SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2017

เศรษฐกิจ CLMV: การท่องเที่ยวโดดเด่น ดันเศรษฐกิจกัมพูชา

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มเติบโตดี และมั่นคงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยในปี 2016 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 7% ด้วยแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเติบโต 10% และ 6.8% ตามลำดับ ด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 34% โดยมีจีนเป็นประเทศผู้ลงทุนหลัก นอกจากนี้ การขาดดุลทางการค้าที่ลดลงยังทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และสามารถรองรับการนำเข้าได้ 7.7 เดือน ทั้งนี้ ในปี 2016 ธนาคารโลกได้เลื่อนสถานะของกัมพูชาขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง และรัฐบาลกัมพูชามีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2026-2027

อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตราว 6.8% ในปี 2017-2018 และยังคงมีแรงสนับสนุนหลักจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยว โดยกัมพูชากำลังดำเนินการปรับปรุงเส้นทางรถไฟร่วมกับธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงพนมเปญกับสนามบินนานาชาติร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชา ในปี 2016 รายได้จากการท่องเที่ยวของกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วน 16% ของ GDP และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) ในเมืองกัมปงธมให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 3 ในกัมพูชา ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งกัมพูชาวางแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจากมรดกโลกแห่งใหม่นี้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนต่อปีภายในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านคนในปี 2016

ความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจกัมพูชาคือความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของภาคสถาบันการเงินในประเทศ กัมพูชาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักในการใช้จ่ายและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
จึงอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รวมถึงรายได้ในภาคการส่งออก โดยกัมพูชาพึ่งพาการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องนุ่งห่มในสัดส่วนที่สูงถึง 74% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2016 นอกจากนี้ ภาคการเงินในกัมพูชายังมีการขยายตัวสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มสถาบันการเงินรายย่อย (MFI) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากซึ่งกลายเป็นที่พึ่งพิงของกลุ่มคนรายได้น้อยในประเทศ ในเดือนมีนาคม ปี 2017 ธนาคารกลางแห่งกัมพูชา (NBC) จึงได้ออกมาตรการควบคุมการก่อหนี้ ผ่านการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ของMFI เป็น 18% จากเดิมที่เคยสูงถึง 20-30% ซึ่งจะทำให้ MFI พิจารณาการปล่อยกู้ยากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยหรือส่วนชดเชยความเสี่ยงที่จะเรียกเก็บจากลูกหนี้ลดลง

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงเล็กน้อย ราว 1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินเรียลเคลื่อนไหวอย่างเสรีภายใต้การจัดการของธนาคารกลางแห่งกัมพูชา ซึ่งเข้าแทรกแซงค่าเงินผ่านการเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินเรียล อย่างไรก็ดีการเคลื่อนไหวของค่าเงินเรียลส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เนื่องจากกัมพูชาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักในการดำเนินธุรกิจ

  • ในช่วง 8 เดือนแรกของปี การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกัมพูชาขยายตัว 19%YOY โดยสินค้าส่งออกหลักได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และเครื่องดื่ม การขยายตัวของชนชั้นกลางในกัมพูชาเป็นปัจจัยให้การส่งออกสินค้าจากไทยเติบโตได้ดี โดยคนกัมพูชามองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีในราคาที่เอื้อมถึงได้

  • ไทยและกัมพูชาได้ผลักดันการท่องเที่ยวร่วมกัน ผ่านแคมเปญ Two Kingdoms, One Destination โดยไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค การกระตุ้นการท่องเที่ยวในกัมพูชาจึงเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไทยไปยังกัมพูชา รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้


     

Outlook_TH_Q4_2017_CLMV.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ