SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

เศรษฐกิจ CLMV: โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ความหวังของเศรษฐกิจลาว

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจลาวเติบโต 6.9 % ในปี 2016 ด้วยแรงสนับสนุนจากภายในประเทศ ในปี 2016 ภาคอุตสาหกรรมยังคงโตได้ดีที่ 8% จากการผลิตและส่งออกกระแสไฟฟ้า ผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% ตามสภาพอากาศที่ดีขึ้น ด้านรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงถึง 9.5% เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกและชาวตะวันตกซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายพักอยู่ในประเทศนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ภาคบริการขยายตัว 9% การส่งออกและนำเข้าขยายตัวที่ 12.3% และ 6.7% ตามลำดับ ส่งผลให้การขาดดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงคือสามารถรองรับการนำเข้าได้ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น

ในปี 2017 เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวต่อเนื่องราว 6.8 % โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำและการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน รวมถึงการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งการไหลเข้าของ FDI จะส่งผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์พุ่งสูงขึ้น และเพิ่มการขาดดุลการค้าขึ้นเป็น 19% ของ GDP ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวยังคงโตได้ดี เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็น 2.3% ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ความเสี่ยงของลาวยังคงเป็นเรื่องหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะสูงถึง 69% ของ GDP ในปีนี้ โดยอยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศถึง 56% ของ GDP ซึ่งอาจทำให้ลาวเผชิญความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวมีความพยายามที่จะบริหารจัดการหนี้สาธารณะด้วยการควบคุมรายจ่ายภาครัฐ และปฏิรูปโครงสร้างภาษี

แผนยุทธศาสตร์ปี 2020 ของวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Électricité du Laos: EDL) ตั้งเป้าโรงงานไฟฟ้า 90 แห่งทั่วประเทศ รองรับการเป็น “แหล่งพลังงานแห่งอาเซียน” หรือ “Battery of ASEAN” โดย EDL กำลังเร่งพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าอีก 48 โครงการ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 43 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน 3 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอีก 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้ทั่วประเทศมีกำลังติดตั้งรวมทั้งสิ้น 25,000 เมกะวัตต์และมีเป้าหมายส่งออก 9,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2020 ตามข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับไทย ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producers: IPPs) ในลาวโดยไม่ผ่าน EDL ทำให้รัฐบาลลาวสูญเสียรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าบางส่วนไป ดังนั้น EDL จึงเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเป็นผู้รับซื้อรายเดียวและเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั้งหมดในลาว ซึ่งรายได้จากการขายและส่งออกไฟฟ้าของลาวผ่าน EDL ในอนาคตจะสามารถช่วยลดปัญหาการขาดดุลการคลังได้

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ในปี 2016 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปลาวลดลง 5.7% ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากลาวเพิ่มขึ้นถึง 28% โดยอีไอซีคาดว่าการค้าระหว่างไทย-ลาวจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2017 ทั้งการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักรและสินค้าอุตสาหกรรมจากไทยไปลาวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวที่มีสัดส่วนสูงถึง 60% ของการนำเข้าสินค้าลาวทั้งหมด

  • การลงทุนโดยตรงจากไทยในลาวเพิ่มขึ้น 37% ในปี 2016 โดยมีการลงทุนในโรงงานการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นสัดส่วนสำคัญ

  • กฎหมายสนับสนุนการลงทุนฉบับใหม่ของลาวที่มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนมากขึ้นและกำหนดอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนไว้อย่างชัดเจน โดยธุรกิจจะได้รับการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลา 4 – 10 ปี และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ ตามเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจไทย
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ