SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 สิงหาคม 2017

Paris Accord: จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส?

ผู้เขียน: ถมทวี ลีฬหาล้ำเลิศ

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2017

 

iStock-174525514.jpg

 

 

“The United States will cease all implementation of the non-binding Paris Accord and the draconian financial and economic burdens the agreement imposes on our country.  This includes ending the implementation of the nationally determined contribution and, very importantly, the Green Climate Fund which is costing the United States a vast fortune.”

Donald John Trump

The  President of the United States. 

 

ที่มา : The independent , United Kingdom 1st June 2017
 

 

แถลงการณ์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อความตกลงปารีส เรียกได้ว่าพลิกความคาดหมายจากบรรดานักวิเคราะห์ที่คร่ำหวอดในวงการหลายๆ ท่าน จนกลายเป็นกระแสให้ทั้งผู้นำในภาคธุรกิจของสหรัฐฯ เอง และผู้นำชาติต่างๆ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจอย่าง จีน สหภาพยุโรป  ฝรั่งเศส ต้องออกแถลงการณ์ หรือแม้กระทั่งประชดประชันต่อการตัดสินใจครั้งนี้ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์นั้นล้วนแล้วแต่มุ่งแสดงถึงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ และกล่าวสนับสนุนให้ความร่วมมือนี้ดำเนินต่อไป แม้ปราศจากความร่วมมือของสหรัฐฯ ก็ตาม

 

Paris Accord คืออะไร


ความตกลงปารีส เป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change :UNFCCC) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน1 เป้าหมายหลักจากข้อตกลงดังกล่าว มุ่งเน้นให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกในปี  ค.ศ. 2100 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ให้มีปริมาณในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้หมด โดยทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องรายงานสถานการณ์ของประเทศตนทุกๆ 5 ปี และประเทศที่ร่ำรวยจะช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการจัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน

 

ทำไมทรัมป์ถึงตัดสินใจถอนตัวจากความตกลงปารีส


ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากความตกลงปารีสนั้น มีมาตั้งแต่สมัยที่เขาหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทัศนคติของทรัมป์ที่เชื่อว่าเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวมถึงเรื่องภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์จากการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกออกมา และการรณรงค์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ศัตรูของสหรัฐฯ ได้สร้างขึ้นเพื่อทำลายอุตสาหกรรมของประเทศ ประกอบกับนโยบาย America First ของทรัมป์ที่ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการยกเลิกข้อตกลงหรือเงินอุดหนุนในเรื่องต่างๆ ที่ทรัมป์มองว่าทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ

 

จากการเข้าร่วมความตกลงปารีส ทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานะประเทศผู้ช่วยเหลือด้านเงินทุน ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายบารัค โอบามา ได้สัญญาจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเข้า Green Climate Fund เป็นจำนวนเงินมากที่สุดถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้จ่ายเงินเข้ากองทุนดังกล่าวแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ทรัมป์เชื่อว่านอกจากเป็นการประหยัดงบประมาณจากเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวแล้วยังสามารถช่วยให้คนอเมริกันไม่ตกงานถึง 6.5 ล้านคน อันเป็นเป้าหมายหลักของนโยบาย America First ที่มุ่งเน้นการสร้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ

 

การถอนตัวออกจากความตกลงปารีสจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไร

การถอนตัวดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งทางด้านอุปสงค์ และอุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย ”สีเขียว” ต่างๆ


ด้านฝั่งอุปทานนั้น ในระยะสั้น สหรัฐฯ อาจได้รับประโยชน์จากการที่ต้นทุนสินค้ามีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ เพราะไม่ต้องลงทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อมุ่งเน้นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลกระทบ และสร้างความไม่พอใจในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจได้วางแผนและลงทุนในโครงการทางด้านพลังงานทางเลือกไว้ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล


นอกจากนี้ ในระยะยาวมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์และมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกประเมินว่า สหรัฐฯ อาจเผชิญกับสภาวะการลดลงของรายได้จากสภาพอากาศที่แปรปรวนขึ้น และอาจเสียเปรียบทางการค้าจากการถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อการนำเข้า จากประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นต้น


ด้านฝั่งอุปสงค์นั้น อีไอซีมองว่ายังคงมีความคลุมเครือ โดยอุปสงค์ในสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมอาจลดลง จากการลดความสำคัญของนโยบายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ท่าทีของกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงการเคลื่อนไหวของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้นำรัฐต่างๆ และเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีทิศทางต่อต้านการตัดสินใจของทรัมป์และเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันสานต่อข้อตกลงดังกล่าว อาจทำให้อุปสงค์ของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น

 

ท่าทีของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจอื่นๆ

แถลงการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอียู ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันข้อตกลงร่วมครั้งนี้ โดยผู้นำประเทศ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์และแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจดังกล่าว พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เดินหน้าตามความตกลงปารีสโดยไม่สนใจที่จะเปิดโต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ โดยนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาในลักษณะตำหนิการตัดสินใจของทรัมป์ในครั้งนี้ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนชาวอเมริกา หรือผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มาลงทุนและอาศัยยังประเทศฝรั่งเศส ก่อนปิดวลีเด็ดในแถลงการณ์ที่ล้อเลียนนโยบายหาเสียงของนายทรัมป์ ด้วยถ้อยคำที่ว่า “Make our planet great again” ซึ่งสื่อถึงความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ในการตัดสินใจครั้งนี้ จนเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ต


ในส่วนของท่าทียักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในขณะนี้ กลับได้รับโอกาสอันดีในการแสดงถึงความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในระดับเวทีโลก โดยนายกรัฐมนตรีประเทศจีน นายหลี่ เค่อเฉียง ได้แถลงการณ์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในการย้ำจุดยืนของจีน ที่พร้อมจะพยายามทำทุกทางในการสนับสนุนความตกลงดังกล่าว และยินดีทำงานร่วมกับทุกชาติ โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แถลงถึงแผนปฎิบัติตามข้อตกลงปารีสอย่างจริงจัง อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศจีน ต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขสภาวะดังกล่าว

 

ประเทศไทย : แล้วเราได้รับผลกระทบอย่างไร


เมื่อพิจารณาถึงปริมาณและแนวโน้มในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารโลก (World bank) พบว่าประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวเพิ่มขึ้น (รูปที่ 1) และยังไม่เห็นสัญญาณที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลง การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงการปรับโครงสร้างทางอุตสาหกรรมอันนำมาซึ่งแผนในการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีและปัจจัยอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความตกลงจึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องปฎิบัติ

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลมีภาระผูกพันในการปฎิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ทำให้จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงเทคโนโลยี และพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาในเวทีการค้าโลก เมื่อพิจารณาถึงความสามารถด้านนวัตกรรมของไทย จาก Global Competitiveness Index ที่มีส่วนของกลุ่มดัชนีย่อยในการประเมิน การพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของนวัตกรรม(รูปที่ 2) พบว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต่ำ  อีไอซีมองว่าเหตุผลดังกล่าวอาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีล่าช้าและทำให้ต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาสิ่งแวดล้อมมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าประเทศอื่นๆ จนทำให้สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทางการค้าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีสอาจถือเป็นสัญญาณอันดีสำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน และปิโตรเคมีของไทย สืบเนื่องจากช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณถึงแนวนโยบายในการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาโดยตลอด การออกจากความตกลงดังกล่าวถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า แนวนโยบายที่ได้ประกาศไว้จะเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านปิโตรเคมีไทยบางรายที่ได้มีแผนการลงทุนด้านธุรกิจปิโตรเคมีในสหรัฐฯ น่าจะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ไปลงทุนด้านการกลั่นและการขุดเจาะน้ำมันที่สหรัฐฯ จะมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบและต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่อาจมีราคาถูก อันเนื่องมาจากการสนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสำรองสูงมากที่สุดในโลก


แม้ว่าการตัดสินใจของยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดผลทั้งดีและร้ายในระยะสั้นกับประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลางอย่างเรา แต่ที่สุดแล้วการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับปรุงแนวทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเผื่อไว้ในอนาคต ถือเป็นคำตอบที่เป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังต่อไป

 

pic_01.jpg

 

 

 

pic_02.jpg

1 คำจำกัดความจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

Tags
USParis
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ