SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

เศรษฐกิจสหรัฐฯ: เปิดตัวกฎหมายภาษีฉบับใหม่ เสริมทัพเศรษฐกิจภายในที่แข็งแกร่ง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 2017 ขยายตัวเกินคาด จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่โตต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจขยายตัว 3.2%QOQ SAAR1 หรือขยายตัว 2.3%YOY ประกอบกับอัตราการว่างงานยังคงลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวได้ 2.6%YOY นำโดยการซื้อสินค้าคงทนที่เติบโตถึง 6.3%YOY พร้อมกันนี้ การลงทุนภาคเอกชนก็เป็นอีกปัจจัยที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.5%YOY โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4%YOY ณ ไตรมาส 3

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะเป็นแรงส่งสำคัญในปี 2018 และสนับสนุนการดำเนินนโนบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น อีไอซีปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2018 อยู่ที่ 2.3% จาก 2.1% ตามอัตราการว่างงานที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดจนแตะระดับ 4.1% ในเดือนพฤศจิกายน 2017 รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวดีแล้ว ก็จะส่งผลต่อเนื่องให้ผลประกอบการของบริษัทและการลงทุนภาคเอกชนเติบโตเช่นกัน โดยการขยายตัวดังกล่าวจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 3 ครั้งในปี 2018 ตามประมาณการการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (dot plot) ทั้งนี้ ประธาน Fed คนใหม่นาย Jerome Powell จะไม่ทำให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างไปจากนาง Jenet Yellen อย่างมีนัยสำคัญ โดยอีไอซีมองว่าถึงแม้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ Fed ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ

พรรครีพับลิกันผลักดันนโยบายปฏิรูปภาษีได้เป็นผลสำเร็จ อีไอซีประเมินว่าอาจมีผลกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจราว 0.1-0.3% ต่อปีในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยมีประเด็นสำคัญในกฎหมายการปฏิรูปภาษี 2018 (Tax Cuts and Jobs Act 2018) คือการลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% ไปที่ 21% การให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนใหม่ทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบภาษีสำหรับบริษัทสหรัฐฯ ที่นำกำไรที่เกิดขึ้นนอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศ (repatriation) โดยเปลี่ยนจากระบบการเก็บภาษีทั่วโลก (worldwide tax system) เป็นระบบการเก็บภาษีตามแหล่งรายได้ (territorial tax system) ในภาพรวมแล้ว คณะกรรมการร่วมด้านภาษีของสหรัฐฯ (Joint Committee on Taxation) ได้ประเมินว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำให้รายได้ภาษีของรัฐบาลลดลงรวม 1.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าจะช่วยลดภาระการจ่ายภาษีของภาคเอกชนลงประมาณ 0.7% ของ GDP ต่อปีเท่านั้น ซึ่งจะกระตุ้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ราว 0.1-0.3% ต่อปี โดยจะมีผลมากกว่าในช่วง 5 ปีแรกและลดลงในช่วงปีหลังตามสิทธิการลดหย่อนภาษีบางส่วนที่จะหมดอายุไป นอกจากนี้ กฎหมายภาษีที่สำเร็จลุล่วงไปได้ จะทำให้ตลาดการเงินในปี 2018 มีความผันผวนน้อยลงกว่าในปีที่ผ่านมาและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเพิ่มขึ้น

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • การเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการปฏิรูปภาษีที่ผลักดันได้เป็นผลสำคัญ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้แล้ว จึงทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ในกรอบ 32.5-33.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรก 2018

  • การบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและนโยบายกีดกันทางการค้าที่ไม่มีแนวโน้มรุนแรง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2017 ขยายตัวได้ 8.1%YOY และยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารแปรรูป

  • บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ อาทิ ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และผู้ผลิตอาหาร จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายภาษีฉบับใหม่ ทั้งจากภาระภาษีที่ลดลง สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรก รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคบางส่วนที่สูงขึ้น


 1 การเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อน แบบปรับฤดูกาล และคิดเป็นอัตราการเติบโตรายปี (quarter-on-quarter, seasonally adjusted and annualized rate)

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_08.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ