SHARE
SCB EIC ARTICLE
02 พฤศจิกายน 2017

เปิดกลยุทธ์ รุกธุรกิจโรงแรมในเมียนมา

ผู้เขียน: ปุลวัชร ปิติไกรศร

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์  วันที่ 2 พฤศจิกายน 2017

 

iStock-546200900.jpg 

 

 

การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศของเมียนมาด้วยการผ่อนคลายกฎหมายด้านการลงทุนตั้งแต่ปี 2010 ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเมียนมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าอัตราการเติบโตของ FDI สูงถึง 35% ต่อปีในช่วงปี 2010-2015 ซึ่งการเปิดประเทศยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจที่จะเข้าไปท่องเที่ยวมากขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติของกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรมแห่งเมียนมาในช่วงปี 2011-2016 ที่เติบโตจากประมาณ 8 แสนคนสู่ระดับ 2.9 ล้านคน

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูนี้ได้ผลักดันให้มูลค่าการขออนุญาตลงทุนธุรกิจโรงแรมมีมูลค่าสูงกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2013-2017 และมีจำนวนห้องพักทั่วประเทศราว 58,000 ห้อง ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมยังคงกระจุกตัวอยู่ในย่างกุ้ง เนื่องจากความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีกว่าเมืองอื่นๆ  อย่างไรก็ตาม เมียนมายังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ชายหาดและเกาะต่างๆ ทางภาคตะวันตกและภาคใต้

 

แม้ว่าจะมีปัจจัยเอื้อในหลายด้านที่สนับสนุนให้การลงทุนธุรกิจโรงแรมมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่ายังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนบางประการ เช่น ต้นทุนค่าเช่าที่ดินที่อยู่ในระดับที่สูงมาก จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาฯ พบว่าค่าเช่าที่ดินย่านใจกลางเมืองย่างกุ้งมีราคาสูงกว่าค่าเช่าที่ดินในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครกว่า 5 เท่าโดยสาเหตุสำคัญมาจากการขาดระบบการประเมินราคาที่ดินที่ได้มาตรฐาน การตั้งราคาซื้อขายที่ดินจึงขึ้นอยู่กับผู้ขายเป็นหลัก เช่นเดียวกับต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าไทยราว 2-3 เท่า รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวด เช่น กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนสร้างโรงแรมในระดับ 3 ดาวขึ้นไปเท่านั้น

 

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น อีไอซีแนะโอกาสการลงทุนธุรกิจโรงแรมในเมียนมาสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติเมียนมาเพื่อตัดภาระด้านค่าเช่าที่ดินและลดความเสี่ยงของการต่ออายุการเช่าที่ดิน กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีรูปแบบการลงทุนในลักษณะนี้ คือ โรงแรม Pan Pacific Yangon อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนลักษณะนี้ยังเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายด้านการถือครองอสังหาฯ และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเมียนมา

 

รูปแบบที่สองคือการรับจ้างบริหารโรงแรม ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่ารูปแบบแรก และหลีกเลี่ยงข้อจำกัดจากการที่นักธุรกิจชาวเมียนมาไม่ต้องการที่จะลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของทรัพย์สินให้แก่บริษัทต่างชาติจากการตั้งบริษัทร่วมทุน ในขณะเดียวกันก็ต้องการความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงแรมที่ได้มาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้ กลุ่มธุรกิจโรงแรมระดับโลกหลายแห่ง เช่น Okura Hotels & Resorts หรือ Marriott International จึงเลือกที่จะลงทุนในรูปแบบนี้เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการที่พักที่ได้มาตรฐานสากลของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจโรงแรม นอกจากการเลือกรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับข้อจำกัดที่มีอยู่ การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาพรวมการท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งมีสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลเมียนมาที่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาระยะหนึ่ง สะท้อนจากการวางแผนแม่บทอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปี 2013-2020 โดยความช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ซึ่งเน้นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะการพัฒนาเครือข่ายถนนทั่วประเทศและสนามบินนานาชาติในเขตอิระวดีและเขตตะนาวศรีเพื่อปลดล็อกศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและสร้างรายรับจากการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ