SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2017

เศรษฐกิจญี่ปุ่น: การบริโภคและการลงทุนดันเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีเกินคาดในไตรมาส 2 ปี 2017 ด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเศรษฐกิจขยายตัว 2.5%QOQ SAAR5 หรือ 1.4%YOY การบริโภคภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสองในสามของ GDP เติบโต 0.8%QOQ SA6 จากการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ภายในบ้าน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในส่วนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 0.5%QOQ SA และ 6%QOQ SA ตามลำดับ สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Tokyo Olympic 2020 และการบริโภคภาคครัวเรือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งปี 2017 เติบโต 1.3%

อีไอซีคาดในปี 2018 ญี่ปุ่นจะเติบโตที่ 1% โดยยังคงมีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก ทั้งจากการบริโภคครัวเรือน การลงทุนจากเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน เขตการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (JEFTA) ซึ่งเพิ่งเจรจาสำเร็จไปเมื่อเดือนกรกฎาคม จะช่วยกระตุ้นการค้า โดยเฉพาะการส่งออกอะไหล่รถยนต์ สาเก ชาเขียว และซอสถั่วเหลืองซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีในทันที อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในปี 2018 จะขยายตัวลดลงจากปี 2017 เล็กน้อย เนื่องจากแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐและเอกชนชะลอลง และภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงตามวงจรสินค้าเทคโนโลยีซึ่งผ่านจุดสูงสุดมาแล้วในช่วงกลางปี 2017

ความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น คืออัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 0.4% ฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยจากช่วงต้นปี ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อต่อไป นอกจากนี้ สัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้หางาน (job-to-applicant ratio) ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 23 ปี เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มขาดแคลนแรงงาน อันเป็นผลมาจากจำนวนประชากรวัยแรงงานที่ลดลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่ตึงตัวจะกดดันให้บริษัทญี่ปุ่นต้องปรับขึ้นค่าแรงในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป

ญี่ปุ่นเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างกะทันหัน (snap election) ปลายเดือนตุลาคมนี้ อีไอซีคาดว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน จะได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง หากพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากนโยบายปัจจุบันได้รับการสานต่อ และมีแรงสนับสนุนต่อมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และการตลาดการเงินเช่นกัน

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ค่าเงินเยน ณ วันที่ 21 กันยายน แข็งค่าขึ้น 4.6% อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปแตะที่ระดับ 114 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017 อย่างไรก็ดีสถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าหาเงินเยนซึ่งถูกมองว่าเป็น safe haven ส่งผลให้เงินเยนกลับแข็งค่าขึ้น

  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นที่ขยายตัวทำให้การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตดี ในช่วง 8 เดือนแรกของปีการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 8.6%YOY โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเติบโตสูงคือโทรศัพท์และส่วนประกอบ

  • การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มขึ้น 8%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2017 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยผลสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) เผยว่าบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย 44% วางแผนขยายการลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ การเดินทางเยือนไทยของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (METI) รวมถึงนักลงทุนญี่ปุ่นราว 600 ราย เมื่อวันที่ 11-13 กันยายนที่ผ่านมา จะช่วยเพิ่มความชัดเจนของโครงการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC

 

Outlook_TH_Q4_2017_JP.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ