SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 กันยายน 2017

เศรษฐกิจสหรัฐฯ: เศรษฐกิจแกร่งจากตลาดแรงงาน จับตาความคืบหน้านโยบายการคลัง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 2017 เติบโตดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจขยายตัว 3.1%QOQ SAAR1 หรือขยายตัว 2.2%YOY ซึ่งสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อน นำโดยการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.7%YOY ตามการจ้างงานที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวชัดเจนขึ้นทั้งการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัว 8.3%YOY และเครื่องมือเครื่องจักร 3.1%YOY ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐไม่ขยายตัวอย่างไรก็ตาม ค่าแรงยังไม่ได้ขยายตัวชัดเจนตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2017-2018 อาจไม่สามารถพึ่งพาแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังได้เท่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยสัญญาไว้ โดยเฉพาะนโยบายการลดภาษีที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและจะช่วยดึงการลงทุนกลับไปสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องอาศัยการลดรายจ่ายของรัฐบาลในด้านอื่นๆ ซึ่งการยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ Affordable Care Act หรือ Obamacare เป็นหนึ่งในแผนการลดรายจ่ายที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่สามารถยกเลิกและทดแทนกฎหมายดังกล่าวได้สำเร็จ และประเด็นเสถียรภาพของคณะทำงานของทรัมป์จะเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อเนื่องในปี 2018 ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหันมาผลักดันนโยบายการลดภาษีอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีที่จะดำเนินการและบังคับใช้ได้สำเร็จ ทำให้คาดว่าจะยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้

อีไอซีมองว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2017 และปี 2018 ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.2% และ 2.1% ตามลำดับ ถึงแม้จะไม่มีแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลัง โดยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผ่านไปสู่การบริโภคให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและจะกดดันให้ค่าแรงค่อยๆ ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งต่อไปสู่การลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เติบโต ทั้งนี้ ปัจจัยด้านตลาดแรงงานที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นในปี 2018 ได้

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เมื่อความเชื่อมั่นต่อค่าเงินเพิ่มมากขึ้น ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ วันที่ 21 กันยายน) อ่อนค่าลงราว 11.3% จากต้นปี ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ คะแนนความนิยมของทรัมป์ที่ลดลงต่อเนื่อง และนโยบายการคลังที่ไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดทำให้เงินทุนไหลไปภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถเร่งผลักดันให้มีความคืบหน้าในนโยบายบางส่วนในช่วงปลายปีนี้ เพื่อดึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลกลับมาได้ ประกอบกับมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกหนึ่งครั้งในปลายปี จะช่วยให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มค่อยๆ กลับมาแข็งค่าขึ้น

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงกว่า 11.3% จากต้นปี มีผลให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นราว 7.7% ทั้งนี้ หากปัญหาคลี่คลายลงในช่วงปลายปี ประกอบกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง จะช่วยดึงความเชื่อมั่นและเงินทุนไหลกลับเข้าสหรัฐฯ และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ในช่วง 33.5 - 34.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017

  • การบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ประกอบกับนโยบายการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในปีนี้ ส่งสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ โดยในช่วง 8 เดือนแรกขยายตัวได้ 7.8%YOY และยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยาง

  • ตลาดแรงงานและการบริโภคที่ดีขึ้น ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐฯ เติบโตและเกิดการลงทุนต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในไทยซึ่งไตรมาสแรกเติบโตได้ 7.9%YOY ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีก และการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน


 1 การเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อน แบบปรับฤดูกาล และคิดเป็นอัตราการเติบโตรายปี (quarter-on-quarter, seasonally adjusted and annualized rate)

 

Outlook_TH_Q4_2017_US.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ