SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2017

เศรษฐกิจยูโรโซน: เติบโตต่อเนื่องดีที่สุดในรอบ 6 ปี พร้อมด้วยความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 2 ปี 2017 เติบโตดีที่สุดในรอบ 6 ปีที่ 0.6%QOQ SA2 หรือ 2.3%YOY จากการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวตามการส่งออก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องที่ 57.4 ในเดือนสิงหาคมสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ที่ 9.1% ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานที่เริ่มฟื้นตัวยังไม่ส่งผ่านไปยังค่าจ้างและราคาสินค้าอย่างชัดเจนนัก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.5% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ จากการรวบรวมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 1.5%, 1.4% และ 1.6% ในปี 2017, 2018 และ 2019 ตามลำดับ3 ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ 2%  

การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2017 ยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ด้วยความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลง ผลการเลือกตั้งผู้นำเยอรมนีซึ่ง Angela Merkel ผู้สนับสนุน EU ได้รับชัยชนะตามคาด และการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่อาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้ ช่วยคลายความกังวลด้านการเมืองและเสริมความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนแตะจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ อีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2017 อยู่ที่ 1.9% จากเดิมที่ 1.6% โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญในช่วงที่เหลือของปีคือเงินยูโรที่แข็งค่าอย่างหนัก ซึ่งอาจกระทบภาคส่งออกของยูโรโซน โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างอิตาลีและฝรั่งเศส

อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2018 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 1.7% โดยมี 3 เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ซึ่งอาจก่อให้เกิดกระแส anti-establishment ได้หากพรรคที่ต่อต้าน EU ได้รับชัยชนะ 2) การเจรจา Brexit ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงปลายปี และมีแนวโน้มที่จะกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ EU และ UK โดยเฉพาะในภาคธนาคาร และ 3) การเริ่มถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ ECB ซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า ECB จะประกาศปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (QE Tapering) จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เริ่มเดือนมกราคม 2018 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในการประชุมรอบเดือนตุลาคมนี้ และอาจเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2018

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เศรษฐกิจยูโรโซนที่เติบโตโดดเด่น ด้วยความกังวลทางการเมืองที่ลดลง ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก ส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นกว่า 12.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5.6% เมื่อเทียบกับบาท4 อย่างไรก็ตาม อีไอซีคาดว่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงที่ราว 1.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในปลายปี 2017 จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และยูโรโซนที่กว้างมากขึ้น

  • การส่งออกจากไทยไปยูโรโซนขยายตัว 6.9% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี โดยเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจช่วยให้ความต้องการสินค้าจากไทยซึ่งนำโดยคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ ฟื้นตัวต่อไปได้

  • แผนงานการลงทุนของบริษัท Airbus ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2017 มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนทางตรงจากยูโรโซนสู่ไทย


2 อัตราการเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (แบบปรับฤดูกาล)
3 คาดการณ์ ณ เดือนกรกฎาคม 2017
4 อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินยูโร ณ วันที่ 21 กันยายน เทียบกับสิ้นปี 2016


Outlook_TH_Q4_2017_EU.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ