SHARE
SCB EIC ARTICLE
09 กรกฏาคม 2018

เศรษฐกิจสหรัฐฯ: ขยายตัวดีจากพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยรวม 4 ครั้ง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 2018 ขยายตัวเกินคาดจากการลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจขยายตัว 2.0%QOQ SAAR1 หรือ 2.9%YOY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยการลงทุนภาคเอกชนเติบโตสูงที่ 7.5%QOQ SAAR จากการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัว 16.2% เป็นหลัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกชะลอลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในไตรมาสต่อไปตามการจ้างงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราว่างงานที่ลดลงมาที่ 3.8% ในเดือนพ.ค. ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2000

อีไอซีปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2018 ขึ้นเป็น 2.8%YOY จากเดิม 2.6% โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้สูงต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนของภาคพลังงานซึ่งมีแนวโน้มเติบโตตามทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงแรงกระตุ้นการลงทุนจากการปฏิรูปภาษี ขณะเดียวกันเม็ดเงินใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเพิ่มงบประมาณขาดดุลไปที่ 4.0% ของ GDP ในปี 2018 จาก 3.6% ในปีก่อนก็จะเป็นอีกแรงเสริมสำคัญ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้อาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นบ้าง แต่ตลาดแรงงานที่ตึงตัวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังเพิ่มขึ้นสะท้อนกำลังซื้อที่มีแนวโน้มเติบโต ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นสู่เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2.0% ตั้งแต่เดือนมี.ค. ซึ่งเป็นไปตามที่ Fed คาดไว้ว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายได้ในปีนี้ สนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้รวม 4 ครั้งในปี 2018 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ในช่วง 2.25% - 2.50% ซึ่งนับว่าสภาวะการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนคลายเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

จับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าสำคัญที่ยังไม่แน่นอน และเริ่มมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ทางสหรัฐฯ ได้ประกาศรายชื่อสินค้านำเข้าจากจีนที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) ที่อัตรา 25% รวม 1,102 รายการมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทางฝั่งจีนก็ได้ประกาศตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน อีกทั้งก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังได้ประกาศยกเลิกการเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมให้ประเทศคู่ค้าหลักอย่างแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป สถานการณ์ดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและคู่ค้าหลักเริ่มมีความตึงเครียดยิ่งขึ้น และยิ่งสร้างความกังวลว่ามาตรการอื่นๆ ที่เคยประกาศไว้จะตามมาได้อีกในอนาคต โดยมาตรการสำคัญที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ได้แก่ การเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน และการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีกเป็นมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการประกาศดังกล่าวก็ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะจีนได้เตรียมแผนตอบโต้ไว้เช่นกัน

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าต่อได้เล็กน้อย จากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่น่าจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชียต่อได้ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าและเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดย ณ สิ้นปี 2018 เงินบาทอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.0-33.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ โดยใน 5 เดือนแรกขยายตัวได้สูงที่ 7.9%YOY นำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า ได้แก่ เครื่องซักผ้าและส่วประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์ ), และเหล็กและเหล็กกล้าที่การส่งออกไปสหรัฐฯ หดตัว 40%YOY, 54%YOY, และ 15%YOY ซึ่งผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวโดยส่งออกไปตลาดอื่นแทน

  • การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหรัฐฯ มาไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2018 ลดลงกว่า 27%YOY ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทสหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนหลังจากมีการปฏิรูปภาษี ซึ่งทำให้แนวโน้มการออกมาลงทุนในต่างประเทศของบริษัทสหรัฐฯ ในปีนี้ยังชะลอ


Outlook_Q3_2018_US.jpg

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ