SHARE
FLASH
22 กุมภาพันธ์ 2019

ส่งออกไทยเดือน ม.ค. หดตัวต่อเนื่องที่ -5.7%YOY

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ม.ค. 2019 หดตัวที่ -5.7%YOY หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ -1.7%YOY โดยหากหักทองคำ พบว่ามูลค่าส่งออกหดตัวลดลงที่ -4.9%YOY

ผู้เขียน: พนันดร อรุณีนิรมาน และจิรายุ โพธิราช

 

Analysis.png

keypoint.jpg

  • มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ม.ค. 2019 หดตัวที่ -5.7%YOY หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ -1.7%YOY โดยหากหักทองคำ พบว่ามูลค่าส่งออกหดตัวลดลงที่ -4.9%YOY 

    • สินค้าหลักที่มีการหดตัว ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-9.6%YOY) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (-8.5%YOY) มันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น (-59.2%YOY) น้ำมันสำเร็จรูป (-10.6%YOY) เม็ดพลาสติก (-8.9%YOY) ยางพารา (-15.1%YOY) น้ำตาลทราย (-29.9%YOY) และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-21.6%YOY)

    • ตลาดส่งออกหลักที่มีการหดตัว ได้แก่ จีน (-16.7%YOY) ยุโรป (-4.8%YOY) อาเซียน5 (-7.4%YOY) ไต้หวัน (-15.5%YOY) ออสเตรเลีย (-6.5%YOY) ตะวันออกกลาง (-8.3%YOY) และแอฟริกา (-4.5%YOY) อย่างไรก็ดี การส่งออกมีการขยายตัวในบางตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ (8.3%YOY) และญี่ปุ่น (0.9%YOY) ขณะที่การส่งออกไปตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ และซีแอลเอ็มวีกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า

  • สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน ยังคงมีการหดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีน เช่น หมวดแผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งคาดว่าบางส่วนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าส่งออกจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ มีการหดตัวที่ -5.5%YOY และ -27.1%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้ เคมีภัณฑ์ซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบเช่นกัน หดตัวในตลาดจีนครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ -7.0%YOY

  • มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ 14.0%YOY พลิกจากการหดตัวที่ -8.2%YOY ในเดือนก่อนหน้า นำโดยหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยเพื่อการซ้อมรบซึ่งขยายตัวกว่า 4,832.4 %YOY ตามด้วยสินค้าหมวดอื่นที่มีการขยายตัวเช่นกัน โดยสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะอุปกรณ์การขนส่ง ขยายตัวได้ที่ 4.8%YOY 7.5%YOY 4.0%YOY และ 4.8%YOY ตามลำดับ ขณะที่สินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องที่ -2.9%YOY ทั้งนี้ หากหักอาวุธ ยุทธปัจจัย มูลค่านำเข้าจะขยายตัวเหลือเพียง 3.7%YOY
Implication.png

886_20100622103105.gif

  • แนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าเกิดขึ้นในหลายประเทศส่งออกสำคัญตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 โดยจากรูปที่ 1 พบว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 มีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในหลายประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ดี ในเดือนมกราคม 2019 จีนมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่มีการหดตัวเป็นส่วนใหญ่ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเหลื่อมวัน ของเทศกาลตรุษจีน (ปีนี้ 1-15 กุมภาพันธ์ ปีก่อน 15-21 กุมภาพันธ์) กล่าวคือ โดยปกติ ในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน จีนจะมีการเร่งการส่งออก (front-loading) ก่อนวันหยุดยาว ซึ่งในปีนี้จะเป็นช่วงปลายเดือนมกราคม ขณะที่ปีก่อนเป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น เมื่อเทียบ %YOY จึงทำให้คิดเป็นการขยายตัวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

  • อีไอซีคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2019 ขยายตัวที่ 3.4% ชะลอลงจากปี 2018 (รูปที่ 2) เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางทรงตัว โดยจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ให้มีทิศทางชะลอลงเช่นกัน นอกจากนี้ สินค้าส่งออกไทยหลายกลุ่มยังมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ที่เริ่มใช้ในปีก่อนหน้า โดยยังต้องติดตามท่าทีของทางจีนและสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงด้านสงครามการค้า ซึ่งระหว่างนี้ยังอยู่ในช่วงของการเจรจา ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 1 มีนาคม 2019 สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีเพิ่มเติมจากเดิมที่อัตรา 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา จีนมีท่าทีประนีประนอมในการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากทางสหรัฐฯ มากขึ้น แต่หากพิจารณาข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต่อจีน พบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น ข้อเรียกร้องด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดภาคบริการและเกษตรกรรม เป็นต้น โดยอีไอซีประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางสหรัฐฯ จะเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปก่อน และน่าจะสามารถมีข้อตกลงได้ภายในครึ่งหลังของปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเกี่ยวกับการขึ้นภาษียานยนต์ของทางสหรัฐฯ ที่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องให้ประธานาธิบดีทรัมป์พิจารณาแล้ว โดยมีเวลาตัดสินใจ 90 วัน

  • อีไอซีประมาณการมูลค่านำเข้าของไทยปี 2019 ขยายตัวที่ 3.6% (รูปที่ 2) ชะลอลงจากปี 2018 เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตเพื่อส่งออกมีแนวโน้มชะลอตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบโลก ที่คาดว่าจะมีทิศทางทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่า สินค้านำเข้าประเภทสินค้าทุนและอุปโภคบริโภค จะยังขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนในประเทศทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ

 
Pic01.png

Pic2.png

TH_Infographic_Flash_Trade_Feb2019-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ