SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2017

เศรษฐกิจอาเซียน 4: มาเลเซียเติบโตดีมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2020

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจมาเลเซียครึ่งปีแรก โตดีกว่าคาดด้วยอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจในไตรมาส 1 และ 2 ปี 2017 ขยายตัว 5.6%YOY และ 5.8%YOY ตามลำดับ โดยในครึ่งปีแรกการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 7%YOY เนื่องจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและมาตรการสนับสนุนรายได้ของรัฐบาล เช่นเดียวกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่กลับมาโตได้ดีเฉลี่ย 5.4%YOY ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึง 12.9%YOY ในไตรมาสแรก ก่อนชะลอตัวลงเล็กน้อยที่ 7.4%YOY ในไตรมาส 2 การสะสมทุนถาวรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7%YOY สะท้อนการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น 23%YOY โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลาง ซึ่งส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อย แม้ว่าการส่งออกจะโตได้ดีราว 20%YOY ในครึ่งปีแรก

 

อีไอซีคาดมาเลเซียโต 5.3% ในปี 2017 และชะลอตัวลงเล็กน้อยที่ 5.1% ในปี 2018 อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เพราะนอกจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแล้ว การใช้จ่ายและโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังในขณะเดียวกัน การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การเกษตร และการบริการปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในและนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์
เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 88% ของ GDP


จับตามาเลเซียก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2020 และตั้งเป้าติดอันดับ 20 ประเทศชั้นนำของโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ National Transformation 2050 วิสัยทัศน์ 2020 มีเป้าหมายผลักดันให้มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมภายในปี 2020 ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักของประเทศและการลดสัดส่วนผู้มีรายได้น้อย เหลือเพียง 0.6% ได้ในปี 2014 อันเป็นผลมาจากมาตรการ Putrajaya’s 1Malaysian People’s Aid (BR1M) ที่ให้เงินสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย 7 ล้านครัวเรือนหรือ 40% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของมาเลเซียในอีก 3 ปีข้างหน้า คือการเพิ่มรายได้ต่อหัว ให้เป็น 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10,010 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ริเริ่มวิสัยทัศน์ 2050 เพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศให้เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศชั้นนำของโลกภายในปี 2050 โดยให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชนและความชัดเจนของเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในขณะนี้ วิสัยทัศน์ 2050 กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2018

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ค่าเงินริงกิตมาเลเซียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 21 กันยายน แข็งค่า 6.6% และมีแนวโน้มคงระดับที่ 4.3 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ในขณะที่ค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับบาทไทย ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและการส่งออกจากไทยไปยังมาเลเซียเพียงเล็กน้อย และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2017

  • การส่งออกไทยไปยังมาเลเซียในช่วง 8 เดือนแรกของปีเติบโตที่ 4.1%YOY ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียขยายตัวกว่า10.1%YOY ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าการค้าไทย-มาเลเซียจะโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง โดยสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปยังมาเลเซีย ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

  • การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในมาเลเซียขยายตัวเล็กน้อยที่ 6.3%YOY และการลงทุนโดยตรงของภาคเอกชนมาเลเซียในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10.2%YOY แต่การลงทุนโดยตรงจากมาเลเซียในไทยกลับลดลงถึง 64%YOY โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการบริการ


Outlook_TH_Q4_2017_AS4.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ