SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

เศรษฐกิจจีน: จีนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เน้นพัฒนาอย่างมีคุณภาพ และเพิ่มบทบาทในเวทีโลก

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจจีนโต 6.8%YOY ในไตรมาส 3 ชะลอตัวเพียงเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้การลดกำลังการผลิตส่วนเกินจะทำให้อุตสาหกรรมหนัก เช่น เหมืองแร่และเหล็กชะลอตัว แต่ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2017 ภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัวที่ 6.6%YOY เป็นผลมาจากการเร่งตัวของอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทค เช่นเดียวกับภาคบริการที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 8.3%YOY นอกจากนี้ ใน 11 เดือนที่ผ่านมาความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่เติบโตได้ดี 10.3%YOY โดยเฉพาะยอดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 34%YOY รวมถึงการส่งออกก็ยังคงโตต่อเนื่อง 12.3%YOY

 

อีไอซีคาดเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวที่ 6.5% ในปี 2018 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพในภาคการเงิน การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อในวาระที่ 2 ของนายสี จิ้นผิงจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจีนในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นไปอย่างราบรื่น จีนจะเร่งการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศโดยลดบทบาทของอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ดำเนินการโดยวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามแผน Made in China 2025 เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป เช่น อุตสาหกรรมไฮเทค การบริการด้านเทคโนโลยี และ e-Commerce ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ 13.4%YOY 29%YOY และ34%YOY ตามลำดับใน 11 เดือนแรกของปี 2017 นอกจากนี้ จีนประกาศแผนพัฒนาชนบทเป็นครั้งแรก เพื่อพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชนบท และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวจีนทั่วประเทศ ดังนั้น แม้จะไม่มีการกำหนดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่อีไอซีมองว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศสังคมนิยมพอกินพอใช้ในปี 2020 และต่อมาเป็นประเทศสังคมนิยมทันสมัยในปี 2035 ได้อย่างไม่ยากนัก จากความสำเร็จในการลดอัตราความยากจนในประเทศจาก 10% เหลือเพียง 4% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จีนต้องเพิ่มเสถียรภาพในภาคการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

จีนเดินหน้าเปิดประเทศ มุ่งสู่การเป็นประเทศทรงอิทธิพลภายในปี 2050 โดยมี Belt and Road Initiatives (BRI) เป็นโครงการสำคัญที่จะส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนของจีน ในระยะแรกจะเป็นการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางบกและทางทะเลและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ในระยะต่อมาโอกาสทางการค้าและการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น โดยจีนเตรียมปรับแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีระหว่างนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวจีน พร้อมกันนี้ จีนได้เริ่มเปิดเสรีภาคการเงินทั้งการยืดหยุ่นค่าเงินหยวนและการเปิดตลาดทุนเพื่อสนับสนุน BRI อีกทางหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติมที่ Box: จีนประกาศเดินหน้าขยายอิทธิพลในเวทีโลกผ่านโครงการ Belt and Road Initiatives)

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • การปรับดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 และ 28 วันและดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ขึ้น 0.05% ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้เงินหยวนแข็งค่าเล็กน้อย ทั้งนี้อีไอซีมองว่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปที่ 6.65 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2018 จากการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและความต้องการลงทุนในต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

  • การส่งออกของไทยไปจีนใน 11 เดือนแรกของปี 2017 โตได้ดีที่ 25.4%YOY นำโดยผลิตภัณฑ์ยางพารา และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รวมถึงรถยนต์และส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 4.3%YOY เนื่องจากการต้องการเครื่องจักรที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยอีไอซีคาดว่าการค้าไทย-จีนในปี 2018 จะโตต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นของทั้ง 2 ประเทศ

  • การลงทุนโดยตรงจากจีนในไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2017 หดตัว 21.4%YTD แต่การลงทุนในภาคการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ภาคการเงิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังโตได้ดี ทั้งนี้ ความร่วมมือไทย-จีนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะเวลา 4 ปี มูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระตุ้นการลงทุนจากภายในและภายนอกประเทศในอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยการก่อสร้างจะเริ่มในไตรมาสแรกของปี 2018 และจะแล้วเสร็จในปี 2022

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_18.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ