SHARE
FLASH
02 ตุลาคม 2017

ราคาพลังงานดันเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. พุ่งขึ้นที่ 0.86%YOY

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนปรับขึ้นไปที่ 0.86%YOY จาก 0.32%YOY ในเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 0.53%YOY จาก 0.46%YOY ในเดือนก่อน

ผู้เขียน: ยุวาณี อุ้ยนอง

 

Analysis.png

keypoint.jpg

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายนปรับขึ้นไปที่ 0.86%YOY จาก 0.32%YOY ในเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 0.53%YOY จาก 0.46%YOY ในเดือนก่อน


  • ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้น ได้แก่ 1) ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น 19.4%YOY จาก 11.3%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้น ประกอบกับราคา LPG ที่ปรับขึ้นหลังจากเริ่มปล่อยลอยตัวให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลกมากขึ้น โดยราคา LPG เดือนก.ย. อยู่ที่ 21.15 บาท/กก. จาก 20.49 บาท/กก. ในเดือนก่อน และ 2) ราคาอาหารสดหดตัวน้อยลงที่ -1.1%YOY จาก -3.3%YOY ในเดือนก่อน โดยเฉพาะราคาผักสดกลับมาขยายตัวได้ 4.6%YOY อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดชนิดอื่นๆ ยังฟื้นตัวได้ช้า


  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งมาจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาบุหรี่และสุราที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ส่งผลให้ราคาหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 2.1%YOY ขณะที่สินค้าที่ไม่ใช่อาหารหมวดอื่นๆ ยังค่อนข้างทรงตัว
Implication.png

886_20100622103105.gif

  • อีไอซีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปี 2017 จากราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าที่อาจปรับขึ้นจากผลกระทบของราคา LPG รวมถึงราคาบุหรี่และสุราที่ปรับขึ้นตามภาษี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4 จะขยายตัวช้าลงเมื่อเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่อาหารยังมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ ทำให้โดยรวมทั้งปี 2017 อีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 0.5%


  • แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อีไอซีมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2017 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นและการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ประกอบกับเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคส่งออกจะช่วยลดแรงกดดันในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้

EIC_Infographic_inflation_20171002.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ