SHARE
FLASH
21 มิถุนายน 2018

ส่งออกไทยเดือน พ.ค. โตต่อเนื่องที่ 11.4% อีไอซีมองทั้งปีโต 8.5%

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน พ.ค. ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 11.4%YOY การส่งออกแผงโซลาร์ และสินค้าในกลุ่มเหล็ก ยังเติบโตได้จากตลาดอื่นๆ แม้ได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 11.7%YOY

ผู้เขียน: ยุวาณี อุ้ยนอง 

 

Analysis.png

keypoint.jpg

  • มูลค่าการส่งออกไทยเดือน พ.ค. ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 11.4%YOY นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 30.7%YOY และ 29.5%YOY ตามลำดับ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 25.2%YOY และ 10.8%YOY อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางพาราและน้ำตาลยังหดตัวลง 17.5%YOY และ 13.4%YOY ตามลำดับ จากราคาในตลาดโลกที่ตกต่ำ ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 11.6%YOY


  • การส่งออกแผงโซลาร์ และสินค้าในกลุ่มเหล็ก ยังเติบโตได้จากตลาดอื่นๆ แม้ได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ การส่งออกเครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์), และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไปยังสหรัฐฯ หดตัว 39.8%YOY, 53.8%YOY และ 14.6%YOY ตามลำดับ อันเนื่องมาจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (safeguard tariff) อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบในภาพรวมหดตัวเพียง 8.5%YOY ขณะที่การส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์), และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ในภาพรวมยังสามารถเติบโตได้ที่ 13.8%YOY และ 9.0%YOY ตามลำดับ เนื่องจากผู้ส่งออกสามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นนอกจากสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับสินค้าเหล็กได้รับผลกระทบเพียงบางรายการ


  • มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 11.7%YOY จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 25.0%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวกว่า 41.0%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัว 10.7%YOY ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 16.6%YOY
Implication.png

886_20100622103105.gif

  • อีไอซีปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตการส่งออกปี 2018 อยู่ที่ 8.5% จากเดิมที่ 7.5% เศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2018 จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอาจได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2018 เฉลี่ยอยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 33%YOY ในขณะที่ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อการส่งออกไทยในปีนี้ยังมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้ด้วยการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ดี


  • สงครามการค้ายังถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกไทยในปี 2018 ยังมีค่อนข้างจำกัด แต่ในระยะต่อไปเหตุการณ์อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลก อีกทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าอาจทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตหรือนำเข้า โดยอาจผลิตในประเทศมากขึ้นและลดการลงทุนนอกประเทศเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งจะกระทบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สู่ไทย และกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่ามาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากจีน 1,102 รายการ (มูลค่ารวมราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อาจกระทบการส่งออกสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากไทยไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 0.34% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ขณะที่มาตรการตอบโต้ของจีนที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 659 รายการ (มูลค่ารวมราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยรวมอาจไม่กระทบการส่งออกไทยมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าในหมวดเกษตรที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งออกไทยค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ มาตรการตอบโต้ของจีนอาจส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติกของไทย เนื่องจากจีนอาจมีความต้องการสินค้าจากไทยมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ


  • อีไอซีแนะผู้ประกอบการเฝ้าระวังเงินบาทผันผวน แม้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา การอ่อนค่าของค่าเงินบาทมีสาเหตุมาจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตามทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่มีแนวโน้มตึงตัว ประกอบกับ ความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าก็ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น (risk-off sentiment) เงินทุนจึงไหลออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) รวมทั้งไทย ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงสนับสนุนรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทยให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อีไอซีประเมินว่าเงินบาทยังมีความผันผวนซึ่งรวมถึงโอกาสในการกลับมาแข็งค่าจากหลายปัจจัย อาทิ ความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและการค้าโลกที่อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาอ่อนค่า ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน


  • อีไอซีปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตการนำเข้าปี 2018 อยู่ที่ 13.5% จากเดิมที่ 12.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

eic_infographic_trade_20180620.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ