SHARE
SCB EIC ARTICLE
05 กรกฏาคม 2018

เสริมทัพธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย รับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ในกัมพูชาและเมียนมา

ในอีก 5 ปีข้างหน้าผู้บริโภคในกัมพูชาและเมียนมาจะเข้าถึงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 12 ล้านคน นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทั้งขายและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะรุกตลาดนี้ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ได้มากกว่าประเทศอื่น เช่น ไทย ที่ยอดขายอิ่มตัวจากการที่ผู้บริโภคเน้นซื้อเพื่อทดแทนเครื่องเก่า โดยกลุ่มชนชั้นกลางในกัมพูชาและเมียนมากำลังขยายตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเข้าไปทำตลาดในกัมพูชาและเมียนมาเป็นรายแรกๆ ยังจะช่วยเสริมสร้าง brand loyalty ต่อแบรนด์ไทย รวมถึงวางรากฐานกลยุทธ์ในการบุกตลาดด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจในพื้นที่ก่อนใคร

ผู้เขียน: อภิญญา อักษรกิจ

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2018

 

iStock-525125897.jpg

 

 

 

ในอีก 5 ปีข้างหน้าผู้บริโภคในกัมพูชาและเมียนมาจะเข้าถึงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกราว 12 ล้านคน นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทั้งขายและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะรุกตลาดนี้ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ได้มากกว่าประเทศอื่น เช่น ไทย ที่ยอดขายอิ่มตัวจากการที่ผู้บริโภคเน้นซื้อเพื่อทดแทนเครื่องเก่า โดยกลุ่มชนชั้นกลางในกัมพูชาและเมียนมากำลังขยายตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเข้าไปทำตลาดในกัมพูชาและเมียนมาเป็นรายแรกๆ ยังจะช่วยเสริมสร้าง brand loyalty ต่อแบรนด์ไทย รวมถึงวางรากฐานกลยุทธ์ในการบุกตลาดด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจในพื้นที่ก่อนใคร

 

ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขายในตลาดของทั้งสองประเทศนำเข้ามาจากจีนและไทยเป็นหลัก โดยในปี 2017 มีการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้าจากไทยคิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 พันล้านบาท และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวจากไทยไปทั้งสองประเทศขยายตัวอยู่ที่ราว 10% ต่อปี โดยผู้ประกอบการจากไทยที่เข้าไปจับตลาดกัมพูชาและเมียนมาแล้วส่วนใหญ่ เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายของเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อดัง เช่น Samsung LG Toshiba เป็นต้น

 

แม้จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพต่ำราคาถูกวางขายในตลาดกัมพูชาและเมียนมามาก แต่ยังมีโอกาสให้เครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพดีทำตลาดได้อีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน โดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตามทิศทางการใช้ไฟฟ้าต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เคยประเมินไว้ในช่วงปี 2000 ถึง 2015 พบว่าอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าต่อประชากรในกัมพูชาและเมียนมาอยู่ที่ปีละ 17% และ 8% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 5.8% นอกจากภาครัฐแล้ว ผู้บริโภคเองก็มีแรงจูงใจในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชาที่ค่าไฟฟ้าแพงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ขณะที่ค่าไฟฟ้าของเมียนมา แม้จะมีการตรึงราคาขายปลีกไฟฟ้าไว้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในอนาคตตามการลงทุนด้านพลังงานในประเทศที่กำลังขยายตัว

 

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พบว่าชนชั้นกลางในกัมพูชาใช้จ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบายที่มากขึ้น อีกทั้งระบุว่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่ดีหรือประหยัดพลังงานเป็นจุดขายที่สำคัญสำหรับการเข้าไปทำตลาดในกัมพูชา นอกจากนี้ ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของไทยเอง ก็เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคในกัมพูชา เพราะผู้บริโภควางใจในคุณภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานจากไทยและระดับราคาที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย

 

สำหรับตลาดเมียนมา ผลการสำรวจของ Deloitte พบว่าผู้บริโภคในเมียนมายอมซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ราคาสูงขึ้นโดยคำนึงถึงความทนทาน บริการหลังการขาย และเทคโนโลยีประกอบการตัดสินใจในการซื้อ ดังนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะเข้าไปทำตลาดเมียนมาจึงควรตอบโจทย์ด้านความทนทานต่อความไม่เสถียรของระบบไฟฟ้าร่วมกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีโดยไม่ทำให้ระดับราคาขายสูงจนเกินไป

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจากไทยที่จะขยายธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานในตลาดกัมพูชาและเมียนมาจะต้องเผชิญความท้าทายด้านตัวแทนจำหน่าย จากผลการสำรวจตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของ MECON ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของสหราชอาณาจักรพบว่าร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีทั้งแบบตั้งโชว์รูมของตัวแทนจำหน่ายเองและแบบร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งส่วนมากเป็นกิจการของครอบครัว อีกทั้งสำรวจพบว่าเจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีเพียงพอที่จะอธิบายเปรียบเทียบสินค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค รวมถึงไม่สามารถให้บริการหลังการขายได้มากนัก

 

อีไอซีจึงมองว่าผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดในกัมพูชาและเมียนมาควรจับมือกับพันธมิตรในพื้นที่ที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและคุ้นเคยกับระบบโลจิสติกส์ อบรมพนักงานขายให้เข้าใจข้อดีของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดพลังงานและวิธีการอ่านฉลากเพื่อให้ข้อมูลและเสนอขายได้ดีขึ้น ด้วยการจับมือกับผู้ผลิตและซัพพลายเออร์จัดอบรมเชิงเทคนิคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ อีกทั้ง พัฒนาบริการหลังการขาย ทั้งการติดตั้ง การให้คำปรึกษาด้านการใช้งาน และการซ่อมบำรุงให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้สะดวกครอบคลุมด้วยค่าบริการที่จับต้องได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกัมพูชาและเมียนมายุคใหม่ได้ดีขึ้น

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ