SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2017

เศรษฐกิจจีน: เศรษฐกิจโตดีแม้มีแนวโน้มชะลอตัว พร้อมจับตาภาวะหนี้สูง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจจีนครึ่งปีแรกขยายตัวสูงถึง 6.9%YOY ด้วยปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศที่โตต่อเนื่องและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การค้าโลก โดยใน 2 ไตรมาสแรกของปี 2017 ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.4%YOY สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องแม้มีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อย ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐเติบโตอย่างชัดเจนและจะเพิ่มบทบาทในครึ่งปีหลัง ในส่วนของภาคการผลิตและภาคบริการยังคงเติบโตได้ดีที่ 6.4%YOY และ 8.3%YOY ตามลำดับ โดยมีผลประกอบการที่สูงขึ้นราว 18%YOY นอกจากนี้ การส่งออกปรับตัวดีขึ้นติดกันเป็นไตรมาสที่ 2 โดยโตเฉลี่ย 14.4%YOY ในครึ่งปีแรก

อีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนดีขึ้นที่ 6.8% ในปี 2017 และ 6.5% ในปี 2018 จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศที่เข้มแข็ง และผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง อัตราการว่างงานคงที่ในระดับต่ำและการส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศของรัฐบาลส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนโดยรวมเติบโตได้ดีด้วยแรงหนุนของสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคการผลิต การลดกำลังการผลิตส่วนเกินและการจัดการกับบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทคและการบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในครึ่งปีแรก จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2017 และปี 2018 ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของหนี้ภายในประเทศสูง

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนคือนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่ก่อให้เกิดการสร้างหนี้ และการรักษาเสถียรภาพ การบริโภคในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนของภาครัฐในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ก่อให้เกิดการสะสมหนี้ในประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้จีนมีสัดส่วนหนี้รวมสูงถึง 260% ของ GDP อีไอซีคาดว่าตัวเลขหนี้ในประเทศของจีนจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ S&P Global Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในระยะยาวของจีนเป็น A+ “มีเสถียรภาพ” ในเดือนกันยายน สะท้อนถึงความกังวลต่อการขยายตัวของสินเชื่อที่ร้อนแรงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ อย่างไรก็ตาม การปรับมุมมองภาคธนาคารของจีนโดย Moody’s ในเดือนกรกฎาคมจาก “เชิงลบ”เป็น “มีเสถียรภาพ” เป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลในการคุมเข้มการขยายตัวของสินเชื่อและสถาบันการเงินนอกระบบ พร้อมทั้งการสร้างเสถียรภาพในภาคธนาคาร ซึ่งจะชะลอการขยายตัวของสินเชื่อได้ในระยะกลาง

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า 6.7% YTD ในช่วง 8 เดือนแรกของปี แต่หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกในช่วงกลางเดือนกันยายน ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากความต้องการลงทุนในต่างประเทศสูง อีไอซี
    คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากจีนในไทยจะกลับมาขยายตัว

  • การค้าไทย-จีนในช่วง 8 เดือนแรกของปีขยายตัว 13.1%YOY จากการส่งออกจากไทยไปจีนโตอย่างชัดเจน 30.1%YOY โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรม ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนโตเพียง 4.2%YOY เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงตั้งแต่ต้นปี

  • การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในจีนชะลอตัวเล็กน้อยที่ 1.2%YOY ใน 7 เดือน
    แรกของปี 2017 แต่การลงทุนในอุตสาหกรรม
    และการบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น 6.8%YOY และ 16.8%YOY ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจีน (ODI) ลดลง 44.3% เช่นเดียวกับการลงทุนของจีนในไทยที่ลดลงถึง 115.3%YOY อย่างไรก็ตาม การลงทุนภายนอกประเทศภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives กลับเพิ่มขึ้น 5.7%YOY


Outlook_TH_Q4_2017_CN.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ