SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 พฤษภาคม 2018

อัพเกรดการบริการขนส่งผู้โดยสารในอาเซียนด้วยธุรกิจ ride-hailing

ในปี 2017 การบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันหรือ ride-hailing ของกลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาทและคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจ ride-hailing คือธุรกิจที่ให้บริการบนแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะภายในเครือข่ายผู้ให้บริการ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ และเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินค่าโดยสาร ซึ่งจะช่วยสร้างความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมของระบบคมนาคม นอกจากนี้ ธุรกิจ ride-hailing ยังให้บริการในด้านอื่นๆ เช่น การขนส่งพัสดุและอาหาร และอีเพย์เมนท์ เป็นต้น โดยจากรายงานของ Google ร่วมกับ Temasek พบว่าตลาด ride-hailing ในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็น 4% ของ GDP ภาคขนส่งของอาเซียน มีผู้ใช้บริการราว 6 ล้านเที่ยวต่อวัน มีผู้ขับขี่ยานพาหนะราว 2.5 ล้านคัน และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 23%CAGR จนถึงปี 2025 โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

ผู้เขียน: ปุญญภพ ตันติปิฎก

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2018

 

iStock-691001082.jpg

 

 


ในปี 2017 การบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันหรือ ride-hailing ของกลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาทและคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจ ride-hailing คือธุรกิจที่ให้บริการบนแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะภายในเครือข่ายผู้ให้บริการ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ และเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินค่าโดยสาร ซึ่งจะช่วยสร้างความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมของระบบคมนาคม นอกจากนี้ ธุรกิจ ride-hailing ยังให้บริการในด้านอื่นๆ เช่น การขนส่งพัสดุและอาหาร และอีเพย์เมนท์ เป็นต้น โดยจากรายงานของ Google ร่วมกับ Temasek พบว่าตลาด ride-hailing ในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็น 4% ของ GDP ภาคขนส่งของอาเซียน มีผู้ใช้บริการราว 6 ล้านเที่ยวต่อวัน มีผู้ขับขี่ยานพาหนะราว 2.5 ล้านคัน และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 23%CAGR จนถึงปี 2025 โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

 

ในด้านผู้ให้บริการ Grab และ Go-Jek เป็น 2 ผู้เล่นท้องถิ่นที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงในตลาดอาเซียน โดย Grab จากมาเลเซีย ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในหลายประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ส่วน Go-Jek จากอินโดนีเซียเป็นเจ้าตลาดในประเทศตนเอง นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยผู้เล่นจากประเทศอื่นๆ เช่น Uber จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ในหลายประเทศ, Easy Taxi จากบราซิล, และ Line taxi จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

 

ความสำเร็จของผู้ให้บริการท้องถิ่นเกิดจาก 3 ประการหลัก ได้แก่ 1. ความเข้าใจในตลาดท้องถิ่น โดยผู้ให้บริการท้องถิ่นได้เสนอบริการที่ตอบสนองลักษณะเฉพาะของคนในพื้นที่ เช่น การเปิดอบรมการใช้สมาร์ทโฟนให้แก่ผู้ขับขี่ และการเพิ่มทางเลือกในการจ่ายเงินด้วยการรับเงินสด เป็นต้น 2. ความหลากหลายในการให้บริการเพื่อทำให้แพลตฟอร์มเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ใช้บริการ เช่น การเรียกรถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ และการขนส่งพัสดุและอาหาร 3. เงินทุนในการขยายกิจการ โดย Grab และ Go-Jek ได้เพิ่มทุนอีกราว 78,000 ล้านบาท และ 37,000 ล้านบาท ตามลำดับ จากการสนับสนุนของบริษัทชั้นนำหลายบริษัท ขณะที่ Uber เพิ่มงบลงทุนเพียง 22,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องพัฒนาตลาดอื่นๆ ควบคู่ด้วย

 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจ ride-hailing ในอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการเตรียมขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Uber ให้กับ Grab เพื่อรุกเข้าสู่ตลาดอื่นๆ การซื้อขายนี้จะทำให้ Grab กลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดและคาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้ Grab สามารถทำกำไรได้หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่อง แต่การมีคู่แข่งน้อยก็เป็นโอกาสให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่หรือการขยายของผู้ให้บริการเดิมในตลาดใหม่ เช่น Go-Jek ในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสารในระบบ ride-hailing จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกับกรณีการขายกิจการ Uber ให้แก่คู่แข่ง Didi Chuxing ในจีน ในปี 2016 ซึ่งทำให้ราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นและโบนัสของผู้ขับขี่ลดลง แต่ทาง Grab ได้ยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการขึ้นราคาในระยะสั้น-กลาง

 

สำหรับไทย ในปี 2017 ธุรกิจ ride-hailing มีมูลค่าตลาดราว 18,000 ล้านบาท หรือราว 2% ของ GDP ภาคขนส่งไทยและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 20%CAGR โดยมีการให้บริการเรียกยานพาหนะ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์ และการบริการส่งพัสดุและอาหาร ซึ่งเน้นบริการในกรุงเทพฯ และเริ่มขยายการให้บริการไปยังเมืองที่สำคัญในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เป็นต้น โดยก่อนการควบรวมกิจการของ Grab กับ Uber นั้น Grab ครองส่วนแบ่งการตลาดราว 70% ส่วนที่เหลือเป็นของ Uber, All Thai taxi, และผู้เล่นใหม่อย่าง Line taxi

 

การขยายตัวของธุรกิจ ride-hailing นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารแล้ว ยังสร้างโอกาสให้กับผู้ขับขี่ยานพาหนะสาธารณะในไทยอีกด้วย โดยภายในระบบ ride-hailing ผู้โดยสารสามารถเรียกรถได้สะดวกมากขึ้นพร้อมทั้งราคาค่าโดยสารที่ใกล้เคียงกับรถแท็กซี่ทั่วไป ส่วนผู้ขับขี่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 25-50% เมื่อเทียบกับการขับแท็กซี่ทั่วไปจากการวิ่งรถเปล่าลดลง และได้รับโบนัสพิเศษจากผู้ให้บริการ เช่น ค่าธรรมเนียมในการเรียกรถหรือจองรถล่วงหน้า การการันตีรายได้ต่อรอบเมื่อให้บริการได้ตามที่กำหนด เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเร่งวางแผนในการรองรับการเติบโตของธุรกิจ ride-hailing ซึ่งจะทวีความสำคัญในธุรกิจขนส่งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ขับขี่และผู้ใช้บริการทั้งในด้านความสะดวก ความปลอดภัย และค่าบริการที่มีความเป็นธรรม โดยควรมีแนวทางกำกับ ดูแล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ ride-hailing และสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจ ride-hailing กับธุรกิจขนส่งมวลชนสาธารณะอื่นๆ อีกด้วย 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ