SHARE
FLASH
20 มิถุนายน 2018

อีไอซีมอง กนง.คงดอกเบี้ยตลอดปีนี้ แม้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปรับสูงขึ้น

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 20 มิถุนายน 2018 คณะกรรมการมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ (5 ท่าน) มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ขณะที่กรรมการ 1 ท่านออกเสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% จากความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินเป็นสำคัญ โดยมีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม

ผู้เขียน: วชิรวัฒน์ บานชื่น 

 

Analysis.png

keypoint.jpg

    • ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 20 มิถุนายน 2018 คณะกรรมการมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ (5 ท่าน) มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ขณะที่กรรมการ 1 ท่านออกเสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% จากความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินเป็นสำคัญ โดยมีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม

    • กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง และดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน กล่าวคือ การส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดย กนง. ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2018 จาก 4.1% มาอยู่ที่ 4.4% และปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2019 จาก 4.1% มาอยู่ที่ 4.2% นอกจากนี้ กนง. ได้ปรับคาดการณ์ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขึ้น โดยปรับการบริโภคปี 2018 และ 2019 จาก 3.3% ทั้งสองปี มาอยู่ที่ 3.7% และ 3.6% ตามลำดับ และปรับการลงทุนภาคเอกชนปี 2018 และ 2019 จาก 3.0% และ 3.6% มาอยู่ที่ 3.7% และ 4.4%

      อย่างไรก็ตาม กนง. ประเมินว่า ความเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจยังโน้มไปด้านต่ำจากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามการค้าโลก รวมทั้งยังแสดงความกังวลต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนรายได้และการจ้างงานที่ยังไม่กระจายตัวทั่วถึง 

       

    • กนง. ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย โดย กนง. ได้ระบุว่าการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น แต่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังคงปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ กนง. ยังคงระบุว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ ธุรกิจ e-Commerce และการแข่งขันด้านราคา โดย กนง.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2018 มาอยู่ที่ 1.1% จากเดิมที่ 1.0% และคงประมาณการสำหรับปี 2019 ไว้เท่าเดิมที่ 1.2% ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น มีการปรับเพิ่มประมาณการของปี 2019 ขึ้น จาก 0.8% มาอยู่ที่ 0.9%

    • กนง. ประเมินว่าภาวะตลาดการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงในรอบการประชุมนี้ โดยระบุว่า เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ และในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง สำหรับภาวการณ์เงินด้านอื่นๆ กนง. ยังคงการสื่อสารที่คล้ายเดิม กล่าวคือ สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น และระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ แต่มีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นที่ต้องติดตามใกล้ชิด

 

Implication.png

886_20100622103105.gif

อีไอซีคาด กนง. คงดอกเบี้ยต่อเนื่องในปี 2018

  • อีไอซีคาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องในปี 2018 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เข้มแข็งมากขึ้นและช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน แม้ กนง. จะปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในการประชุมรอบนี้ แต่ได้สื่อสารถึงความเสี่ยงต่อประมาณการที่ยังคงโน้มไปด้านต่ำ โดยเฉพาะจากประเด็นการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยแม้ว่าผลกระทบโดยตรงต่อไทยอาจมีจำกัดเพราะสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานนี้มีสัดส่วนมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของไทย แต่การกีดกันทางการค้าจะส่งผลโดยตรงต่อภาวะการค้าโลกที่อาจซบเซาลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยและการส่งออกของไทยในช่วงต่อไปได้


    นอกจากนี้ อีไอซีมองว่า ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยนั้น ยังคงอยู่ใกล้ระดับล่างของกรอบเป้าหมาย อีกทั้งความเสี่ยงต่อประมาณการก็ยังคงโน้มไปด้านต่ำ จึงน่าจะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อ “อย่างยั่งยืน” ภายในปีนี้ กนง. จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

  • จับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และการสื่อสารด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ของ กนง. ซึ่งจะเป็น 2 ปัจจัยหลักที่สะท้อนถึงจังหวะของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงข้างหน้า  การประเมินของ กนง. นั้นสะท้อนได้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลก (ปรับเพิ่มประมาณการราคาในปีนี้จาก 62.4 เป็น 69.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) จะยังไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญนัก อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมาก หรือแรงกดดันด้านอุปสงค์เร่งตัวขึ้นมาก ก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและมีความยั่งยืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักข้อหนึ่งของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ กนง. สื่อสารไว้

    นอกจากนี้ ต้องจับตาการสื่อสารของ กนง. ถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะหากเป็นปัญหาในวงกว้างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยง (macroprudential policy) ที่ดูแลความเสี่ยงได้เฉพาะจุด ก็อาจทำให้ กนง. ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน

  • การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและความกังวลเรื่องสงครามการค้าโลกส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทในระยะสั้น แต่ไม่กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็ง โดย กนง. ได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบจากสงครามการค้าโลกได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาและจะมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ของสหรัฐฯ และการปรับ guidance ต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของกลุ่มยูโรโซนที่ผ่านมานั้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยอีไอซีพบว่า ในระยะสั้น นักลงทุนได้นำเม็ดเงินลงทุนออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จากความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าผลกระทบต่อการขยายตัวและเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากไทยมีฐานการส่งออกที่กระจายตัว การลงทุนภาครัฐที่ช่วยเสริมอุปสงค์ในประเทศ และฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง สามารถเป็นกันชนรองรับความผันผวนที่มากขึ้นได้ สำหรับในระยะต่อไป เงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสที่จะไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียได้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์สูง และมีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลให้นักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนตามความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ได้ ซึ่งสะท้อนได้จากผลกระทบต่อค่าเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในช่วงปีนี้เทียบกับช่วง Taper Tantrum ในปี 2013 (รูปที่ 1)

  • อีไอซีมองว่า วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จะเริ่มต้นในปีหน้าและจะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง. จะระมัดระวังเพื่อไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญในหลายมิติ

 

ตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท. เทียบกับการประชุมครั้งก่อน 

 

หัวข้อ

 

การประชุมครั้งก่อน

(16 พ.ค. 2018)

 

การประชุมครั้งนี้

(20 มิ.ย. 2018)

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ แม้ว่าการจ้างงานมีสัญญาณปรับดีขึ้นแต่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์


เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว และอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงและการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง จึงทำให้กำลังซื้อ

ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบาย

การค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

สถานการณ์เงินเฟ้อ


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากราคาอาหารสดที่อยู่ในระดับต่ำ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมปรับสูงขึ้น


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยและเข้าสู่กรอบเป้าหมายโดยหลักเป็นผลของราคาน้ำมันที่เร่งขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต คาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมทรงตัว

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม


1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

(กรรมการ 1 ท่านลาประชุม)

มติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

(กรรมการ 1 ท่านลาประชุม)

เหตุผลของกนง.


การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ แต่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อที่ต้องเข้าสู่กรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน นโยบายการเงินจึงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

 

 

eic_infographic_policy_20180620 (1).jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ