SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

เศรษฐกิจจีน: เติบโตดีต่อเนื่องจากแรงส่งภาครัฐและการบริโภค แม้มีความเสี่ยงจากภาระหนี้สูง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส1 ปี 2017 เติบโตดีจากการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดย GDP ขยายตัวที่ 6.9%YOY เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 6.5% เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามแผนส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐบาลและเอกชนที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2015 นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังแข็งแกร่ง เห็นได้จากยอดค้าปลีกในไตรมาสแรกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.9%YOY จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศที่เติบโตด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวที่ 8.9%YOY โดยเฉพาะการส่งออกไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ หลังจากความกังวลต่อการถูกกีดกันการค้ากับสหรัฐฯ ผ่อนคลายลง

 

อีไอซีมองเศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ 6.6% ในปี 2017 จากแรงหนุนของนโยบายกระตุ้นการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและการบริโภคในประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและส่งเสริมภาคบริการของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการบริโภคในประเทศได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ อัตราการว่างงานต่ำและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ แต่ยังคงต้องลดกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เหล็กและถ่านหิน ลดยอดคงค้างอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ และควบคุมภาระหนี้ในประเทศด้วยการคุมการให้สินเชื่อและการลดการก่อหนี้ (deleveraging)

 

ประเด็นหนี้ในประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง แต่คาดว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมได้ ล่าสุดการที่ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้รัฐบาลสกุลเงินหยวนและสกุลต่างประเทศของจีนลงจาก Aa3 เป็น A1 แสดงถึงความกังวลต่อสัดส่วนหนี้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 257.6% ของ GDP ในปี 2016 ทั้งนี้ มาตรการควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อเบื้องต้น ได้แก่ 1) PBOC ใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารระยะสั้นและกลาง เพื่อลดการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจที่รัฐต้องการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน แต่อาจเพิ่มภาระหนี้แก่ลูกหนี้ปัจจุบันของสถาบันการเงินได้ และ 2) การร่างเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารนอกระบบ (shadow banking) ซึ่งเป็นช่องทางการลงทุนและกู้ยืมของธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อีไอซีคาดว่าในระยะยาว มาตรการของภาครัฐจะสามารถช่วยชะลอการขยายตัวของสินเชื่อ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงินจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ค่าเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ 2.5% เทียบกับสิ้นปี 2016 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับค่าเงินอื่นในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทไทย ทำให้ผลกระทบต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวต่อไทยจะมีแนวโน้มอยู่ในวงจำกัด

  • การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ของใช้ส่วนตัว ยารักษาโรค เครื่องแต่งกาย และของเล่นเด็ก เพิ่มขึ้นตามลำดับ เป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยด้านการส่งออกสินค้าในประเภทดังกล่าว นอกจากนี้ แผนส่งเสริมการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนตามยุทธศาสตร์ Made in China 2025 อาจเป็นผลดีต่อสินค้าส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้ารวม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

  • ภาพรวมด้านการลงทุนทางตรง (FDI) จากจีนยังทรงตัว โดยปรับลดลงเล็กน้อยในอุตสาหกรรมการผลิตยางและพลาสติกและการก่อสร้าง ในขณะเดียวกัน FDI
    มีแนวโน้มขยายตัวในอุตสาหกรรมขายและซ่อมบำรุงรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ รวมถึงการผลิตไฟฟ้า ก๊าซ และระบบระบายอากาศ
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ