SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 กันยายน 2017

Circular Economy: พลิกวิกฤติทรัพยากรด้วยระบบเศรษฐกิจใหม่

ผู้เขียน: ปางอุบล อำนวยสิทธิ์

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกันยายน 2017

 

 

iStock-637554944.jpg

 

 

“At some point this century, all economies will be circular. There will be no ‘resource-unwise' economies and the only successful businesses will be highly resource efficient.”

Scottish Environment Protection Agency’s Chief Executive Terry A’Hearn

ที่มา: Scottish Business News Network, July 10, 2017

 

 

Circular Economy คืออะไร?

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม ทำให้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ถูกกล่าวถึงอีกครั้งจากทั้งองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาล และกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ เนื่องจาก Circular Economy ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) และสนับสนุนการใช้ซ้ำ (reuse) ซึ่งต่างจาก Linear Economy ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำไรของระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงนำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Package) มาใช้ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิกในการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และบริษัท Accenture ยังได้คาดการณ์ว่าระบบเศรษฐกิจแบบใหม่จะทำให้เกิด Circular Advantage จากโมเดลทางธุรกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมการผลิตและบริโภคที่ล้ำสมัย ทั้งในกระบวนการผลิต การกระจายสินค้าและบริการ และการจัดการขยะและของเสีย และจะสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030


ทั้งนี้ แนวคิด Circular Economy ตั้งอยู่บนหลักการ 3 ข้อ ได้แก่

1) การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ

2) การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ 

3) การรักษาประสิทธิภาพของระบบด้วยการระบุและลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุด

หลักการทั้ง 3 ข้อ ทำให้เกิดลักษณะสำคัญของ Circular Economy คือ การทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีขยะ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานหมุนเวียน การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการที่ราคาสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยเมื่อวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต (manufacturing) และกระจายไปยังผู้บริโภคแล้ว (distribution) สิ่งที่เหลือจากการบริโภค (use and disposal) จะถูกนำกลับไปจัดสรรใหม่ (reuse/redistribution) หรือนำกลับสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง (re-manufacturing/Recycle) เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้เป็น Linear Economy ตลอดเวลา การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่สามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการผลิตไปเป็นการบริการที่อาศัยเทคโนโลยี ดังนั้น Circular Economy จึงไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป

 

ทำไมต้องเปลี่ยนไปสู่ Circular Economy และใครคือประเทศผู้นำ?

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงด้านอุปทาน ทำให้หลายประเทศเชื่อว่า Circular Economy จะสามารถแก้วิกฤตการขาดแคลนทรัพยากรที่กำลังเกิดขึ้นได้ โดยเมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2017 ได้มีการจัดงาน World Circular Economy Forum ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และมีผู้เข้าร่วมมากว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางในการเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนไปสู่ Circular Economy ได้แก่ 

 


                             
germany.jpg                                                                                                          
เริ่มใช้ The German Closed Substance Cycle and Waste Management Act เมื่อปี 1996 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้าน Circular Economy Policy ในช่วงปี 2000 ทำให้เยอรมนีสามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ได้ถึง 14% และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านยูโร ในปี 2016


japan.jpg


เริ่มใช้ The Promotion of Effective Utilization of Resources Law เมื่อปี 2000 ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการจัดการของเสีย โดยมีขยะจากการผลิตและบริโภค ที่ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่เพียง 5% ความสำเร็จของญี่ปุ่นมาจากการที่รัฐบาลสร้างรากฐานการจัดการของเสียอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค การเก็บค่าจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ตอนซื้อ และการบังคับให้เอกชนเป็นเจ้าของร่วมในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย

china.jpg

เริ่มมีการกล่าวถึง Circular Economy เมื่อปี 1996 เพื่อช่วยในการควบคุมมลพิษ จนกระทั้งปี 2008 ได้มีการประกาศใช้ Circular Economy Law of the People’s Republic of China แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน และขาดความร่วมมือจากประชาชน นำไปสู่การกำหนด Circular Economy Development Strategy and the Recent Action Plan ในปี 2013 ที่เน้นเรื่อง clean production eco-industrial park และ eco-cities โดยรัฐบาลกลางเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน

 

 

อุปสรรคของการเปลี่ยนเป็น Circular Economy คืออะไร?

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ Circular Economy ด้วยความหวังที่จะแก้วิกฤตทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ อาจไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากอาจพบอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ได้แก่ 1) พฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่นิยมบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้ามือสอง 2) ต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตที่สูงและความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ 3) อุปทานของพลังงานสะอาดที่มีไม่เพียงพอ และ 4) ศักยภาพของแรงงานฝีมือยังไม่ทัดเทียมเทคโนโลยีการผลิตที่รุดหน้า

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ต้องการความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ (top down) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค (bottom up) นอกจากนี้ ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้

 

ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ประเทศไทยได้มีการเตรียมตัวเพื่อตอบรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อตกลง ASEAN-UN Plan of Action 2016-2020 ด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Circular Economy เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้น ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ และพัฒนาแรงงานให้เท่าทันเทคโนโลยีการผลิตที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Circular Economy และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ การปรับกระบวนการผลิตให้ทันสมัย การพัฒนานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และการเพิ่มมูลค่าให้ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ถึงแม้ว่า ความตื่นตัวในเรื่อง Circular Economy ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในภาคธุรกิจของไทย แต่หลายบริษัทก็เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต และการจัดทำโครงการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการอนุรักษ์พลังงานของโรงงาน ทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 501.58 ล้านบาท ในปี 2557 และ โครงการจัดการน้ำเพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการนำน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้ใหม่ถึง 35.5% ในปี 2558 เป็นต้น

การปรับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ Circular Economy โดยควรปรับพฤติกรรมไปเน้นการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจ พร้อมปลูกฝังให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์และประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

โอกาสที่ประเทศไทยจะได้จาก Circular Economy

นอกจากผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ประเทศไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึงพาเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการจัดการขยะ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สำหรับภาคธุรกิจ กระบวนการผลิตภายใต้แนวคิด Circular Economy จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากเทคโนโลยีที่ใช้วัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังมาพร้อมกับโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจการให้บริการด้านการขนส่งและกระจายสินค้า ธุรกิจรีไซเคิลขยะคุณภาพสูง ธุรกิจ Re-manufacturing ธุรกิจ Biofuel ธุรกิจแบบ Sharing platform และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เป็นต้น สำหรับประชาชนจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจาก Circular Economy ทั้งในด้านความพึงพอใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านตัวเลือกในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น จากการที่ต้นทุนในการบริโภคสินค้าและบริการลดลง

ถ้าหากประเทศไทยนำรูปแบบ Circular Economy มาปรับใช้ภายในประเทศ ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจนี้ และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ให้ความร่วมมือ ประเทศไทยก็จะเดินหน้าเข้าสู่การดำเนินเศรษฐกิจในรูปแบบดังกล่าวได้อย่างมั่นคง

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ