SHARE
INSIGHT
05 กันยายน 2017

ซัพพลายเชนจะปรับตัวอย่างไรเมื่อโลกเปลี่ยน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นภาพของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในโลกอย่างรวดเร็วในหลายมิติ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการสินค้าที่แตกต่าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายจากสินค้าจำเป็นมาสู่สินค้าไม่จำเป็นและใช้จ่ายในภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะหมวดไลฟ์สไตล์ เช่น ท่องเที่ยว และบันเทิง รวมถึงเทรนด์การใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล (health) ที่มีแนวโน้มเติบโตควบคู่กับความต้องการการกินดีอยู่ดี (wellness) ทั้งนี้ นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว เทรนด์การบริโภคที่น่าจับตามองคือ ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความแตกต่าง ความมีเอกลักษณ์ ต้องการสินค้าและบริการที่สามารถปรับแต่งตามความต้องการได้เอง (personalization) และต้องการเสพประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องนำไปสู่การที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กับความต้องการดังกล่าว

insight_supplychain_cover_final1-01.jpg

 

เรื่องในเล่ม

  • บทสรุปผู้บริหาร
  • บทที่ 1: ก้าวตามผู้บริโภคให้ทัน
  • บทที่ 2: จับตานวัตกรรมที่จะพลิกโฉมธุรกิจ
  • บทส่งท้าย

 

ดาวน์โหลดเอกสารภาษาไทยเพื่ออ่านต่อฉบับเต็ม

 

 

 

ในทศวรรษที่ผ่านมาผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างมากจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยผู้บริโภคกว่า 1.8 พันล้านคนค้นหาข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการจากรีวิวบนโซเชียลมีเดียประกอบการตัดสินใจซื้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการและความคาดหวังจากธุรกิจที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อยๆ อีไอซีมองว่าเทรนด์การดำเนินธุรกิจในซัพพลายเชนที่เปลี่ยนไปจากความต้องการของผู้บริโภคและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้ธุรกิจในซัพพลายเชนต้องติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโมเดลธุรกิจอย่างใกล้ชิดกว่าในอดีต เพื่อเล็งเห็นเทรนด์ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

 

ธุรกิจในซัพพลายเชนต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการต่อรองและมีทางเลือกมากขึ้น โดยอีไอซีนำเสนอกลยุทธ์ 3C ดังนี้

 

1.collaborate - ความต้องการสินค้าใหม่ๆ ของผู้บริโภคทำให้ธุรกิจในซัพพลายเชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผู้ประกอบการควรเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคและสื่อสารความต้องการนั้นไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

 

Infographic_Insight_Supplychain_3Dprinting-01.jpg

 

 

2.customize - ธุรกิจต้องเข้าใจว่าการปรับแต่งสินค้าในส่วนใดจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้มากที่สุดซึ่งรวมถึงบริการที่แต่ละคนชอบแตกต่างกันไป และต่อยอดข้อมูลที่ได้จากการสั่งซื้อของลูกค้ามาช่วยวิเคราะห์การพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อสอดคล้องกับเทรนด์ customization หรือช่วยบริหารซัพพลายเชนเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

3.control - ธุรกิจต้องติดตามและใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อจะได้เข้าใจถึงความคาดหวังของผู้บริโภคในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเร่งพัฒนาการดำเนินงานให้ได้ตามมาตรฐานสากลเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในซัพพลายเชนของโลกได้

 

นวัตกรรมทางสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าใหม่หรือสินค้าที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพจากสินค้ารุ่นเดิมก็จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนนั้นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่ต้องติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มและการนำเสนอสินค้าในรูปแบบการบริการ ที่กำลังเป็นเทรนด์ที่เติบโตเร็วในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมใกล้เคียงด้วย เนื่องจากโมเดลธุรกิจเหล่านี้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยการนำเสนอการบริการที่แตกต่างไปจากธุรกิจเดิมๆ ส่งผลให้ความสำคัญของธุรกิจบางกลุ่มในซัพพลายเชนถูกลดทอนลงไปอย่างเห็นได้ชัด เช่นธุรกิจ trading ที่โดนคุกคามจากออนไลน์แพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจ (B2B) อย่าง Alibaba เป็นต้น ดังนั้นธุรกิจในซัพพลายเชนต้องเตรียมพร้อมและยกระดับสินค้าให้ทันนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้หลุดออกจากซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม การติดตามนวัตกรรมอยู่เสมอจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจด้วยในการต่อยอด อิงกระแส และนำนวัตกรรมนั้นมาใช้ก่อนคู่แข่งเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

ธุรกิจไทยจะก้าวเข้าสู่ซัพพลายเชนใหม่นี้ได้อย่างไร? ความเข้าใจในเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นก้าวแรกของการพัฒนาแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงในซัพพลายเชน อีไอซีแนะ 3 ข้อควรคำนึงถึงในการจัดการธุรกิจในขณะที่ซัพพลายเชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 1) วางแผนการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2) ลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างของธุรกิจ และ 3) พัฒนาความยืดหยุ่นในซัพพลายเชน ทั้งนี้ธุรกิจมีโอกาสได้รับประโยชน์และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ๆ ที่เกิดจากความต้องการใหม่ของผู้บริโภค ยังรวมถึงประโยชน์จากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การลดต้นทุน การบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานและการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ