SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

นโยบายการปฏิรูป ระบบภาษีของสหรัฐฯ นัยต่อเศรษฐกิจและค่าเงิน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

iStock-638589782.jpg

 

นโยบายการปฏิรูประบบภาษีขนานใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เน้นการลดภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนโยบายเด่นของประธานาธิบดีทรัมป์ และพรรครีพับลิกันที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามความคืบหน้าต่อเนื่องในปี 2018 หลังจากที่ร่างกฎหมายการปฏิรูประบบภาษีมีความคืบหน้าช่วงปลายปี 2017 จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative) ผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูประบบภาษีฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2017 ทำให้ความหวังในการผลักดันแผนการปฏิรูปภาษีเริ่มเป็นรูปธรรรมมากขึ้น อย่างไรก็ดี สมาชิกวุฒิสภา (Senate) เองก็ได้มีการเขียนร่างกฎหมายการปฏิรูประบบภาษีฉบับของวุฒิสภา และมีความแตกต่างกับฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่พอสมควร ทั้งนี้ หลังความพยายามในการผลักดันแผนการปฏิรูปภาษีเริ่มสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งการหารือร่วมเต็มคณะของทั้งสภาคองเกรสได้ข้อสรุปที่เร็ว ส่งผลให้การผลักดันร่างกฎหมายการปฏิรูปภาษีได้ข้อสรุปในฉบับสุดท้าย (รูปที่ 1) โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่การลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 21% และสามารถเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีในปี 2018 หลังประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามแล้ว (รูปที่ 2)

 

เปรียบเทียบร่างกฎหมายปฏิรูประบบภาษีฉบับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ และฉบับสุดท้าย

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_10_table.jpg

 

หมายเหตุ: *องค์กรธุรกิจประเภท Pass-Through หมายถึง ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนประเภทต่าง ๆ เช่น ห้างหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ เฮดจ์ฟันด์ และ นิติบุคคลขนาดเล็กประเภท S-Corporation โดยธุรกิจประเภท Pass-Through จะไม่เสียภาษีในชั้นขององค์กร ภาระภาษีจะตกอยู่กับผู้ถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นต้องนำรายได้จากเงินปันผลมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อสิ้นปีภาษี
** เก็บแบบทั่วโลกไม่เลือกแหล่งที่มาว่าในหรือนอกประเทศ ถูกจัดเก็บตอนนำรายได้กลับเข้าประเทศ 35%
*** เก็บตามแหล่งที่มาของรายได้ ยกเว้นภาษีให้กับรายได้ที่เกิดนอกประเทศ

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BNP Paribas และ US Tax Policy Center

 

กระบวนการการผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูประบบภาษีของสหรัฐฯ

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_11_table.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Goldman Sachs

 

 

อีไอซีมองว่านอกเหนือจากภาษีนิติบุคคลที่ถูกปรับลดลงเพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของนิติบุคคลสหรัฐฯแล้ว จะมีตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ 2 ตัว ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการขาดดุลรวมและเม็ดเงินบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่อยู่นอกประเทศ ในข้อแรก ตามข้อกำหนดร่างกฎหมายงบประมาณ (budget resolution) กำหนดการขาดดุลการคลังส่วนเพิ่มจากนโยบายลดภาษีของสหรัฐฯ ไว้ไม่ให้เกิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ ซึ่งการขาดดุลการคลังด้วยตัวเลขนี้นับว่าน้อยกว่าการลดภาษีในรอบก่อน และคิดเป็นมูลค่าเพียง 0.7% ของ GDP และจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เพียง 0.1-0.3% ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงอาจไม่ได้สูงเท่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ในข้อที่สอง ได้มีการประมาณการไว้ว่ามีเม็ดเงินที่เกิดจากกำไรของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ถึงราว 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่นอกประเทศและสามารถถูกส่งกลับประเทศได้หากมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีการนำกำไรที่เกิดขึ้นนอกประเทศกลับเข้าประเทศได้ด้วยอัตราพิเศษหนึ่งครั้ง (one-time repatriation tax) ซึ่งเคยมีการบังคับใช้กฎหมายที่คล้ายคลึงกันนี้เมื่อปี 2004-2005 (รูปที่ 3) ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลขนี้จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยอาจทำให้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีขึ้นและอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มกลับมาทยอยแข็งค่าก็เป็นได้ เนื่องจากการลดภาษีช่วยทำให้นิติบุคคลสหรัฐฯ จ่ายภาษีน้อยลง มีกำไรมากขึ้น แข่งขันได้ดีขึ้น เกิดการสร้างงานได้มากขึ้น ด้านภาษีที่ช่วยส่งเสริมการนำเอารายได้นอกประเทศกลับสหรัฐฯ จะช่วยให้เกิดการซื้อหุ้นคืน (share buyback) และจ่ายเงินปันผลมากขึ้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและช่วยให้เกิดการสร้างงานตามมาได้ถ้าบริษัทมีการขยายกำลังการผลิต ทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดการลงทุนกลับเข้าไปในสหรัฐฯ และสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะต่อไปได้

 

เปรียบเทียบ repatriation tax ปี 2004 กับ ปี 2018 และคาดการณ์ผลต่อค่าเงิน

เปรียบเทียบ repatriation tax ปี 2004 กับปี 2018

 

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_11_table3.jpg

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD Index)

หน่วย: ดัชนี

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_11_table4.jpg

 

*บังคับการถูกเก็บภาษี ในที่นี้หมายถึงรายได้ที่อยู่นอกประเทศทั้งหมดจะถูกคิดภาษีเสมือนนำกลับเข้าประเทศ (deemed repatriation) ไม่ว่าจะนำกลับมาจริงหรือไม่ก็ตาม

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ