SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 เมษายน 2018

จับตามาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจมีผลต่อไทย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

Outlook_TH_Q2_2018_Box us_pic.jpg

 

การกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ถูกยกกลับขึ้นมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังในปี 2018 หลังจากในปีที่ผ่านมาทรัมป์เริ่มต้นการเข้าดำรงตำแหน่งด้วยการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ตามมาด้วยการออกคำสั่งพิเศษที่มุ่งเป้าตรวจสอบพฤติกรรมคู่ค้าที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ ซึ่งไทยก็เป็น 1 ใน 16 ประเทศที่ถูกเพ่งเล็งอย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดด้านการกีดกันทางค้าได้เริ่มลดลง เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์ได้หันไปให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ Obamacare และการผลักดันนโยบายการปฏิรูปภาษีมากขึ้น จนสามารถออกกฎหมายภาษีฉบับใหม่ได้สำเร็จในที่สุด จนกระทั่งมาถึงปีนี้ ทรัมป์จึงกลับมาให้ความสำคัญกับมาตรการกีดกันทางการค้าอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำถึงนโยบายที่เคยโฆษณาไว้ในตอนหาเสียงว่าอเมริกาต้องมาก่อน (America First)

มาตรการอะไรที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2018?

 

1. มาตรการเซฟการ์ดเก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์

• เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2018 ทรัมป์อนุมัติมาตรการเซฟการ์ดเก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เพื่อปกป้องผู้ผลิตสหรัฐฯ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USITC) ยื่นข้อเสนอเยียวยาการค้าที่ไม่เป็นธรรม (unfair trade practices) ตามมาตรา 201 กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3-4 ปี ทั้งนี้ สำหรับเครื่องซักผ้า การคิดภาษีจะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยเครื่องซักผ้าจำนวน 1.2 ล้านเครื่องแรกที่มีการนำเข้าต่อปีจะคิดภาษี 20% แต่ในส่วนที่เกินจากนี้ จะเก็บภาษีเพิ่มเป็น 50% สำหรับแผงโซลาร์จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้า 30% หากมีการนำเข้าเกิน 2.5 กิกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีในปีถัดไปของสินค้าทั้ง 2 ชนิดจะลดลงปีละ 2-5%

• อีไอซีมองว่าการเติบโตของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยจะลดลงประมาณ 1%YOY แต่จะไม่กระทบผู้ผลิตมากนัก โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของการส่งออกเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ ดังนั้น มูลค่าการส่งออกเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์จะลดลงราว 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ในไทยต่างปรับตัวเพื่อรองรับมาตรการนี้แล้ว โดยผู้ผลิตเครื่องซักผ้าจากต่างประเทศซึ่งมีฐานการผลิตในไทยอย่าง Samsung และ LG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปผลิตที่โรงงานในสหรัฐฯ แทนสำหรับส่วนที่จะขายในตลาดสหรัฐฯ โดยทั้งสองบริษัทก็ได้เปิดโรงงานเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ไว้แล้วด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกแผงโซลาร์ได้กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ไปยังตลาดอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ตุรกี เม็กซิโก สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกปี 2017 ในตลาดดังกล่าวมีการขยายตัวมากกว่าเท่าตัว

 

2. มาตรการเซฟการ์ดป้องกันการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม

 

• กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ (Department of Commerce) ได้ใช้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 เพื่อสอบสวนการนำเข้าเหล็ก (steel) และอะลูมิเนียม (aluminum) โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2017 และ 26 เมษายน 2017 ตามลำดับ ซึ่งล่าสุดในวันที่ 8 มีนาคม 2018 ทรัมป์ได้ลงนามอย่างเป็นทางการอนุมัติให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากทุกประเทศในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมในอัตรา 10% เพิ่มเติมจากมาตรการภาษีทั้งหมดที่มีการเรียกเก็บอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ในระยะแรกการนำเข้าเหล็กจากแคนาดา และเม็กซิโกจะได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าวก่อนเพื่อรอดูผลการเจรจา NAFTA ครั้งใหม่

• อีไอซีมองว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของการส่งออกไทยทั้งหมดซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเหล็กบางประเภท ได้แก่ ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เหล็กแผ่นเคลือบ และเหล็กแผ่นรีดเย็น อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ จะลดลงเพียงแค่บางส่วนและผู้ประกอบการยังสามารถปรับตัวโดยเปลี่ยนไปส่งออกในตลาดอื่นมากขึ้น

• ในด้านผลกระทบทางอ้อม ผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถนำเข้าไปในสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะถูกส่งออกมาทำตลาดในไทย โดยเฉพาะเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากรัสเซีย เหล็กเส้นจากตุรกี และลวดเหล็กจากจีน ที่ในปัจจุบันไทยยังไม่มีการใช้มาตรการป้องกันทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ เช่น ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บจากเกาหลีใต้ และเหล็กเคลือบจากเวียดนาม อีไอซี ประเมินว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ไหลเข้าไทยในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากไทยมีการเรียกเก็บ AD (Anti-Dumping) อยู่แล้วในปัจจุบัน

มาตรการอะไรบ้างที่ต้องจับตามองต่อไปในปีนี้?

1. การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

วันที่ 22 มีนาคม 2018 ทรัมป์ได้ลงนามใน presidential memorandum มีคำสั่งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) พิจารณาเก็บภาษีนำเข้า (tariff) ที่อัตรา 25% สำหรับสินค้าจากจีนมูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 2.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2017 ทั้งนี้ USTR จะต้องนำเสนอรายชื่อสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีภายใน 15 วัน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ตามมาตรา 301 ของกฎหมาย Trade Act of 1947) ซึ่งระบุว่าทางการจีนได้มีพฤติกรรมและมีนโยบายที่ก่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้กับจีนและก่อให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลเสียต่อการค้าของสหรัฐฯ

• อีไอซีมองว่าสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน อาจได้รับผลกระทบหากมีการเก็บภาษีสินค้าจากจีน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน และหากสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมากขึ้น โดยการเล็งเก็บภาษีจากจีนเพียงประเทศเดียวก็อาจทำให้บริษัทจีนพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยอาจขยายกำลังการผลิตไปในประเทศอื่นแทนได้ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จีนอาจเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ และท้ายที่สุดแล้วก็จะทำให้ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมที่ EIC Flash: สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่อแววปะทุ หลังสหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน)1

 

2. การถอนตัวออกจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement: NAFTA)

ทรัมป์เริ่มเจรจาข้อตกลง NAFTA ใหม่ เนื่องจากมองว่าข้อตกลงเดิมไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจสหรัฐฯ และส่งผลให้แรงงานนับหมื่นคนต้องตกงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และสินค้าเกษตร ซึ่งการเจรจาใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2017 มีประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ เรียกร้อง คือ ต้องการให้มีการกำหนดว่าข้อตกลงจะหมดอายุลงทุก 5 ปี และต้องการให้เพิ่มสัดส่วนชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์ที่มาจากอเมริกาเหนือตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (rule of origin)

หลังจากการเจรจาใหม่มาแล้วถึง 7 ครั้งแต่ก็ยังมีความขัดแย้ง ทำให้ทรัมป์ประกาศว่าอาจถอนตัวออกจาก NAFTA โดยหากเกิดขึ้นจริง สหรัฐฯ ต้องประกาศล่วงหน้าก่อนการถอนตัวอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งนี้ ผลกระทบต่อสหรัฐฯ อาจมีอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับแคนาดา (Canada–United States Free Trade Agreement) อยู่แล้ว โดยผลกระทบจะตกอยู่ที่การค้าระหว่างสหรัฐฯ-เม็กซิโกเป็นหลักซึ่งต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้นทั้งสองฝ่าย

 

 

รูปที่ 1: การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องจับตามองในปีนี้


Outlook_TH_Q2_2018_Box us.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC ณ วันที่ 22 มีนาคม 2018 จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์และ Trademap

 

การตอบโต้จากประเทศต่างๆ ในประเด็นการกีดกันทางการค้าเป็นอย่างไร?

หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศเก็บภาษีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกที่อัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ส่งผลให้หลายประเทศออกมาแสดงความไม่พอใจและประกาศว่าจะมีการออกมาตรการตอบโต้ (retaliation) สินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญของสหรัฐฯ เช่น จีน สหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก เป็นต้น

 

รูปที่ 2 : หลายประเทศออกมาแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการเก็บภาษีนำเข้า (tariff) เหล็กและอะลูมิเนียมของทรัมป์

 

Outlook_TH_Q2_2018_Box us2.jpg

 

 

ที่มา: Financial Times, The New York Times, CNBC, BBC

 

แคนาดาและเม็กซิโก: เป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และ 5 ตามลำดับ ทำให้ทั้งสองประเทศดังกล่าวจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ทั้งแคนาดาและเม็กซิโกได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าจากทั้งสองประเทศดังกล่าว เนื่องจากทั้งสองประเทศอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสากรรมการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีการนำเข้าเหล็กจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน และยังเป็นคู่ค้ารายสำคัญในสินค้าอื่นๆ อีกหลายประเภท โดยหากมีการออกมาตรการตอบโต้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ออกมาประกาศในภายหลังว่าจะยกเว้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมให้แคนาดาและเม็กซิโกเป็นการชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการต่อรองให้การเจรจา NAFTA รอบต่อไปตกลงกันได้ด้วยดี

สหภาพยุโรป: สหรัฐฯ ได้นำเข้าเหล็กจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปรวมกันราว 20% ของการนำเข้าเหล็กทั้งหมดในปี 2017 ทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าว โดยเฉพาะเยอรมนีและสหราชอาณาจักรซึ่งมีการส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยคณะกรรมมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ออกมาประกาศว่าจะมีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่กำลังถูกพิจารณาเพื่อขึ้นภาษีนำเข้า ได้แก่ รถฮาร์ลีย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) วิสกี้บูรบอง (bourbon) ยีนส์ (blue jeans) น้ำส้ม แครนเบอรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่ทางสหภาพยุโรปเลือกมาพิจารณานั้นมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายโจมตีสินค้าส่งออกหลักของรัฐต่างๆ ที่มีแกนนำของพรรครีพัับลิกันเป็นผู้แทนอยู่ในรัฐนั้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2018 ทางสหรัฐฯ ก็มีท่าทีผ่อนผันโดยประกาศว่าจะยกเว้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมให้กับสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน

จีน: หลังจากที่สหรัฐฯ ออกมาตรการเซฟการ์ดเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์และเครื่องซักผ้า ส่งผลให้จีนออกมาประกาศว่าจะออกมาตรการตอบโต้ โดยกำลังสอบสวนการนำเข้าข้าวฟ่าง (sorghum) จากสหรัฐฯ ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจีนจะทำการสอบสวนสินค้าอื่นๆ ต่อไปหากสหรัฐฯ มีการออกมาตรการมาเพิ่มขึ้น โดยสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มถูกตอบโต้คือสินค้าเกษตร ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 แซงหน้าแคนาดามานับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพด อีกทั้งยังมีสินค้าด้านการขนส่ง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน ที่จีนขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาก จึงอาจถูกสอบสวนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเก็บภาษีสินค้าจีนจากการสอบสวนตามมาตรา 301 ทางการจีนก็ได้ออกมาตอบโต้ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กว่า 128 รายการ รวมมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันของสหรัฐฯ และอาจพิจารณาตอบโต้สินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ ด้วย เช่น บราซิล เกาหลีใต้ รัสเซีย ตุรกี ญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ การตอบโต้จากหลายประเทศก่อให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่สงครามการค้า (trade war) ในโลกได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองในปีนี้ต่อไป


ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC ณ วันที่ 22 มีนาคม 2018 จากข้อมูลของ U.S. Department of Commerce, กระทรวงพาณิชย์, Financial Times, The New York Times, CNBC, BBC, กรมการค้าต่างประเทศ

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ