนใจคือ กว่า 80% ของมูลค่าตลาด meal replacement ในไทย มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภท meal replacement slimming หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนัก ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 85% ภายในปี 2018 สอดคล้องกับกระแสรักสวยรักงามในหมู่คนไทยซึ่งกำลังมาแรง ซึ่ง อีไอซี มองว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนอาหารประเภทนี้ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในเรื่องสุขภาพและความงามได้เป็นอย่างดี 

 

ขณะที่ในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเองก็มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านนวัตกรรมและพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในรูปของขนมขบเคี้ยว (snacks) สแน็คบาร์ เครื่องดื่มประเภทมิลค์เชค ซุป ขนมหวาน หรือแม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภท energy bars เพื่อให้พลังงานแก่กลุ่มนักกีฬาโดยเฉพาะ โดยเน้นส่วนประกอบหลักที่เป็นพวกแป้งที่ให้พลังงานที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีรสชาติที่อร่อยและหลากหลาย ให้พลังงานต่ำ และช่วยให้อิ่มได้นานขึ้นอีกด้วย รวมทั้งยังสามารถปรุงแต่งรสชาติได้ตามความชอบของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของโปรตีนเชค ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกผสมกับนมหรือนมถั่วเหลือง หรือแม้แต่ใส่ผลไม้ที่ชื่นชอบเพิ่มเข้าไป  ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ผลิตเกือบทุกรายยังเน้นทำการตลาดแบบขายตรง หรือ direct selling เพื่อเจาะฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานในเมือง โดยจะมุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจกับลูกค้าเหล่านี้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก พร้อมมีการรับรองผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากขึ้น

นอกจากการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การบริโภคและค่านิยมของคนรุ่นใหม่แล้ว ตลาดอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่ง segment ที่ไม่ควรมองข้าม

หลายๆ คนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020  ทั่วโลกจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึงกว่า 1 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของจำนวนประชากรโลก ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นเดียวกัน  ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนคือ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีในญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีจำนวนมากถึงราว 30 ล้านคน หรือคิดเป็น 23% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี 2020 ญี่ปุ่นจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรเลยทีเดียว และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ โดยพบว่าผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหารของผู้สูงอายุ  รวมทั้งยังมีการวิจัยและคิดค้นอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายและมีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับไต้หวัน ซึ่ง​เป็นประ​เทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุด​ใน​โลก สวนทางกับจำนวน​ผู้สูงอายุที่กลับมีจำนวน​เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวด​เร็ว ซึ่งการ​เปลี่ยน​แปลง​ของโครงสร้างประชากรดังกล่าว ส่งผลให้​ความต้อง​การสินค้าสำหรับทารก​และเด็ก​มี​แนว​โน้มชะลอตัวลงอย่างชัด​เจน ในขณะที่สินค้าสำหรับ​กลุ่มผู้สูงอายุกำลังกลาย​เป็นสินค้าดาวรุ่ง​แทน ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดขึ้นคือ การคิดค้นและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถ​เปิดรับประทานได้ง่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ รวมทั้งการปรับลดขนาดและปริมาณสินค้าลง ​เนื่องจาก​ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหาร​แต่ละมื้อ​ในปริมาณน้อยลง รวมทั้งมีการเพิ่มคุณสมบัติและสารอาหารบางอย่างที่​เหมาะกับ​ผู้สูงอายุมากขึ้นอีกด้วย 

การขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมเมือง รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมหมายถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผู้ที่มองเห็นเทรนด์เหล่านั้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย สุขภาพ และความงาม ได้อย่างโดนใจที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่า โอกาสที่เปิดกว้างขึ้นย่อมมาพร้อมกับความท้าทายและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้น การหมั่นสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม เพื่อให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งการรับประทานอาหาร จะไม่ใช่แค่ "กินเพื่ออยู่" อีกต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ