SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 กันยายน 2017

การส่งออกบริการ: การท่องเที่ยว … ความหวังที่สดใสของเศรษฐกิจไทย ?

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม

 

iStock-474564386.jpg

  

การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่องหลายปี โดยการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นจนทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปมากที่สุด ส่งผลให้การส่งออกภาคบริการของไทยเติบโตจนมีสัดส่วนราว 16% ของ GDP ในปี 2016 ซึ่งมีขนาดพอๆ กับการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนประมาณ 18% แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ในประเทศที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปในบางช่วง แต่การท่องเที่ยวก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเสมอ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังเผชิญแรงกดดันอีกหลายประการ ทำให้การท่องเที่ยวก้าวขึ้นมาเป็นความหวังสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยต่อไป

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยที่ยังคงสดใสหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) จำนวนนักท่องเที่ยวจะเติบโตได้ดีต่อไปหรือไม่? 2) การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มอย่างไร? และ 3) ไทยมีความพร้อมเพียงพอในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง? ซึ่งอีไอซีมองแนวโน้มทั้ง 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1) จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นตัวบ่งชี้แรกที่มักจะถูกพูดถึงอยู่เสมอ โดยอีไอซีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังเติบโตได้สูงราว 7.8% ใน 2017 และ 8.7% ในปี 2018 เนื่องจากแรงสนับสนุนจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่นิยมมาท่องเที่ยวไทยยังคงมีอยู่ต่อเนื่องนำโดยนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งจากการสำรวจของ Financial Times 10 ระบุว่านักท่องเที่ยวจีนยังคงเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของเอเชีย อีกทั้งมีชาวจีนจากเมืองรองต่างๆ ที่เริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มนิยมออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนที่มาจากเมืองหลัก (tier 1) เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน เท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศหลักอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย หรือสหราชอาณาจักร ยังคงเติบโตอย่างสม่ำเสมอ (รูปที่ 5) นอกจากนี้ เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ที่ถึงแม้จะยังมีจำนวนน้อยแต่การเติบโตที่โดดเด่นก็แสดงถึงความนิยมมาไทยที่สูงขึ้นชัดเจน เช่น บราซิล อาร์เจนตินา และซาอุดีอาระเบีย ขยายตัวถึง 67%YOY 60%YOY และ 40%YOY ตามลำดับ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2017

จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศหลักยังเติบโตอย่างสม่ำเสมอ

จำนวนนักท่องเที่ยว 10 ประเทศหลักที่เดินทางมาไทยมากที่สุด

หน่วย: ล้านคน
2.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC

2) ด้านรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมยังมีแนวโน้มเติบโต ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยวในปี 2016 ระบุว่านักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเฉลี่ย 50,205 บาท/คน/ทริป หรือขยายตัวราว 3%YOY ซึ่งเป็นอัตราที่ทรงตัวจากหลายปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายต่อทริปนั้นขึ้นอยู่กับรายจ่ายเฉลี่ยต่อวันและจำนวนวันที่ท่องเที่ยวในไทย ทั้งนี้ พบว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี ระยะเวลาท่องเที่ยวเฉลี่ยกลับลดลง เนื่องจากมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ในปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดจาก 60% ในปี 2011 ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนั้นใช้เวลาอยู่ในไทยเฉลี่ยราว 7 วันเท่านั้น ต่ำกว่านักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ ที่พำนักในไทยนานถึง 12-17 วัน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่อยู่นานและยังใช้จ่ายเยอะก็ยังมีสัดส่วนน้อยมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย หรือยุโรปบางประเทศ (รูปที่ 6) มีการใช้จ่ายสูงถึง 77,000-80,000 บาท/คน/ทริป (เทียบกับนักท่องเที่ยวเอเชียที่ประมาณ 40,000 บาท/คน/ทริป) โดยหากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพดังกล่าวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้นได้ก็จะช่วยให้รายได้การจากการท่องเที่ยวเติบโตเร็วขึ้นต่อไป

มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้รายได้การท่องเที่ยวเติบโตเร็วขึ้น ปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากขึ้น โดยหันมาตั้งเป้าหมายด้านรายได้มากกว่าเน้นจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาทในปีนี้และ 3.0 ล้านล้านบาทในปี 2018 สำหรับมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันในหลายๆ จังหวัดมากขึ้น เช่น แคมเปญ ‘12 เมืองต้องห้าม...พลาด’ และยังขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดที่อยู่ติดกันด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายไปหลายเมืองและทำให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะจากกลุ่มที่มีกำลังซื้อ อาทิ กลุ่มมุสลิมจากตะวันออกกลาง กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือกลุ่มผู้มีรายได้สูง เป็นต้น โดยนำเสนอการท่องเที่ยวแบบ luxury รวมถึงนำเสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเพื่อกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการจัดงานแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งมาตรการต่างๆ ดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้นักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพเดินทางมาไทยมากขึ้นได้


10 FT Confidential Research (2017), “Exploring the travel habits of Chinese tourists”


สามารถอ่านต่อได้ที่ฉบับเต็ม

 

 

 

 

 

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ