FLASH
16 สิงหาคม 2017

กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยว

กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยว

ผู้เขียน: พิมพ์นิภา บัวแสง

 

Analysis.png

keypoint.jpg

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 16 สิงหาคม 2017


  • กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวครอบคลุมในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างเติบโตชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก


  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ทั้งนี้ กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆ


  • เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนับจากต้นปี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจทำให้แผนปฏิรูปภาษีล่าช้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น ทั้งนี้ กนง. มองว่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคอาจกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจ และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด


  • กนง. มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

Implication.png

886_20100622103105.gif

อีไอซีคาด กนง. คงดอกเบี้ยตลอดปี 2017

  • อีไอซีคาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2017 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง การลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้า และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด โดยอีไอซีมองว่าความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีน้อย แม้คาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1.0%-4.0% เนื่องจาก กนง. มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินตัว

 

ตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท. เทียบกับการประชุมครั้งก่อน 

 

หัวข้อ

การประชุมครั้งก่อน
(5 ก.ค. 2017)

การประชุมครั้งนี้
(16 ส.ค. 2017)

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวมากขึ้นและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็ว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้ภาคเกษตร แต่รายได้แรงงานภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีชัดเจนจากการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์แรงงานต่างด้าว

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวครอบคลุมในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญ การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

สถานการณ์เงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง จากผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อนทำให้ราคาลดลง และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆ

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

2. นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. สถานการณ์แรงงานต่างด้าว

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

2. แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคอาจกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจ

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

เหตุผลของกนง.

นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร

นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร

 

EIC_Infographic_policy_rate_20170816.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ