SHARE
SCB EIC ARTICLE
09 กรกฏาคม 2018

เศรษฐกิจจีน: โตต่อเนื่อง จับตาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และการคุมเข้มสินเชื่อ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกของปี 2018 ขยายตัวสูง 6.8%YOY ใน 4 เดือนแรกของปี 2018 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและสินค้าไฮเทคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ภาคการผลิต บริการ และการลงทุนขยายตัว 6.9%YOY 8%YOY และ 7%YOY ตามลำดับ นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 9.7%YOY และการส่งออกที่เติบโตได้ดี 15.1%YOY จะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วงที่เหลือของปี 2018 อัตราเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นเป็น 2%YOY แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 3%

อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.6% ในปี 2018 จากเศรษฐกิจภายในที่แข็งแกร่งและนโยบายเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้นโยบาย Made in China 2025 ที่ขยายตัวสูงและการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงที่เหลือของปีและในระยะข้างหน้า ประกอบกับการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานในอุตสาหกรรมหนักที่เป็นไปตามเป้า นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังประกาศเดินหน้าเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังใน Boao Forum โดยการลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนบริษัทต่างชาติ การแก้ไขรายการไม่เปิดเสรี (Negative list 2018) การลดภาษีนำเข้ารถยนต์จาก 25% เหลือ 15% พร้อมทั้งลดภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ และการลดภาษีมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การก่อสร้าง การสื่อสารและการเกษตร เป็นต้น

ภาคการเงินของจีนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดและเปิดเสรีมากขึ้น แต่ PBOC ยังเฝ้าระวังการก่อหนี้ในประเทศ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (1-year MLF) ขึ้นเป็น 3.3% ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. และลดสัดส่วนการกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เป็นครั้งที่ 3 ของปี เหลือ 13.5-15.5% เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงมาตรการเปิดเสรีภาคการเงิน เช่น การยกเลิกวงเงินปล่อยกู้สูงสุดของสถาบันการเงินภายใน 3 ปี ในขณะที่ PBOC ยังคงเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อชะลอการก่อหนี้ในประเทศที่สูงถึง 266% ของ GDP ในปี 2017

จีนพร้อมตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบ โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้า 659 รายการจากสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราภาษีและมูลค่าการนำเข้าที่เท่ากันกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และมีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 6 ก.ค. นอกจากนี้ จีนยังเตรียมตอบโต้การกีดกันทางการค้าและการลงทุนจากสหรัฐฯ ด้วยมาตรการที่จำเป็นทั้งหมด (quantitative and qualitative measures) หลังทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าอีก 10% สำหรับสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังจีน ซึ่งมุ่งเป้าโจมตีนโยบาย Made in China 2025 ของจีน

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2018 ประกอบกับความกังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่งผลให้หยวนกลับมาอ่อนค่า 1.3%YTD โดยแตะระดับ 6.62 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 29 ก.ค. 2018 อีไอซีคาดว่าหยวนจะมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี 2018 หากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังคงดำเนินต่อไป หรือยกระดับความรุนแรงขึ้น

  • การส่งออกของไทยไปจีนใน 5 เดือนแรกของปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 7.2%YOY จากการส่งออกผลไม้ เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่โตได้ดี ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มสูงถึง 17.6%YOY นำโดยสินค้าหมวดเครื่องจักรกลและเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเหล็กและโลหะ
    อีไอซีมองว่าการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2018 จะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี 2018 จากเศรษฐกิจภายในของจีนที่แข็งแกร่ง

  • การลงทุนโดยตรงจากจีนในไทยในไตรมาสแรกของปี 2018 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.4%YTD จากการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เคมีภัณฑ์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไทยใน EEC มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนบนเส้นทาง Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีน


Outlook_Q3_2018_CN.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ