SHARE
SCB EIC ARTICLE
09 กรกฏาคม 2018

เศรษฐกิจญี่ปุ่น: ฟื้นตัวด้วยแรงส่งจากตลาดแรงงาน มอง BOJ คงนโยบายการเงินต่อไป

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอลงในไตรมาสแรกของปี 2018 โดยเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.9%YOY ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 7
ไตรมาส อุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกซึ่งเป็นแรงสนับสนุนหลักต่อเศรษฐกิจเติบโตชะลอลงเช่นกัน โดยขยายตัวเพียง 0.7%YOY และ 4.8%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาพรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ รวมถึงยอดการค้าที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว

ตลาดแรงงานและการฟื้นตัวของค่าจ้างจะเป็นปัจจัยช่วยผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ ในเดือนเม.ย. 2018 จำนวนการจ้างงานของญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.6%YOY สวนทางกับอัตราว่างงานที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะเดียวกัน ค่าจ้างแท้จริงในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 0.8%YOY โดยถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ด้วยแรงสนับสนุนหลักจากเงินโบนัสและรายได้พิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 12.8%YOY สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิเฉลี่ยอยู่ที่ 2.13% จากการสำรวจเบื้องต้น โดยผลของการปรับขึ้นค่าจ้างต่อเงินเฟ้อและการบริโภคภาคครัวเรือนคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2018

ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยกเลิกเป้าหมายบรรลุอัตราเงินเฟ้อ 2% ภายในปีงบประมาณ 2019 อย่างไรก็ตาม BOJ จะยังมุ่งผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้ถึงเป้าหมายโดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ราว 1.3% และ 1.8% ในปีงบประมาณ 2018 และ 2019 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ระดับ 0.7% ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ BOJ ยกเลิกการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2019 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันยังห่างไกลจากเป้าหมาย และการกำหนดกรอบเวลาอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดจากการคาดการณ์ของนักลงทุน อีไอซีมองว่า BOJ จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ ภายใต้การนำของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ เป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยนายคุโรดะจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2021

ความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเล็กน้อย ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือนเม.ย.หดตัว -1.3%YOY เช่นเดียวกับยอดขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเดือน พ.ค. ซึ่งลดลง -2.3%YOY อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานที่ดีขึ้นจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวม

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เงินเยนแข็งค่าขึ้น 2.2%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 29 มิ.ย. โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อความผันผวนของเงินเยนคือ ประเด็นการเมืองภายใน
    ญี่ปุ่น และท่าทีของเกาหลีเหนือต่อประชาคมโลก
  • การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นขยายตัว 4.4%YOY ในช่วง 5 เดือนแรกของปี และยังมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง โดยไทยกำลังเจรจาขยายโควตาสินค้าหมูแปรรูป ใน JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) ซึ่งกำลังเข้าปีที่ 11 หากการเจรจาสำเร็จจะเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตรไทยที่มีญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าหลัก
  • การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นในไทยหดตัว 16.4%YOY ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ไทยยังคงดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ล่าสุด FOMM บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะจากญี่ปุ่น ได้ประกาศลงทุนฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใน EEC และคาดว่าจะเริ่มการผลิตในช่วงปลายปี 2018

 

 

 Outlook_Q3_2018_JP.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ